บูชา ได้แก่การแสดงความเคารพนับถือ ที่แสดงออกทางกาย วาจา และใจ การกราบไหว้ การกล่าวยกย่องชื่นชมด้วยความนับถือบุคคลที่ควรเคารพนับถือ เป็นต้นว่า พระพุทธรูป พระสงฆ์ บิดามารดา ครูอาจารย์ ญาติผู้ใหญ่ การบูชานั้นนับว่าเป็นมงคลอย่างหนึ่งเป็นเหตุนำความสุขความเจริญ ตลอดถึงความก้าวหน้าในชีวิตมาสู่ผู้ทำการบูชา
เราทราบกันมาว่า การบูชานั้นมี 2 ประเภท ได้การอามิสบูชาและปฏิบัติบูชา
อามิสบูชา คือการบูชาด้วยสิ่งของเครื่องใช้ การปรนนิบัติดูแล การให้ข้าวน้ำ บ้านที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวมถึงการบูชาด้วยดอกไม้ ธูป เทียน ตามธรรมเนียมนิยม
ปฏิบัติบูชา คือการบูชาด้วยการปฏิบัติ ได้แก่ปฏิบัติตามแบบที่ท่านทำไว้เป็นแบบอย่าง ปฏิบัติตามคำที่ท่านสั่งและสอนไว้ เช่น ทานปฏิบัติ เป็นต้น
ในการบูชาพระพุทธเจ้านั้น คนโดยมากมักเข้าใจว่าการถวายทาน การให้ทานแบ่งปันสิ่งของให้แก่ผู้อื่นนั้นเป็นอามิสบูชาถ่ายเดียว หรือมักเข้าใจว่าหากจะปฏิบัติบูชา ต้องนั่งภาวนา หรือรักษาศีลเท่านั้น อันที่จริงแล้ว แม้การให้ทาน ทำบุญตักบาตร ถวายสังฆทาน ก็เป็นการปฏิบัติบูชาเช่นกัน เหตุว่า ทานเป็นหนึ่งในคำสอนหลักในพระพุทธศาสนา อย่างที่เราเคยได้ยินมา ทาน ศีล ภาวนา ฉะนั้น ทาน จึงเป็นคำสอน การให้ทานก็คือการปฏิบัติตามคำสอน การปฏิบัติคำสอนด้วยการให้ทาน หรือทานปฏิบัติ จึงเป็นการปฏิบัติบูชาโดยแท้เช่นกัน
ความต่างระหว่างอามิสบูชาและปฏิบัติบูชา
การให้ทานสิ่ง รวมทั้งการถวายดอกไม้นั้น หากอุบาสกอุบาสิกาเป็นผู้ทำ จัดว่าเป็นปฏิบัติบูชา เพราะเป็นการปฏิบัติตามคำสอนของพระศาสดา เพราะพระศาสดา เริ่มคำสอนแก่ฆราวาสที่ ทาน ศีล ภาวนา
การให้ทาน ถวายดอกไม้ ธูปเทียนนั้น หากบรรพชิตทำ ถือว่าเป็นอามิสบูชา เพราะพระศาสดา เริ่มคำสอนแก่บรรพชิตด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา
อนึ่ง การให้สิ่งของแก่บุคคลที่เราเคารพนับถือ เช่น ให้เสื้อผ้า อาหาร เป็นต้น แก่มารดาบิดา หรือบุคคลทั่วไปที่เรานับถือในฐานะเป็นเพื่อนร่วมโลก อาจกล่าวได้ว่าเป็นอามิสบูชาของผู้รับ แต่เป็นการปฏิบัติบูชาของพระพุทธเจ้า เพราะเราปฏิบัติตามคำสอนในข้อที่ว่าให้ทาน