เห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ โปรดแชร์....
การขึ้นบ้านใหม่ เหมือนการเริ่มต้นสิ่งใหม่ นั่นคือบ้านที่อยู่อาศัย คนไทยนิยมนิมนต์พระมาที่บ้าน เพื่อที่จะได้ทำบุญ ถวายทาน สมาทานศีล ฟังพระเจริญพระพุทธมนต์ เป็นมงคลแก่ชีวิตของผู้อยู่อาศัยและสถานที่นั้น ๆ ด้วย
พิธีการทำบุญขึ้นบ้านใหม่
แต่เดิมนั้นนิยมนิมนต์พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ในตอนเย็น พอรุ่งขึ้นจึงนิมนต์พระมาที่บ้านอีกครั้ง เพื่อให้เจ้าของบ้านได้ทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหารเช้า ซึ่งประเพณีนี้ต่างจังหวัดบางพื้นที่ยังทำอยู่ แต่ปัจจุบันนี้ชีวิตคนในเมืองนิยมนิมนต์พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์แล้วทำการถวายเพลเสร็จในวันเดียวกัน หากพื้นที่ไหน ไม่มีพระสงฆ์ ก่อนเข้าไปอยู่อาศัยในบ้านหลังนั้น ควรอัญเชิญพระพุทธรูปเข้าก่อน โดยให้ผู้เป็นอาวุโสในบ้านอัญเชิญ (อุ้มพระ) เข้าไปในบ้าน
ขั้นตอนการปฏิบัติในการทำบุญขึ้นบ้านใหม่
- นิมนต์พระสงฆ์ก่อนถึงวันทำบุญ 1-7 วัน จำนวน 5-7-9 รูป นี่คือนิยม จริง ๆ จะกี่รูปก็ได้ เป็นมงคลทั้งนั้น ในต่างจังหวัดนิมนต์พระทั้งวัด มี 2-3 วัดก็นิมนต์มารวมกัน การนิมนต์พระนั้นต้องแจ้งให้พระท่านทราบด้วย เป็นต้นว่า มีอะไรบ้างที่ให้ทางวัดจัดไป หม้อน้ำมนต์ สายสิญน์, นำรถมารับพระเวลาเท่าไหร่ ที่ไหน
- จัดเตรียมสถานที่ประกอบพิธีขึ้นบ้านใหม่ ประกอบด้วย
– โต๊ะหมู่บูชา 5, 7, 9 แล้วแต่ความเหมาะสมของสถานที่
– เครื่องประกอบโต๊ะหมู่ พระพุทธรูป ผ้าขาว แจกันคู่ ดอกไม้ ธูปเทียน กระถางธูป เชิงเทียนคู่
– การจัดวางโต๊ะหมู่นั้นให้อยู่ด้านขวามือของพระสงฆ์ นิยมตั้งพระพุทธรูปหันหน้าไปทางทิศตะวันออกหรือทิศเหนือ แต่อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับบริเวณบ้านด้วย จะเอาศัยทิศทางของบ้านเป็นหลักก็ได้ เชา บ้านหันไปทางไหน ก็จัดตั้งพระพุทธรูปไปทางด้านนั้น
– การจัดอาสน์สงฆ์สำหรับพระสงฆ์อยู่สูงกว่าฆราวาส ข้างอาสนะจัดเตรียมกระโถน แก้วน้ำ
– เตรียมสิ่งของสำหรับถวายพระ ดอกไม้ ธูปเทียนและซองปัจจัย (เงิน)
– นำสายสิญจน์มารอบบ้านเพื่อให้ภายในวงสายสิญจน์นั้นเป็นเขตแดนพุทธรักษา ธรรมรักษาและสังฆรักษา เชื่อว่าสายสิญจน์ในพิธีนั้นมีอำนาจในการป้องกันอันตราย สิ่งชั่วร้ายไม่ให้ทำลายพิธีมงคลขึ้นบ้านใหม่นี้
– นิยมใช้สายสิญจน์ที่จับเก้าเส้น (ไม่รู้ถามทางร้านดู) โดยวงสายสิญจน์นั้นเริ่มต้นจากรอบองค์พระพุทธรูป โยงออกไปเวียนไปทางขวาแบบเข็มนาฬิกาวงไปรอบบ้านหรือบริเวณที่ต้องการวงและกลับวกเข้ามาที่โต๊ะหมู่ที่ตั้งพระพุทธรูปและนำด้ายสายสิญจน์วงพระพุทธรูปอีกครั้ง แล้วลงมาพันรอบหม้อน้ำมนต์ สำหรับหม้อน้ำมนต์โบราณนิยมใช้ขันสำริดหรือใช้หม้อน้ำมนต์ยืมจากวัด (แจ้งให้ทางวัดทราบด้วย ท่านจะได้เตรียมมา) ไม่นิยมใช้ขันเงิน นำน้ำที่สะอาดใส่ไว้ในหม้อน้ำมนต์และเทียนขี้ผึ้งแท้ที่หม้อน้ำมนต์ไว้ให้พร้อม
– การจุดเทียนหม้อน้ำมนต์ให้จุดขณะที่พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ถึงขึ้นต้นด้วยบทว่า “อเสวนา จ พาลานัง…” พระสงฆ์หัวหน้าจะทำพิธีทำน้ำพระพุทธมนต์โดยการจับเทียนเอียงหยดน้ำตาเทียนลงในหม้อน้ำมนต์ถึงบทว่า “นิพพันติ ธีรา…” แล้วท่านจะจุ่มเทียนในน้ำมนต์ให้ดับไป เทียนนี้ไม่ให้นำไปจุดใช้อีก - ในวันงานทำบุญขึ้นบ้านใหม่
– เมื่อพระสงฆ์มาถึง ให้เจ้าภาพจุดเทียน 2 เล่ม ธูป 3 ดอก เพื่อบูชาพระรัตนตรัยกราบ กราบพระพุทธรูป 3 ครั้ง และกราบพระสงฆ์ 3 ครั้ง ทำพิธีบูชาพระรัตนตรัย
– อาราธนาศีล 5
– อาราธนาพระปริตร
– พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์
– ถวายภัตตาหาร
– ถวายเครื่องไทยทาน จตุปัจจัย
– พระสงฆ์กล่าวคำอนุโมทนา
– รับพร กรวดน้ำ
– ลาพระ เสร็จพิธี
– เชิญแขกที่มาในงานรับประทานอาหาร
ข้อควรระวังในงานทำบุญเลี้ยงพระ
- การนิมนต์พระ ควรนิมนต์ล่วงหน้า ต้องแจ้งให้ท่านทราบว่านิมนต์พระกี่รูป ที่ไหน มารับพระเวลาเท่าไหร่ สิ่งที่ให้ทางวัดจัดเตรียมไปมีอะไรบ้า
- ต้องมารับพระให้ตรงเวลาที่นัดหมายไว้
- เมื่อพระไปถึงบ้าน ให้เจ้าภาพเดินมาต้องรับที่หน้าบ้าน เปิดประตูรถให้พระสงฆ์ นิมนต์ท่านเดินเข้าไปในบ้าน ให้ท่านรู้ว่าเข้าประตูไหน
- เมื่อถึงเวลาทำพิธี เจ้าภาพต้องพร้อม อย่าไปวุ่นวายอยู่กับการจัดเตรียมอาหาร และไม่ควรทำอาหาร จัดเตรียมอาหารให้มีเสียงดังรบกวนพระเจริญพระพุทธมนต์ (อาหารควรเตรียมไว้ก่อนพระมาถึง หรือหากทำก็ไม่ควรให้มีเสียงดัง)
- ขณะที่พระสงฆ์ยังอยู่ในพิธี เจ้าภาพต้องให้ความสำคัญ ต้อนรับพระสงฆ์มากกว่าแขกอื่น
- เมื่อพระสงฆ์จะกลับวัด หากเจ้าภาพไม่ได้ไปส่งที่วัดเอง ให้เดินมาส่งพระสงฆ์ที่รถ
เห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ โปรดแชร์....