ประเพณีการทำบุญที่เกี่ยวกับข้าว ตามความเชื่อของคนไทยมีอยู่ด้วยกันหลายอย่าง ซึ่งอีกหนึ่งประเพณีที่มีการปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงปัจจุบันคือ ประเพณีการทำบุญคูณลาน โดยการทำบุญคูณลานนั้น เป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับข้าวและชาวนาอย่างไร วันนี้เรามีเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเพณีดังกล่าวมาเล่าสู่กันฟังค่ะ
ประเพณีบุญคูณลาน คืออะไร
บุญคูณลาน เป็นประเพณีการทำบุญเพื่อรับขวัญข้าว ซึ่งคูณลานหมายถึง การเพิ่มเข้า หรือทำให้มากขึ้น โดย “ลาน” ในภาษาอีสานหมายถึง สถานที่ที่ใช้ในการนวดข้าว เมื่อนวดข้าวเสร็จแล้วจะมีการนำข้าวมากองให้สูงขึ้น เรียกว่าการคูณลาน ซึ่งจะทำกันในเดือนยี่ คนไทยจึงเรียกอีกอย่างว่าเป็นบุญเดือนยี่ โดยเมื่อนวดข้าวเสร็จแล้วจะมีการจัดบุญคูณลานขึ้น ก่อนที่จะหาบข้าวขึ้นยุ้งฉาง ก็จะมีการทำบุญเพื่อสร้างความเป็นมงคลและมั่งมีสืบต่อไป
นิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธีเจริญพุทธมนต์
เมื่อถึงเดือนยี่หลังจากที่เก็บเกี่ยวแล้ว ให้นิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ เพื่อทำบุญคูณข้าว โดยจะมีการจัดเตรียมหาไม้มาทำฟืนเพื่อเตรียมทำกับข้าว ประกอบอาหารสำหรับการถวายพระ และเลี้ยงคนในงานบุญ ซึ่งเป็นสิ่งที่ปฏิบัติสืบต่อกันมานานกระทั่งถึงปัจจุบัน
ไปเอาหลัวก่อนถึงวันงานบุญคูณลาน
ตามคติความเชื่อของคนอีสาน ก่อนที่จะถึงวันงานให้ไปเอาหลัว คือการไปหาฟืนเพื่อใช้ในการหุงต้มทำอาหาร ซึ่งเป็นประเพณีและวิถีชีวิตของคนอีสานอยู่แล้ว ดังนั้นในวันหนึ่งของเดือนยี่ จะมีการไปเอาหลัวเพื่อไม่ให้ลำบากในการหาฟืนเป็นครั้งคราว จึงใช้เวลาวันนั้นของเดือนยี่หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว จะมีการเข้าป่าเก็บหลัวเก็บฟืนเพื่อเอาไว้ใช้ตลอดทั้งปี โดยความหมายของคำว่าหลัว หากแปลจริงๆ แล้ว จะหมายถึง ไม้ไผ่ที่ตายแล้วเอามาทำฟืน ส่วนฟืนจะหมายถึงแก่นของไม้ทุกชนิด เพื่อนำมาเผาถ่านไว้ใช้ในงาน หลังจากที่ชาวบ้านเตรียมฟืนเรียบร้อยแล้ว จากนั้นจึงมากำหนดวันที่จะทำบุญคูณลานหรือการทำขวัญข้าว
บุญคูณลานกับความเกี่ยวข้องในพระธรรมบท
ตามพระธรรมบททางพระพุทธศาสนา เมื่อครั้งในยุคศาสนาของพระมหากัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า มีชายสองพี่น้องซึ่งทำนาในที่เดียวกัน เมื่อระยะที่ข้าวเป็นน้ำนม น้องชายจะชวนพี่ชายทำข้าวมธุปายาสไปถวายพระสงฆ์ ซึ่งหมายถึงพระพุทธเจ้าด้วย แต่ได้รับการปฏิเสธจากผู้เป็นพี่ชาย จึงมีการตกลงกันเพื่อแบ่งที่นาให้เป็นคนละส่วน เมื่อแบ่งที่นากันแล้ว น้องชายก็มีการถวายทานตามศรัทธาของเขาเองจำนวน 9 ครั้ง
โดยเมื่อเวลาที่ข้าวเป็นน้ำนมมธุปายาสคือ จะมีการกวนยาคูถวายพระ 1 เวลา พอถึงระยะที่ข้าวพอเม่า 1 เวลา ในลาน 1 เวลา เมื่อทำลอมอีก 1 เวลา และสุดท้ายเวลาเก็บขึ้นยุ้งฉางอีก 1 เวลา แล้วตั้งอธิษฐานว่าให้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในอนาคตกาล เมื่อล่วงเลยมาถึงกาลสมัยของพระสมณโคดมพระพุทธเจ้า ชายคนน้องนี้ก็ได้เกิดมาเป็นบุตรของพราหมณ์ มีชื่อว่าอัญญาโกณฑัญญะ ซึ่งเป็นผู้ออกบวชและได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุเป็นพระอรหันต์ ทูลขอบวชจากพระพุทธเจ้า กลายเป็นพระสงฆ์รูปแรกของพระพุทธศาสนา ในกาลสมัยของสมณโคดมพระพุทธเจ้า
พี่ชายปรารถนาเพียงอริยบุคคล
ชายผู้เป็นพี่ไม่ได้ถวายทานครบ 9 ครั้ง ซึ่งได้ถวายเพียงครั้งเดียว คือในเวลาทำนาเสร็จ โดยได้ตั้งอธิษฐานว่าขอให้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลในอนาคต เมื่อถึงกาลพระสมณโคดมพระพุทธเจ้า ได้มาเกิดเป็นสุภัททปริพาชก ซึ่งเป็นผู้ที่เข้าไปทูลถามพระพุทธเจ้า ด้วยความสงสัยเมื่อครั้งปัจฉิมโพธิกาล ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระพุทธเจ้าจึงแสดงพระเทศนาให้ฟัง
กระทั่งฟังจบแล้วจึงได้ดวงตาเห็นธรรม และได้เป็นพระอนาคามีผล ซึ่งถือว่าเป็นอริยบุคคลองค์สุดท้ายในพระพุทธศาสนา จึงย้อนกลับไปเห็นว่าตนเองเคยทำบุญให้ทานมาน้อย จึงได้รับผลของบุญเท่านี้ ชาวนาทั้งหลายจึงทราบถึงอานิสงส์เช่นนั้น จึงนิยมทำบุญให้ทานข้าวในนา และปฏิบัติสืบต่อเป็นประเพณีของชาวอีสานสืบต่อกันมา
ทำพิธีย้ายแม่ธรณีออกจากลานก่อน
การทำบุญคูณลานนั้น ไม่ได้กำหนดวันที่ตรงกัน ขอให้ตรงกับเดือนยี่ ขึ้นอยู่ที่ว่าจะทำการเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จเมื่อใด โดยถือเอาวันที่จะเก็บข้าวขึ้นบนยุ้งฉาง เป็นวันทำบุญคูณลาน โดยจัดพิธีทำบุญกันที่ทุ่งนา ซึ่งก่อนที่จะทำการนวดข้าว ให้ทำพิธีย้ายพระแม่ธรณีออกจากลานก่อน และทำพิธีบอกกล่าวพระแม่โพสพด้วย โดยต้องจัดเตรียมสิ่งที่ต้องใช้ในการทำพิธี ได้แก่ 1.ใบคูณ ใบยอ อย่างละ 7 ใบ 2.เขาควายหรือเขาวัว 1 คู่ 3.ไข่ 1 ฟอง 4.มัน 1 หัว 5.เผือก 1 หัว 6.ยาสูบ 4 มวน 7.หมาก 4 คำ 8.ข้าวต้ม 1 มัด 9.น้ำ 1 ขัน 10.ขัน 5 ดอกไม้ ธูปเทียน
การอธิษฐานบอกกล่าวพระแม่โพสพ
เมื่อเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ พร้อมแล้ว ให้นำมาบรรจุลงในกล่องข้าวใหญ่ ยกเว้นน้ำกับเขาควาย ที่เรียกว่า ขวัญข้าว เพื่อเตรียมเชิญพระแม่ธรณีออกจากลาน และเป็นการบอกกล่าวพระแม่โพสพ จากนั้นให้นำก่องข้าว เขาควาย ไม้นวดข้าว 1 คู่ ไม้สน 1 อัน คันหลาว 1 อัน มัดข้าว 1 มัด ขัดตาแหลว 1 อัน ไปวางไว้ที่หน้ากองข้าว ต่อจากนั้นให้อธิษฐานว่า ขอเชิญแม่ธรณีได้ย้ายออกจากลานข้าว และพระแม่โพสพอย่าตกใจไป เพราะลูกหลานจะทำการนวดข้าว และเหยียบย่ำข้าว ขออย่าได้โกรธเคืองและอย่าให้เป็นบาปเลย
การทำพิธีบายศรีสู่ขวัญข้าว
เมื่ออธิษฐานแล้วก็ดึงข้าวที่ฐานลอมข้าวหรือกองข้าว ออกมานวดก่อนแล้วเอาฟ่อนฟางข้าวที่นวดแล้ว ห่อหุ้มก่องข้าวมัดติดกัน แล้วเอาไม้คันหลาวเสียบฟาง และใช้ตาแหลวผูกติดกับข้าว ที่เกี่ยวมาจากนาตาแฮกหรือตาแรกเข้าไปด้วย จากนั้นจึงนำไปปักไว้ที่ลอมข้าวเป็นอันเสร็จพิธี ต่อไปให้ลงมือนวดข้าวต่อได้เลย เมื่อนวดเสร็จก็กองให้สวยงาม ก่อนที่จะทำพิธีบายศรีสู่ขวัญข้าว โดยนำต้นกล้วย ต้นอ้อย และตาแหลวไปปักไว้ทั้งสี่มุมของกองข้าว และย้ายตาแหลวกับขวัญข้าวไปไว้ที่ยอดกองข้าว จากนั้นพันด้วยด้ายสายสิญจน์รอบกองข้าว แล้วโยงมายังพระพุทธรูป
ชาวบ้านต่างมีส่วนร่วมในบุญคูณลาน
เมื่อมีการกำหนดวันบุญคูณลานแล้ว จะมีการบอกกล่าวญาติพี่น้องให้มาร่วมทำบุญในวันรวม โดยมีการนิมนต์พระสงฆ์มาจำนวน 5 รูป เพื่อให้มาเจริญพระพุทธมนต์ที่ลานข้าว ซึ่งชาวบ้านจะช่วยกันจัดโต๊ะหมู่บูชา พร้อมด้วยดอกไม้ธูปเทียน มีการขึงสายสิญจน์รอบกองข้าวโยงมายังพระพุทธรูป และชาวบ้านทั้งหลายมาร่วมกันฟังบทเจริญพระพุทธมนต์ และฟังพระธรรมเทศนา 1 กัณฑ์ เมื่อถึงกลางคืนมีมหรสพต่างๆ รวมทั้งมีการละเล่นของหนุ่มสาวและชาวบ้านกระทั่งถึงตอนรุ่งเช้า
พระสงฆ์ประพรมน้ำพระพุทธมนต์
ในตอนเช้าจะมีการถวายอาหารบิณฑบาต เสร็จแล้วพระสงฆ์จะประพรมน้ำพระพุทธมนต์ให้ ซึ่งน้ำมนต์ที่เหลือนั้น เจ้าของนาสามารถเอาไปรดผืนนาได้ เพราะเชื่อว่าการรดน้ำพระพุทธมนต์ลงไปในนาข้าว จะทำให้ปีต่อไปข้าวในนางอกงามอุดมสมบูรณ์ ไม่มีโรคหรือนกหนูมากัดทำลาย รวมทั้งถ้านำไปรดโคกระบือ จะทำให้โคกระบืออยู่เย็นเป็นสุข ไม่มีโรคภัย แล้วจึงอุทิศส่วนกุศลให้กับเทวดาทั้งหลาย และญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว เมื่อท่านได้รับส่วนบุญนั้นแล้ว จะได้อวยชัยให้ฝนตกตามฤดูกาล และข้าวในนาจะได้เจริญงอกงาม
พิธีการสู่ขวัญยุ้งฉางก่อนนำข้าวขึ้นไปเก็บ
หลังจากที่ทำบุญอุทิศให้เทวดาและญาติผู้ล่วงลับแล้ว ชาวบ้านจะมาทำพิธีสู่ขวัญเล้าหรือยุ้งฉาง เมื่อขนข้าวจากลานมาขึ้นบนยุ้งฉางเรียบร้อยแล้ว ซึ่งการสู่ขวัญทำโดยง่ายๆ ไม่มีพิธียุ่งยาก โดยเจ้าของยุ้งฉางกำหนดพิธีสู่ขวัญแล้ว จะจัดพานบายศรี ซึ่งมีดอกไม้ ธูปเทียน อาหารคาวหวาน จากนั้นเชิญให้ผู้เฒ่าผู้แก่ที่รู้คำอวยชัย มาอ่านคำประกาศอวยชัยให้พรและพิธีสู่ขวัญก็เสร็จ จากนั้นชาวบ้านก็จัดเลี้ยงอาหารกัน เมื่อทานอาหารร่วมกันเสร็จแล้ว ก็ถือว่าเป้นนอันเสร็จการทำบุญคูณลาน
การเลือนหายไปของประเพณีบุญคูณลาน
ปัจจุบันนี้บุญคูณลานค่อยๆ หายไปจากสังคมไทย เนื่องจากไม่มีผู้สนใจปฏิบัติกัน อีกทั้งสมัยนี้ไม่มีลานสำหรับนวดข้าวเหมือนสมัยก่อนแล้ว เมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จก็มัดเป็นฟ่อน เพื่อเตรียมขึ้นรถสีข้าว แล้วกรอกใส่กระสอบทันที จึงไม่มีการนวดข้าวเหมือนสมัยก่อน อย่างไรก็ตามในบางหมู่บ้าน ยังมีการนำข้าวเปลือกมากองรวมกัน เรียกว่าการทำบุญกุ้มข้าวใหญ่ ซึ่งถือว่าเป็นการเรียกแทนคำว่าบุญคุณลาน การทำบุญคูณลานนั้น เป็นประเพณีที่น่าสืบทอด ให้ตกไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน แต่สมัยนี้มีกลับมีน้อยลง เพราะเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่แรงงานของคน ทำให้การนวดข้าวเหมือนสมัยก่อนไม่ค่อยมีแล้ว ส่งผลให้การทำบุญคูณลานค่อยๆ หายไปจากสังคมไทย ต่อไปในอนาคตคงเหลือไว้เพียงชื่อของประเพณีคูณลาน ซึ่งคนรุ่นหลังคงไม่มีโอกาส เห็นว่าการทำบุญคูณลานทำอย่างไร