
ช้างคนไทยถือว่าเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองมาแต่โบราณกาล เป็นสัตว์ช่วยประเทศชาติทำศึกสงครามปกป้องบ้านเมือง คนอีสานกล่าวว่า หากใครหรือครอบครัวใดมีช้างถือว่าค้ำคูณ คือส่งเสริมให้ครอบครัวนั้นมีฐานะดีขึ้น อย่าว่าแต่มีช้างเลย คนสมัยก่อนพูดว่า แค่ได้เห็นช้างก็ถือว่ามีโชคลาภแก่สายตา เป็นมงคลแล้วที่ได้เห็น นอกจากนั้นส่วนต่าง ๆ ของช้าง เราก็ยังเชื่อว่าเป็นมงคลอีกด้วย ไม่ว่าจะเห็นขน หาง ยังมีคำเปรียบเทียบอีกว่า ดูช้างให้ดูที่หาง ดูนางให้ดูที่แม่ หนังของช้าง เล็บของช้างก็ว่าเป็นมงคล ฟันของช้างที่เราเรียกว่า งา ก็นับว่าเป็นมงคลที่สุดที่อยู่ในตัวของช้างตามความเชื่อ
ท่านผู้อ่านอย่าลืมว่าในสมัยนั้นเมื่อหลายสิบปีมา ยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการครอบครองงาช้าง เมื่อชาวบ้านได้งาช้างมา ไม่ว่าจะเป็น งากำจัด งากำจาย หรืองาสะเด็น หรือว่างาช้างที่ตายตามธรรมชาติก็ตาม พวกเขาก็จะเก็บไว้ที่บ้านเพื่อเป็นมรดกตกทอดให้ลูกหลานต่อไป เพราะถือว่าเป็นสิ่งมงคลประจำบ้านเรือน หรือประจำตระกูล บางคนก็จะนำมาแกะเป็นรูปสิ่งที่ตนเองเคารพนับถือ คือแกะเป็นรูปพระพุทธเจ้าพิมพ์ต่าง ๆ พิมพ์พระสมเด็จบ้าง พิมพ์พระสีวลีบ้าง นางกวักบ้าง แล้วนำไปถวายให้หลวงปู่ครูบาอาจารย์ที่ตนเคารพนับถือ โดยมากก็จะเป็นหลวงปู่หลวงพ่อที่อยู่ในท้องถิ่นในจังหวัดตน เช่น ภาคกลางก็หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพธิ์ จังหวัดนครสวรรค์ อีสานตอนใต้ ก็มีหลวงพ่อมุม วัดปราสาทเยอร์ จังหวัดศรีสะเกษ เหนือขึ้นไปอีกก็มีหลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร จังหวัดสกลนคร ที่มีผู้นิยมนำพระที่แกะด้วยงาช้างไปให้ท่านได้เมตตาทำการจารและอธิษฐานจิตปลุกเสกให้
สำหรับพระงาแกะที่นำมาให้หลวงปู่ฝั้นจารและอธิษฐานปลุกเสกนั้น ต้องเข้าใจว่าส่วนมากเป็นงาที่ชาวบ้านแกะเอง และไม่ได้มีมาเป็นกล่อง ๆ หรือทีละสิบละร้อยองค์ แต่โดยมากชาวบ้านจะนำมาที่ละองค์สององค์ มาต่างที่ท่างช่างต่างฝีมือกัน คนเหล่านั้นมาขอความเมตตาให้ท่านจารและอธิษฐานให้ด้วยใจเคารพศรัทธาจริง ๆ ไม่ได้มากำหนดโค้ด รูปแบบขนาดขององค์พระเพื่อให้เป็นที่จะจดหรือตามใจท้องตลาดแต่อย่างใด ฝีมือในการแกะพระงาช้าง ก็เป็นฝีมือแบบบ้าน ๆ เครื่องมือที่ใช้แกะก็แบบพื้นบ้านที่มีอยู่ในครัวเรือน

พระงาแกะที่นำมาถวายหลวงปู่ฝั้นปลุกเสกนั้น ถ้าเป็นองค์ใหญ่โดยมากท่านก็ทำการจารให้ด้วยเหล็กจาร อาจจะมีบ้างที่จารด้วยดินสอ หรือไม่จารเลยก็มี คาถาที่ท่านจารโดยมากเป็นพระคาถานกยูงทอง คือ นะโม วิมุตตานัง นะโม วิมุตติยา ซึ่งเป็นพระคาถาที่มีปรากฎอยู่บนเหรียญหลวงปู่ฝั้นเกือบทุกรุ่น และแผ่นจารต่าง ๆ ของหลวงฝั้น อาจาโร นอกจากนั้น พระคาถาพญานกยูงทอง ยังถือว่าเป็นพระคาถาอันศักดิ์สิทธิ์ประจำพระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
สำหรับพระงาแกะหลวงปู่ฝั้น อาจาโร องค์ที่ผมใช้ประกอบบทความนี้ ผมได้รับภาพมาจากเพื่อนที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดสกลนคร พระไม่ได้อยู่ที่ผม ผมไม่ได้เป็นเจ้าของพระแต่อย่างใด
รูปหล่อ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
พระพุทธปริตร หลวงปู่ฝั้น
ตะกรุด แผ่นจาร คาถานกยูงทอง หลวงปู่ฝั้น
พระพุทธชินราช หลวงปู่ฝั้น
บทความนี้ และบทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ ผู้เขียนมีเจตนาในการนำเสนอความเชื่อความศรัทธาของคนในยุคหนึ่ง หรือของกลุ่มชนหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาให้ท่านทำการแสวงหามาเพื่อบูชาแต่อย่างใด ผมเองก็มีแต่เพียงภาพถ่ายเท่านั้น