มีผู้สอบถามมาว่าซื้อนกที่เขาจับใส่กรงมาขายแล้วปล่อยนั้นได้บุญหรือบาป ?
เรื่องนี้ผมกังวลใจที่จะตอบ เพราะคนเรามักจะไปมองที่คนอื่น แทนที่จะมองเจตนาของตนเองหรือการกระทำอันเป็นปัจจุบัน เอาเจตนาของคนซื้อคนปล่อยนกก่อน ท่านมีเจตนาอย่างไร ในขณะนั้น
- เห็นสัตว์ที่ตกทุกข์แล้ว เกิดจิตเมตตาสงสารอยากให้พ้นทุกข์ นี่เป็นกุศลไหม
- แล้วทำการปลดปล่อยสัตว์นั้นให้พ้นจากทุกข์ โดยการซื้อสัตว์นั้นปล่อยเสีย
- ซึ่งการกระทำนี้บางคนก็หวังบุญ บางคนก็อาจจะไม่ได้หวังอะไร แค่ความสบายใจ เจตนาและการะทำของผู้ซื้อสัตว์ปล่อยมีแค่นี้ไม่ได้ไปสั่งให้เขาจับมาขายให้ เขาจับที่ไหน เมื่อไหร่ โดยวิธีใด โดยใคร เพื่อใครบ้าง คนซื้อไม่ได้ไปรับรู้อะไรด้วย โดยส่วนตัวผมแล้วมองว่าเจตนานี้การกระทำนี้ยังไงก็ต้องเป็นบุญแน่นอน
แต่ก็จะมีกล่าวว่า การกระทำแบบนี้ ซื้อนกที่เขาจับใส่กรงมาขายแล้วปล่อยแบบนี้เป็นบาป เพราะเป็นการสนับสนุนให้เขาจับมาขายอีกเรื่อย ๆ สำหรับคนที่จับมาใส่กรงนั้นยังไงก็เป็นบาปแน่นอน ทางที่ดีนั้นไม่ควรจับขังใส่กรงขาย ส่วนคนซื้อปล่อยก็อย่างที่ผมกล่าวข้างต้น เจตนาเขาเกิดขึ้นเฉพาะหน้า คือเมตตากรุณาแล้วทำการปล่อย ไม่ได้ไปสั่งให้เขาจับมาปล่อย ไม่ได้ไปรับไปรู้ว่าเขาจับที่ไหน เมื่อไหร่ โดยเครื่องมืออะไร มันต่างกรรมต่างวาระต่างเจตนากัน เหมือนเราซื้อส้มตำปลาร้ามาทาน เจตนาของเราเกิดขึ้นเฉพาะหน้าแล้วซื้อในสิ่งที่เห็นเฉพาะหน้า เราไม่ได้สั่งให่เขาจัดหามา เราไม่ได้สั่งให้เขาฆ่าปลามาทำปลาร้าปลากระป๋อง เราไม่ได้ไปรับรู้ว่าเขาจับที่ไหน เมื่อไหร่ โดยวิธีใด
ยกตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่ง อาจจะเป็นเรื่องเล่านานแล้ว แต่ก็เกี่ยวกับบุญบาป มีพระธุงค์รูปหนึ่งจำพรรษาในป่า ต่อมาวันหนึ่งมีกลุ่มโจรป่าผ่านมา ในเรื่องที่มาผมจำไม่ได้ว่าท่านรู้ว่าเป็นโจรหรือไม่ แต่ก็คงรู้แหล่ะ เพราะโจรเหล่านั้นตั้งใจจะมาทำร้ายท่าน ก็ต้องแสดงกิริยาท่าทางออกมา แต่พระธุดงค์กล่าวต้อนรับด้วยวาจาที่ไพเราะ ให้ที่นั่ง ให้น้ำเย็น ๆ ดื่ม ไม่แสดงกิริยาอาการรังเกียจแต่อย่างใด ซึ่งบางคนคิดมาก อาจจะบอกว่านั่นเป็นโจรนะ ให้อาหารโจร ให้สิ่งของกับโจร เหมือนเป็นการสนับสนุนให้เขาเป็นโจร เป็นบาปนะ แต่พระเถระมิได้คิดเช่นนั้น มีเมตตาจิตต้อนรับ โจรก็เป็นเรื่องของโจร ส่วนเจตนาท่านมีหน้าทำให้หายร้อนหายทุกข์โศก ด้วยการที่พระเถระเช่นนี้ จึงทำให้โจรกลับใจ ใจอ่อนไม่คิดทำร้ายท่าน นี่ท่านยกตัวอย่างขึ้นมาเป็นอานิสงส์แห่งอาคันตุกวัตร คือวัตรปฏิบัติของการต้อนรับผู้มาเยือน อีกเรื่องไม่รู้จริงหรือไม่ แต่เป็นเรื่องเล่าและเห็นคนทำเป็นวิดีโอมาแล้ว คือเรื่องสมเด็จโตกับขโมย
มีเรื่องเล่าว่า ในคราวที่สมเด็จโต ท่านได้เดินทางขึ้นไปทางเมืองปทุมธานีโดยทางเรือ ท่านได้จำวัดในเรือลำนั้น แล้วมีขโมยพายเรือเข้ามาใกล้เรือของท่าน ขโมยเอาเสื่อในเรือท่านไป แต่ด้วยความที่เขากลัวว่าท่านจะตื่นมาพบเข้า เมื่อเขาได้เสื่อนั้นแล้วก็ทำท่าจะพายเรือหนีไป สมเด็จโตท่านก็พูดตามหลังไปว่า “เดี๋ยวก่อนสิอย่าเพิ่งไป เอาหมอนไปด้วยซีจ๊ะ” ว่าแล้วท่านก็โยนหมอนไปที่เรือของขโมยนั้น เมื่อโจรได้เสื่อและหมอนแล้วก็รีบพายเรือหนีไปทันที ผมเชื่อว่าเจตนาของสมเด็จโตนั้น มีจิตเมตตา หรืออาจจะเป็นการให้ทำบุญให้ทานของท่านก็ได้ ท่านไม่ได้มีเจตนาที่จะสนับสนุนให้ใครเป็นโจรอย่างแน่นอน
อีกครั้งหนึ่ง มีเรื่องเล่าว่า ขโมยได้เข้าไปลักของในกุฎิของท่านในเวลากลางคืน ขโมยคนนั้น พยายามที่จะยื่นมือเข้าไปลักตะเกียงของท่าน แต่ก็เอื้อมไม่ถึงสักที ขณะนั้นสมเด็จโตท่านนั่งมองอยู่ ท่านมีจิตสงสาร ท่านจึงได้เลื่อนตะเกียงนั้นส่งให้ถึงมือเจ้าขโมยคนนั้นให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย นี่ก็ด้วยความเมตตาสงสารของท่าน หรือเป็นการสร้างทานบารมี ตัดความตระหนี่ ตัดความโกรธไปได้ ไม่ใช่เป็นการสนับสนุนให้เป็นโจรแต่อย่างใด
อีกเรื่อง (สมัยนั้นโจรก็เยอะเหมือนกันนะ) ในคืนหนึ่ง ขโมยมาลักเรือของท่าน และเสียงที่พวกเขาพยายามลากเรือนั้นกับพื้นดินที่แห้ง ๆ ดังไปจนท่านได้ยิน แทนที่สมเด็จโตท่านจะตะโกนเรียกให้พระหนุ่มเณรน้อยที่มีกำลังลงไปจัดการกับพวกหัวขโมย ท่านกลับพูดขึ้นมาเบา ๆ พอให้พวกขโมยนั้นได้ยินว่า “เข็นเบา ๆ หน่อยซิจ๊ะ เดี๋ยวพระเณรได้ยินเข้าจะลงไปทำร้ายเอา เป็นขโมยทั้งทีไม่รู้หรือว่าการลากเรือในที่แห้ง ๆ แบบนี้นั้น เขาต้องเอาหมอนมารองหัวเรือให้โด่งขึ้นเสียก่อน จะได้เคลื่อนง่ายขึ้น และท้องเรือก็จะไม่บอบช้ำไม่รั่วด้วย” ปรากฎว่า พวกขโมยได้ยินเช่นนั้นก็รู้สึกระอายใจเป็นอย่างมาก เลยล้มเลิกขโมยเรือนั้น แล้วพากันวิ่งหนีไปทันที นี่ก็เป็นตัวอย่างของเรื่องต่างกรรม ต่างวาระ ต่างเจตนา ต่างการกระทำ ต่างบุคคล ต่างจิตต่างใจ ท่านมีจิตเมตตาต่อโจร หรือเจตนาของท่านแค่ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อบุคคลอื่น แต่ไม่ได้สนับสนุนให้ใครมาเป็นโจร
หากจะกล่าวว่าซื้อนกปล่อยแล้วเป็นบาปเพราะเป็นการสนับสนุนให้เขาจับใส่กรงมาขายอีก ถ้ามองอย่างนี้มันก็ต้องมองเรื่องอื่น ๆ ที่มีลักษณะคล้ายกันด้วย เช่น ซื้อปลาที่ตายแล้วในตลาดก็เป็นบาปเพราะเป็นการสนับสนุนให้เขาจับมาขายอีก กินอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ทุกชนิดก็เป็นบาปเพราะเป็นการสนับสนุนให้เขาจัดหาฆ่ามาทำกับข้าวขายอีก และคงจะอื่น ๆ อีกมากนะ ใช้น้ำมัน เปิดไฟ เป็นบาปหรือเปล่าไม่รู้ทำให้โลกร้อน ปล่อยสารพิษ ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ขึ้นมาได้
แต่อย่างไรก็ตาม คนขายไม่ควรจับนกมาขาย และคนซื้อถ้าวางเฉยได้ก็ควรวางเฉย เพราะเราไม่ซื้อปล่อยก็ไม่เป็นบาป แต่ซื้อปล่อย ส่วนตัวผมก็มองว่าเป็นบุญและได้บุญไม่เป็นบาป
สรุป ควรซื้อนกปล่อยไหม
ตามที่ผมกล่าวมาข้างต้น คนซื้อนกปล่อย ไม่ได้มีส่วนในการไปสั่งให้เขาจับมาขังไว้ ไม่ได้รับรู้ว่าเขาจับที่ไหน เมื่อไหร่ โดยใคร คนซื้อปล่อยมีจิตเกิดขึ้นเฉพาะหน้า คือเมตตาสงสาร และต้องการปลดปล่อยให้พ้นทุกข์จึงได้ทำการซื้อปล่อย ผมมองแค่เจตนานี้ และเชื่อว่าผู้ซื้อปล่อยเองก็มองแค่เจตนานี้เช่นกัน ผมจึงเชื่อว่ายังไงก็ต้องได้บุญแน่นอน
ถามว่า ถ้าเป็นผมจะซื้อปล่อยไหม คำตอบไม่ซื้อปล่อยครับ (แต่ผมไม่ได้บอกว่าคนซื้อปล่อยเป็นบาปนะ การกระทำที่มีเจตนาดี และดีย่อมเป็นบุญ ตามที่ผมกล่าวมาข้างต้น) ยกเว้นสัตว์ที่เขาจะนำไปฆ่าที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าผม อย่างนั้นอาจจะซื้อปล่อย ถ้าไปในงานต่าง ๆ เห็นคนขายเชิญชวนให้ซื้อนกปล่อย ผมไม่ซื้อปล่อย เพราะเหตุว่า
- ถึงแม้ผมไม่ซื้อปล่อย ไม่ทำอะไรเลย บาปก็คงไม่เกิดขึ้นกับผม
- คนที่จับ ขังและขายรับบาปกรรมที่ทำเองอยู่แล้ว ไม่เกี่ยวกับผม
- คนขายถ้าขายไม่ได้ เขาคงไม่ฆ่านกนั้นทิ้งแน่ เพราะมันไม่ใช่นกหรือสัตว์ที่นำมาเป็นอาหาร แต่ถ้าเขาฆ่าก็เรื่องของเขา ผมไม่ได้รับรู้หรือสั่งให้เขาทำ
- ผมมีวิธีการทำบุญด้วยวิธีอื่น ๆ อีก
แต่ผมได้ยินบางคนพูดว่า เขาไม่ซื้อปล่อย เพราะเขาไม่สามารถที่จะช่วยชีวิตสัตว์ได้ทั้งโลก ผมว่าคิดแบบนี้ก็แคบเกินไป เขาไม่ได้ต้องการใช้คุณช่วยชีวิตสัตว์ทั้งโลก หรือสัตว์ทั้งโลกก็ไม่ได้หวังการช่วยเหลือจากคุณคนเดียว ถ้าคิดแบบนี้ก็เป็นการปิดกั้นการทำบุญทำความดีของตนเองอีก เพราะมันจะมีคำพูดหรือข้อแม้อีก เช่นว่า ผมไม่สามารถใส่บาตรได้ทุกเช้า ผมไม่สามารถใส่บาตรพระได้ทุกรูป ผมไม่สามารถช่วยเหลือคนน้ำท่วมได้ทุกคน แล้วก็ไม่ทำความดีใด ๆ