คาถามหาจักรพรรดิ์
นะโม พุทธายะ
พระพุทธะไตรรัตนญาณ
มณีนพรัตน์
สีสะหัสสะ สุธรรมา
พุทโธ ธัมโม สังโฆ
ยะ ธา พุท โม นะ
พุทธะบูชา ธัมมะบูชา สังฆะบูชา
อัคคีทานัง วะรังคันธัง
สีวะลี จะ มะหาเถรัง
อะหัง วันทามิ ทูระโต
อะหัง วันทามิ ธาตุโย
อะหัง วันทามิ สัพพะโส
พุทธะ ธัมมะ สังฆะ ปูเชมิ
หากเราค้นหาใน Google ด้วยคำว่า “คาถามหาจักรพรรดิ์” ก็จะเจอคาถานี้ และก็ระบุว่า หลวงปู่ดู่ วัดสะแก เป็นผู้รจนาหรือแต่งขึ้นมา แต่เพจ หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ • ปฏิปทาและคำสอน ได้ให้ข้อมูลเป็นที่น่าสนใจ และตั้งข้อสังเกตความต่างจากสมัยหลวงปู่ดู่ไว้อย่างน้อย 4 ประการ ดังนี้
- คาถาบูชาพระนี้ หลวงปู่ไม่ได้เป็นผู้รจนาเอง แต่ท่านกล่าวว่าท่านได้นำมาจากวัดประดู่ทรงธรรม
- ในสมัยหลวงปู่ดู่เรียกว่า คาถาบูชาพระหรือคำกล่าวบูชาพระ แต่ทุกวันนี้ มีการเรียกใหม่ว่าคาถามหาจักรพรรดิ์
- สมัยนี้มีการกล่าวพรรณาอานิสงส์ของคาถามากเกินกว่าที่สมัยหลวงปู่ดู่ผู้นำมาเผยแพร่เสียอีก จนทำให้เหมือนกับว่าเป็นส่วนที่ยิ่งใหญ่กว่าการลงมือปฏิบัติตามหลักธรรม
- การให้น้ำหนักความสำคัญของการสวดคาถานี้ สมัยหลวงปู่ดู่เป็นที่ทราบกันว่าสิ่งที่หลวงปู่ให้ความสำคัญมากที่สุดคือ การปฏิบัติสมาธิภาวนา ท่านเรียกว่าเป็นการ “ทำงาน” ส่วนคาถา บทสวดต่าง ๆ เป็นเพียงส่วนปลีกย่อยเท่านั้น ที่ช่วยส่งเสริมด้านกำลังใจ เป็นอุบายให้จิตไม่ฟุ้งซ่าน ท่านว่า “สวดมนต์เป็นยาทา ภาวนาเป็นยากิน”
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ตามความคิดเห็นส่วนตัวของผมนะครับ ทั้งสี่ข้อนี้ผมจะไม่กล่าวถึง แต่ผมก็มีข้อสังเกตและสงสัยอยู่อย่างหนึ่ง หากหลวงปู่ดู่เป็นผู้รจนาและให้น้ำหนักกับคาถามหาจักรพรรดิ์นี้มาก ผมว่าท่านคงจะกำหนดเป็นแบบแผนให้คณะศิษย์ที่วัด หรือศิษย์ทั่ว ๆ ไป ได้สวดเป็นกิจลักษณะ สวดเป็นเอกลักษณ์ของวัดแล้วครับ นี่เป็นความคิดเห็นส่วนตัวนะครับ