นโม วิมุตตานัง นโม วิมุตติยา
พระคาถานี้เป็นที่ทราบการดีในศิษย์สายพระกรรมฐานหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ซึ่งถือว่าเป็นพระคาถาประจำพระกรรมฐานสายวัดป่าหลวงปู่มั่น นั่นก็คือพระคาถานกยูงทองซึ่ง ซึ่งปรากฎในโมรปริตร มีคำเต็มดังนี้
โมรปริตร
อุเทตะยัญจักขุมา เอกะราชา
หะริสสะวัณโณ ปะฐะวิปปะภาโส
ตัง ตัง นะมัสสามิ หะริสสะวัณณัง ปะฐะวิปปะภาสัง
ตะยัชชะ คุตตา วิหะเรมุ ทิวะสัง
เย พราหมะณา เวทะคุ สัพพะธัมเม
เต เม นะโม เต จะ มัง ปาละยันตุ
นะมัตถุ พุทธานัง นะมัตถุ โพธิยา
นะโม วิมุตตานัง นะโม วิมุตติยา
อิมัง โส ปะริตตัง กัตวา โมโร จะระติ เอสะนาฯ
อะเปตะยัญจักขุมา เอกะราชา
หะริสสะวัณโณ ปะฐะวิปปะภาโส
ตัง ตัง นะมัสสามิ หะริสสะวัณณัง ปะฐะวิปปะภาสัง
ตะยัชชะ คุตตา วิหะเรมุ รัตติง
เย พราหมะณา เวทะคุ สัพพะธัมเม
เต เม นะโม เต จะ มัง ปาละยันตุ
นะมัตถุ พุทธานัง นะมัตถุ โพธิยา
นะโม วิมุตตานัง นะโม วิมุตติยา
อิมัง โส ปะริตตัง กัตวา โมโร วาสะมะกัปปะยีติฯ
คำแปลโมรปริตร
(เมื่อพระอาทิตย์อุทัยยามรุ่งอรุณ นกยูงสวดพระปริตรว่า)
“พระอาทิตย์อุทัยขึ้นมาเป็นดวงตาของโลก เป็นเจ้าแห่งแสง สว่าง กำลังสาดแสงสีทองส่องผืนปฐพี ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระอาทิตย์ผู้สาดแสงสีทองส่องผืนปฐพี ขอท่านจงคุ้มครองข้าพเจ้าทั้งหลายให้อยู่ เป็นสุขตลอดกลางวัน ในวันนี้
ท่านเหล่าใดละบาปได้แล้ว รู้ธรรมทั้งปวงหมดทุกอย่าง ขอท่านผู้ไม่มีบาปเหล่านั้น จงรับความนอบน้อมของข้าพเจ้า ท่านผู้ไม่มีบาปทั้งหลายโปรดรักษาข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ขอนอบน้อมพระโพธิญาณ ขอนอบน้อมท่านผู้หลุดพ้นแล้วทั้งหลาย ขอนอบน้อมแด่วิมุตติธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวง” นกยูงนั้นสวดปริตรนี้แล้ว จึงเที่ยวไปแสวงหาอาหาร
(เมื่อพระอาทิตย์ตกดินยามเย็น นกยูงได้สวดพระปริตรว่า)
“พระอาทิตย์อุทัยขึ้นมาเป็นดวงตาของโลก เป็นเจ้าแห่งแสง สว่าง สาดแสงสีทองส่องผืนปฐพีกำลังอัศดงแล้ว ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระอาทิตย์ผู้สาดแสงสีทองส่องผืนปฐพี ขอท่านจงคุ้มครองข้าพเจ้า ทั้งหลายให้อยู่เป็นสุขตลอดราตรีค่ำคืนวันนี้
ท่านเหล่าใดละบาปได้แล้ว รู้ธรรมทั้งปวงหมดทุกอย่าง ขอท่านผู้ไม่มีบาปเหล่านั้น จงรับความนอบน้อมของข้าพเจ้า ท่านผู้ไม่มีบาป ทั้งหลายโปรดรักษาข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ขอนอบน้อมพระโพธิญาณ ขอนอบน้อมท่านผู้หลุดพ้นแล้วทั้งหลาย ขอนอบน้อมแด่วิมุตติธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวง” นกยูงนั้นสวดปริตรนี้แล้ว จึงพักผ่อนหลับนอน
ตำนานโมรปริตร
สมัยที่พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นนกยูงทอง ก่อนออกไปหากินในตอนเช้า จะต้องสวดโมรปริตรเสียก่อนและพอกลับมาในตอนเย็น ก็จะต้องสวดโมรปริตรอีกครั้งหนึ่ง ด้วยอำนาจแห่งโมรปริตรนั้นจึงทำให้นกยูงทองแคล้วคลาด จากภยันตรายทั้งปวง
ท่านกล่าวกันว่า ครั้งหนึ่งพระเจ้าพรหมทัต สั่งให้จับนกยูงทองมาถวายเพราะพระอัครมเหสีใคร่จะทอด พระเนตร พวกนายพรานถึงแม้ว่าจะวางกับดักเพื่อจะจับนกยูงทองอย่างไรก็ตามแต่ก็หาสำเร็จไม่ บางครั้งพอนกยูงทองเข้ามาใกล้เครื่องดักเหล่านั้น ก็มีอันทำให้เครื่องดักเหล่านั้นล้มระเนระนาดลงไปเอง ดูเป็นที่น่าอัศจรรย์ ทั้งนี้ก็เป็นด้วยอานุภาพแห่งโมรปริตรที่นกยูงทองได้ สวดทุกเช้าค่ำนั่นเอง
กล่าวฝ่ายพระอัครมเหสีของพระเจ้าพรหมทัต เมื่อไม่ได้ทอดพระเนตรนกยูงทองตามประสงค์ก็เสด็จทิวงคต ทำให้พระเจ้าพรหมทัตรู้สึกขัดเคืองพระราชหฤทัยเป็นที่ยิ่ง ด้วยทรงเห็นว่านกยูงทองเป็นต้นเหตุทำให้มเหสีของพระองค์ต้องมาถึงแก่ความตาย จึงหาอุบายที่จะฆ่านกยูงทองเสีย โดยได้แกล้งจารึกลงไปในแผ่นทองว่า
“ถ้าผู้ใดได้กินเนื้อของนกยูงทอง ผู้นั้นจะไม่รู้จักแก่ ไม่รู้จักเจ็บ ไม่รู้จักตายเลย”
เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตแล้ว กษัตริย์องค์ต่อๆมาเมื่อพบคำจารึกนั้น ต่างก็ให้พวกนายพรานไปพยายามจับนกยูงทองตัวนั้นมาให้ ได้ แต่กาลล่วงเลยมาถึง 7 ช่วงกษัตริย์ก็ยังจับนกยูงทองนั้นไม่ได้ ทั้งนี้ก็เป็นด้วยอานุภาพของโมรปริตรคอยคุ้มครองป้องกันภัยให้กับนกยูงทองตัวนั้นอยู่ จวบจนกระทั่งมาถึงกษัตริย์องค์ที่ 7 จึงได้มีนายพรานคนหนึ่ง ได้นำนางนกยูงไปล่อให้นกยูงทองนั้นลงมาที่เชิงเขา นกยูงทองพอได้ยินเสียงนางนกยูงร้องก็หลงใหลไปด้วยอำนาจแห่งกิเลส จึงลืมระลึกถึงมนตร์โมรปริตรดังที่ได้เคยปฏิบัติมา ผลปรากฏว่านกยูงทองเกิดไปติดบ่วงที่นายพรานดักไว้และ ถูกจับไปถวายพระราชาในที่สุด
เมื่ออยู่ต่อหน้าพระราชา นกยูงได้ทูลถามถึงสาเหตุที่ทรงให้ดักจับ พระราชาก็ตรัสเล่าตามที่ปรากฏในคำจารึกนั้น นกยูงทองจึงทูลว่า “ทำไมพระองค์จึงทรงเชื่ออย่างนั้น ถ้าเนื้อของข้าพเจ้าวิเศษถึงกับทำให้คนกินไม่แก่ ไม่ตายจริงแล้ว ตัวข้าพเจ้าเองก็คงไม่ตายน่ะซิ แต่นี่ข้าพเจ้าเองยังต้องตาย ไฉนผู้กินเนื้อของข้าพเจ้าจะไม่ตายเล่า” หลังจากนกยูงทองได้เตือนสติพระราชาแล้ว ก็ได้แสดงให้เห็นอานิสงค์ของการไม่เบียดเบียนสัตว์ จนพระราชาเกิดความเลื่อมใส รับสั่งให้ปล่อยนกยูงทองไป และทรงออกหมายประกาศมิให้ผู้ใดทำร้ายสัตว์ในพระราชอาณาเขตของพระองค์อีกต่อไป
เราจะเห็นได้ว่า ถึงแม้นกยูงทองจะถูกจับได้เพราะลิมสาธยายมนตร์แต่อาศัยที่ได้เคยสาธยายมนตร์โมรปริตรมานาน จึงได้บันดาลให้ถูกปล่อยตัวในที่สุด ดังนั้นจึงเชื่อกันว่ามนตร์บทนี้มีผลทำให้ผู้สวดเกิด การแคล้วคลาดจากสรรพภัยภิบัติทั้งมวล จึงมีผู้นิยมสวดกันจนกระทั่งปัจจุบัน
ที่มา : https://th.wikisource.org/wiki/โมรปริตร
พระคาถาประจำสายกรรมฐาน หลวงปู่มั่น
ด้วยเหตุนี้ เราจึงเรียกพระคาถานี้อย่างย่อ ๆ ว่า คาถานกยูงทอง ซึ่งศิษย์หลวงปู่มั่นหลายถือเป็นพระคาถาประจำกาย โดยเฉพาะหลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร จังหวัดสกลนคร เมื่อมีญาติโยม ลูกศิษย์ลูกหาได้นำแผ่นทองมาให้ท่านจาร ท่านจะจารคาถานกยูงทองนี้เป็นหลัก ถ้ามีช่องว่างเหลือท่านจึงจารคาถาอื่น ๆ อันสื่อถึงพระรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บางแผ่นก็มีหัวใจธาตุทั้งสี่ ตามความนิยม
อานุภาพแห่งแผ่นจาร หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
อานุภาพแห่งคาถานกยูงทองนั้น ถ้าดูตามตำนาน ดูตามเนื้อความแห่งพระคาถาแล้ว เด่นทางด้าน แคล้วคลาดปลอดภัย ป้องกันภัยจากผู้คิดร้าย หลุดพ้นจากวงจรแห่งความอาฆาตพยาบาทอันเนื่องมาจากการปองร้ายของผู้อื่น ในด้านความเมตตานั้น พระวัดป่าสายกรรมฐานท่านมีคุณสมบัติเด่นในเรื่องนี้อยู่แล้ว ไม่วาวัตถุมงคลของท่านจะมาในรูปแบบใดก็ตาม ส่วนประสบการณ์แห่งแผ่นจาร ตะกรุดหลวงปู่ฝั้นนั้น ผมผู้เขียนบทความในเว็บไซต์ได้สืบค้นมาและผมเองเป็นคนจังหวัดสกลนครก็ได้ยินมาอย่างนี้จริง ๆ มีเรื่องเล่าว่า
มีนายทหารท่านหนึ่งต้องไปรบในสงครามอินโดจีน นายทหารท่านนั้นซี่งมีความศรัทธาในองค์หลวงปู่ฝั้นเป็นอย่างมากอยู่แล้ว จึงได้ไปหาหลวงปู่ฝั้นที่วัดป่าอุดมสมพร เพื่อไปขอของดีจากท่านนำติดตัวไปคุ้มครองตัวเอง หลวงปู่ท่านจึงหยิบกระดาษสมุดขึ้นมา (บางกระแสว่าเป็นกระดาษตราไก่ สำหรับมวนบุหรี่) แล้วเขียนยันต์นกยูงทองเพื่อมอบให้นายทหารท่านนั้นได้นำติดตัวไปและท่านได้กล่าวว่าเมื่อรบเสร็จแล้วให้นำมาคืนด้วย
เมื่อนายทหารคนนั้นได้นำยันต์นั้นใส่กระเป๋าเสื้อทหารติดตัวไปรบด้วยแล้ว ปรากฏว่าลูกระเบิดบ้าง ลูกกระสุนบ้างที่ฝ่ายตรงข้ามทิ้งมาข้ามหัวไปหมด บางลูกที่หล่นอยู่ใกล้แต่กลับไม่ระเบิด ด้านไปเฉย ๆ ก็มี ส่วนเพื่อน ๆ ที่ไปรบด้วยกับบริเวณนั้นก็แคล้วคลาดปลอดภัย
เมื่อนายทหารคนนั้นได้กลับมาจากสงครามแล้ว จึงได้เดินทางมาที่วัดป่าอุดมสมพร เพื่อที่จะนำกระดาษยันต์นั้นมาคืนหลวงปู่ฝั้นแต่อีกใจหนึ่งก็ยังนึกเสียดายเพราะตนเองไดัรอดตายมาเพราะแผ่นยันต์หลวงปู่ฝั้นนี้ แต่ก็ต้องทำตามสัจจะแห่งทหารที่ได้ให้ไว้กับพระอาจารย์ฝั้น แต่หลวงปู่ฝั้นได้ละสังขารไปเสียแล้ว ท่านจึงได้เล่าเรื่องทั้งหมดให้ทางวัดทราบตลอดถึงความประสงค์ของตนเองที่ต้องการแผ่นยันต์นี้ติดตัวไว้บูชาต่อไปด้วย ทางวัดจึงแนะนำว่ามีอยู่ทางหนึ่งที่บางคนเขาทำกัน คือเข้าไปกราบหุ่นหลวงปู่พร้อมกับนำแผ่นกระดาษยันต์แผ่นนั้นไปวางไว้ที่หน้าหุ่น พร้อมกับกล่าวว่ากระผมได้นำมาคืนแล้ว และเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ท่านฟัง ก่อนกราบลาท่านกลับให้เอ่ยปากขอกระดาษยันต์แผ่นนั้นกลับไปด้วย ด้วยความที่หลวงปู่ท่านมีเมตตาท่านคงจะอนุญาตให้นำติดตัวไปป้องกันตัวได้
อานุภาพแห่งพระปริตรต่าง ๆ
โบราณาจารย์ท่านได้รวบรวมอานุภาพแห่งพระปริตรต่าง ๆ ไว้ดังนี้ คือ
๑) เมตตาปริตร ทำให้หลับเป็นสุข ตื่นเป็นสุข ไม่ฝันร้าย เป็นที่รักของมนุษย์และอมนุษย์ทั้งหลาย เทพพิทักษ์รักษา ไม่มีภยันตราย จิตเกิดสมาธิง่าย ใบหน้าผ่องใส มีสิริมงคล ไม่หลงสติในเวลาเสียชีวิต และเกิดเป็นพรหมเมื่อบรรลุเมตตาฌาน
๒) ขันธปริตร ป้องกันภัยจากอสรพิษและสัตว์ร้ายต่าง ๆ
๓) โมรปริตร (คาถานกยูงทอง) ป้องกันภัยจากผู้คิดร้าย
๔) อาฏานาฏิยปริตร ป้องกันภัยจากอมนุษย์ ทำให้สุขภาพดี
๕) โพชฌังคปริตา ทำให้มีสุขภาพดี มีอายุยืน และพ้นจากอุปสรรคทั้งปวง
๖) ชัยปริตร ทำให้ประสบชัยชนะ และมีความสุขสวัสดี
๗) รัตนปริตร ทำให้ได้รับความสวัสดี และพ้นจากอุปสรรคอันตราย
๘) วัฏฏกปริตร ทำให้พ้นจากอัคคีภัย
๙) มังคลปริตร ทำให้เกิดสิริมงคล และปราศจากอันตราย
๑๐) ธชัคคปริตร ทำให้พ้นจากอุปสรรคอันตราย และการตกจากที่สูง
๑๑) อังคุลิมาลปริตร ทำให้คลอดบุตรง่าย และป้องกันอุปสรรคอันตราย
๑๒) อภยปริตร ทำให้พ้นจากภัยพิบัติ และไม่ฝันร้าย
อ่านประวัติ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร สกลนคร