บ่วงนาคบาศ อาจจะไม่คุ้นชื่อเท่าไหร่ แต่ถ้าบอกว่า งูกินหาง หลายคนอาจจะพอนึกขึ้นได้ ในส่วนตัวผมไม่แน่ใจว่า จริง ๆ แล้ว บ่วงนาคบาศ กับ งูกินหาง มันเกี่ยวข้องกันหรือไม่ หรือนักเครื่องรางพยายามพูดให้มันเกี่ยวข้องกันว่า งูกินหางมันก็สร้างมาจากบ่วงนาคบาศนั่นเอง
ตำนานบ่วงนาคบาศ
ผมใช้เวลาอันน้อยนิด พยายามค้นข้อมูลที่มาของบ่วงนาคบาศ แต่แน่นอนว่า ด้วยเวลาอันน้อยนิด ผมไม่สามารถเปิดตำราต้นฉบับได้ เจอแต่ข้อมูลที่ผู้เขียนแยกย่อยไว้ตามเว็บไซต์ต่าง ๆ ซึ่งพอสรุปได้ ดังนี้
นาคบาศของอินทรชิต
เรื่องนี้ปรากฏในรามเกียรติ์ ตอนศึกอินทรชิต เรื่องมีอยู่ว่าพระพรหมได้ประทานอาวุธชนิดหนึ่งให้แก่อินทรชิต เรียกว่า “นาคบาศ” คือเป็นศรที่มีอานุภาพอย่างมาก ยิงไปที่ศรัตรูจะกลายเป็นบ่วงนาครัดศรัตรูไว้ ว่ากันว่าด้วยศรชนิดทำให้อินทรชิตตลุยไปทั้งสามโลกได้ และรบชนะพระอินทร์ ด้วยเหตุนั้น จึงได้เรียกว่าอินทรชิต แปลว่า ผู้พิชิตพระอินทร์
เมื่ออินทรชิตจะรบกับฝ่ายพระรามพระลักษณ์ และอยากเพิ่มอานุภาพแห่งศรให้ยิ่งขึ้นจึงทำพิธีชุบศรนาคบาศในโพรงไม้โรทัน โดยการรีดพิษนาคเติมฤทธิ์ให้แก่ศรนาคบาศ ตามกำหนดแล้วต้องทำพิธีถึง 7 วัน แต่โดนฝ่ายพระรามส่งชามพูวราชพญาวานรแปลงกายเป็นหมีไปโค่นทำลายพิธีเสียก่อน แต่ถึงอย่างนั้นศรนาคบาศก็มีอานุภาพเป็นอย่างมากสามารถรัดพระลักษณ์และพลวานรได้ทั้งกองทัพ
ทำความรู้จักกับอินทรชิตอีกที เดิมทีชื่อรณพักตร์ เป็นลูกทศกัณฐ์กับนางมณโฑ เรียนวิชาศิลปศาสตร์และมนต์ชื่อมหากาลอัคคีในพระฤษีโคบุตร แต่ก็ยังไม่เป็นที่พอใจ ต่อมาจึงทำความเพียรโดยการไปนั่งภาวนาอยู่ท่าเดียวเพื่อบูชาเทพเจ้าทั้งสาม จนครบ 7 ปี
เทพเจ้าทั้งสามเห็นคนเอาใจก็ถูกพระทัยยิ่งนัก จึงมอบของวิเศษให้ ดังนี้
พระอิศวรประทานศรพรหมาสตร์ และมอบพรสามารถแปลงร่างเป็นพระอินทร์ได้
พระพรหมประทานศรนาคบาศ และมอบพรหากเศียรตกลงพื้น จะเกิดไฟบรรลัยกัลป์ล้างโลก ต้องนำพานแว่นฟ้าของพระพรหมเท่านั้นมารองรับเศียรจึงจะระงับเหตุได้
พระนารายณ์ประทานศรวิษณุปาณัม
เมื่อรณพักตร์ได้รับอาวุธวิเศษแถมด้วยพรแล้วก็เกิดความหึกเหิมยกทัพบุกสวรรค์จนชนะอินทร์ ทศกัณฐ์ผู้เป็นพ่อดีจังนักหนาที่ลูกตนสร้างชื่อเสียงให้ จึงเรียกชื่อใหม่ว่าอินทรชิต หมายถึง “ผู้พิชิตพระอินทร์”
อินทรชิตได้ทำสงครามกับกองทัพพระรามพระลักษมณ์หลายหน ผลัดกันแพ้พลัดกันชนะ แต่ตัวอยู่ใหญ่ไม่ตายสักที จนมาถึงศึกนาคบาศและศึกพรหมาสตร์ อินทรชิตได้ทำพิธีกุมภนิยาเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้ตนเอง แต่ก็ถูกฝ่ายพระรามพระลักษมณ์ทำลายพิธีเสีย ในที่สุดอินทรชิตก็ถูกศรพรหมาสตร์ของพระลักษมณ์ตัดคอขาด โดยองคตเป็นผู้ถือพานแว่นฟ้ามารองรับเศียรเอาไว้ไม่ให้ตกลงบนพื้นแผ่นดิน
เมื่อพิจารณาดูนาคบาศของอินทรชิตแล้ว เป็นชื่อของลูกศรซึ่งมีกำลังทำลายล้างสูงมาก เมื่อยิงออกไปแล้วจะกลายเป็นงูใหญ่หรือนาครัดเป้าหมายไว้ไม่ให้หลุด
นาคบาศพรานบุญ
เมื่ออินทรชิตเสียชีวิตแล้ว นาคบาศ ไม่รู้หายไปไหน แต่ได้มาอยู่ในความครอบครองของพญานาค ที่รู้เพราะพรานบุญไปขอยืมบ่วงนาคบาศนี้จากพญานาค พญานาคแม้จะรักจะหวงแค่ไหนก็เลี่ยงไม่ได้เพราะให้สัจจะไว้ในครั้งที่พรานบุญได้เคยช่วยเหลือพญานาคราชไว้ และครั้งนั้นพญานาคราชได้ให้สัญญากับพรานบุญว่า เมื่อมีความเดือดร้อนอะไร มีอะไรให้ช่วย ขออะไรก็จะให้” เมื่อพรานบุญได้บ่วงนาคบาศนั้นแล้วจึงสามารถจับกินรีที่ชื่อว่ามโนราห์ได้เพื่อนำไปถวายพระสุธน และพรานบุญก็นำบ่วงนาคบาศนั้นไปคืนพญานาคเหมือนเดิม
จากตำนานที่เรารู้มา แสดงว่า ณ เวลานี้ นาคบาศ ยังอยู่กับเหล่าพญานาค และพญานาคให้บ่วงนาคบาศนี้แหล่ะเป็นเครื่องต่อกรกับเหล่าพญาครุฑทั้งหลาย
จากนาคบาศ สู่ เครื่องราง งูกินหาง
อันที่จริง นาคบาศ ไม่ได้บอกว่าต้องเป็นรูปงูกินหาง แค่กล่าวว่าเป็นศรที่ยิง ซัด หรือขวางไปแล้วกลายเป็นงูบ่วงรัดเป้าหมายไว้ แต่คนโบราณเมื่อเห็นปรากฏการณ์งูกินหางก็นึกถึงบ่วงนาคบาศ เพราะเห็นเป็นบ่วงงูที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งธรรมชาตินั้นเกิดจากอาการป่วยหรือความกดดันของก็เป็นไปได้ทั้งนั้น เชื่อกันว่า ใครได้เห็นงูกินหางที่แห้งตายตามธรรมชาติ ถือว่าโชคดี นำเก็บไว้ที่บ้าน ร้านค้า มีแต่โชคลาภ เรียกคน เรียกลูกค้า เรียกเงินทองเข้ามา เรียกแม้แต่เนื้อคู่ให้ได้พบเจอและรักเรา
งูกินหางที่แห้งตายตามธรรมชาติ แม้จะเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่ก็เป็นของหายาก ต่อมา อาจารย์ทั้งหลายจึงได้สร้างเครื่องรางเป็นรูปงูกินหางขึ้นมา โดยทำเป็นรูปงูตัวเดียวกินหางตัวเองบ้าง งูสองตัวกินหางกันและกันบ้าง ทำเป็นรูปงูธรรมดาก็มีจนถึงทำเป็นรูปนาคก็มี แล้วเรียกชื่อตามตำนานว่า “บ่วงนาคบาศ” หรือ “งูกินหาง” เชื่อว่ามีอิทธิคุณเหมือนงูกินหางที่แห้งตายตามธรรมชาติ คือ โชคลาภ กินไม่หมดไม่สิ้น ร้อยรัดสิ่งที่เราปรารถนาให้อยู่กับเรา
บทความแนะนำ >>>แหวนงูกินหาง พ่อท่านรัช วัดกระเปา ของดีที่สร้างจากตำนาน บ่วงนาคบาศ
คาถาบูชาบ่วงนาคบาศ หรือ งูกินหาง
สำหรับเสี่ยงโชค เสี่ยงดวง
โอม เอ หิ พญานาคะสุปัณณานัง สิทธิชะนา จิตตัง อุมะอะ โชคลาภจงบังเกิด”
สำหรับค้าขาย มหาเสน่ห์ เมตตามหานิยม เรียกคน เรียกคู่รัก ให้คู่รักอยู่กับเรา
เอหิ พญานาคะสุปัณณานัง พุทโธ ภะคะวา พุทธังสิทธิ ชะนาจิตตัง ธัมมังสิทธิ ชะนาจิตตัง สังฆังสิทธิ ชะนาจิตตัง อิติปิ โส ภะคะวา พุทธมัดใจ โมเรียกมา บ่วงทัพพะนาคา เยติ โอมประสิทธิเม
สำหรับกันภูติผี กันภัย กันสิ่งไม่ดี กันคุณไสยมนต์ดำ
เอหิ พญานาคะสุปัณณานัง สิทธิชะนาจิตตัง อิติปิ โส ภะคะวา พุทธังปิด ธัมมังปิด สังฆังปิด มะอุอะ
เครื่องราง คาถา เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจเพื่อให้มุ่งไปในสิ่งที่ตนต้องการ ฉะนั้น ต้องทำเหตุทางกาย วาจา และใจด้วย
การเสี่ยงโชค มันไม่มีอะไรแน่นอน มีทั้งได้และเสีย ไม่งั้นเขาจะเรียกว่าเสี่ยงหรือ จริง ๆ น่าจะเรียกว่า “เสี่ยงต่อความหายนะ” มากกว่า ฉะนั้น ควรมีสติในการเสี่ยงโชค และต้องยอมรับความจริงในความเสี่ยงคือมีได้มีเสีย
มหาเสน่ห์ เมตตา มหานิยม ก็ต้องสร้างมหาเสน่ห์ที่กาย วาจา ใจ ของเรา พูดดี ทำดี ให้การช่วยเหลือคนอื่น มีอัธยาศัยดี มีน้ำใจต่อผู้อื่น นั่นคือความเมตตาในระดับพื้นฐานที่ใคร ๆ สามารถเข้าถึงได้
โชคลาภ ค้าขายดี นอกจากสร้างเหตุให้เป็นเสน่ห์ตามที่กล่าวมาแล้ว ก็ต้องสร้างเหตุอย่างอื่นด้วย ต้องมีความขยัน อดทน มีบริการที่ดี มีความซื่อสัตย์ ขายของที่มีคุณภาพ
กันคุณไสยมนต์ดำ ทำความดีเป็นหลัก หมั่นทำบุญ ให้ทาน สมาทานศีล สวดมนต์ภาวนา ทำความดีมาก ๆ ความดีนั่นแหล่ะเป็นเกราะคุ้มกันภัยที่ดีที่สุด