การเกิดขึ้นของพระพุทธรูปและลักษณะของพระพุทธรูป
แต่เดิมในครั้งพุทธกาล ไม่มีพระพุทธรูป ได้เกิดขึ้นหลังจากพระพุทธเจ้าประนิพพานแล้ว เมื่อชนชาติกรีกได้หันมานับถือพระพุทธศาสนา ซึ่งแต่เดิมชาวกรีกได้มีการเคารพบูชารูปเคารพของตนเอง เช่น เทพเจ้ายูปีเตอร์ หรือซิวส์ ฮิรา เป็นต้น เมื่อมานับถือพระพุทธศาสนา ก็จึงได้สร้างรูปเคารพของพระพุทธเจ้ามาเคารพแทน จึงได้เกิดมีการสร้างพระพุทธรูปขึ้น เป็นครั้งแรก และต่อมาได้เผยแพร่เข้าไปในดินแดนต่างๆ จนได้เกิดมีพระพุทธรูปมากมาย พระพุทธรูปที่กล่าวว่าเป็นศิลปะงดงามที่สุด คือพระพุทธรูปสมัยศิลปะคันธาระ ส่วนในประเทศไทยก็นิยมสร้างพระพุทธรูปทุกยุคสมัย เช่นในล้านนาภาคเหนือ มีศิลปะการสร้างพระพุทธรูปแบบเชียงแสน (พระสิงห์ 1 -2-3) ในภาคกลางได้รับยกย่องว่าพระพุทธรูปที่งดงามคือสมัยสุโขทัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระพุทธชินราช ที่วัดมหาธาตุ จ. พิษณุโลก
พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในประเทศต่างๆ จะมีลักษณะต่างกัน ตามศิลปกรรมของที่นั้น รูปแบบก็จะเหมือนกับบุคลิกลักษณะของผู้คนในประเทศนั้นๆ และศิลปแต่ละสมัยก็มีความแตกต่างกันตามความนิยมและฝีมือของช่างผู้จัดทำ แต่ลักษณะของพระพุทธรูปในประเทศไทย มีพระเศียรแหลม มีขดเหมือนก้นหอย ผ้าจีวรเรียบบาง นิ้วพระบาทเสมอกัน ฯลฯ ซึ่งคนทั่วไปมักจะมีความสงสัยว่า พระพุทธเจ้ามีรูปเหมือนกับพระพุทธรูปที่เห็น แต่ความเป็นจริงพระพุทธเจ้าองค์จริงในประวัติศาสตร์ ไม่ได้มีพระเศียรแหลมเช่นพระพุทธรูป ทรงมีลักษณะใกล้เคียงกับคนทั่วไป เพียงแต่มีลักษณะบางประการที่ต่างไปบ้างตามมหาปุริสลักษณะ (ลักษณะเฉพาะของมหาบุรุษ) ที่ปรากฏในพระไตรปิฎก[1] การที่พระพุทธรูปมีรูปลักษณะดังกล่าวอันเนื่องมาจากคติหรือความเชื่อในการสร้างพระพุทธรูปนั้น ได้มีการสร้างให้มีรูปลักษณะตามมหาปุริสลักษณะและให้มีความแตกต่างจากคนธรรมดาทั่วไป เช่นมีพระกรรณ (หู) ยาว มีพระเศียรแหลม และมีพระเมาลี (ผม) เป็นขมวดๆ เป็นต้น
ในลักษณะต่างๆ ดังกล่าว ได้แฝงคติธรรมและลักษณะสำคัญของพระพุทธองค์ไว้ เช่น พระเศียรแหลมหมายถึง การมีพระปัญญาอันเฉียบแหลม, การมีพระเมาลีเป็นขมวดๆ อันหมายถึงความยุ่งยากหรือความทุกข์ต่างๆ ของมนุษย์ แต่เหนือขมวดคือปัญหานั้น มีปัญญาอันเฉียบแหลมที่สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้
พระกรรณยาว หมายถึง ลักษณะคำสอนของพระพุทธองค์ที่สอนให้สาวกใช้ปัญญาในการพิจารณาสิ่งต่างๆ อย่างมีเหตุผล ไม่ให้หูเบาเชื่ออะไรง่ายๆ โดยขาดการพิจารณาไตร่ตรองให้ละเอียด การที่มีลักษณะหูยาวจึงหมายถึงให้หูหนักอย่าหูเบานั่นเอง
พระเนตรมองทอดลงต่ำ หมายถึงคำสอนทางพระพุทธศาสนาที่สอนให้มองที่ตนเอง พัฒนาตนเองให้เป็นผู้ประเสริฐตามหลักไตรสิกขา ให้พัฒนาตนเองเป็นหลักสำคัญ โดยยึดเอากายอันยาววาหนาคืบกว้างศอกเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา ไม่ควรมุ่งแสวงหาแต่สิ่งภายนอกจนลืมฝึกตนเอง
พระบาทเสมอกัน หมายถึงพระพุทธองค์ทรงมีพระกรุณาในสรรพสัตว์ทั้งหลายอย่างเสมอเท่าเทียมกัน ไม่เกลียดหรือโกรธใครเลยแม้แต่น้อย
ลักษณะของพระพุทธรูป จึงมีความหมายดังกล่าวมานี้ สาระสำคัญพระพุทธรูป คือ สัญลักษณ์แทนพระรูปกายของพระพุทธเจ้าสำหรับสักการะบูชา เพื่อระลึกถึงพระคุณอันประเสริฐของพระพุทธองค์ ได้แก่ พระกรุณาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระปัญญาคุณ แล้วน้อมเอาพระคุณนั้นมาใส่ไว้ในตน อันเป็นการเจริญรอยตามพระจริยวัตรของพระพุทธองค์
การกราบไหว้พระพุทธรูปได้น้อมจิตใจให้เกิดความสงบเป็นพุทธานุสติ ระลึกถึงพระเกียรติคุณอันงดงามของพระบรมศาสดา นอกจากนั้น ลักษณะของพระพุทธรูปยังแฝงด้วยคติธรรมทางพระพุทธศาสนาที่สอนใจพุทธศาสนิกชนให้เกิดความตระหนักในการกระทำในสิ่งที่ดีงาม
[1] ที. มหา. 10/29/11 ในมัชฌิมนิกาย พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ ได้กล่าวถึงมหาปุริสลักษณะของพระพุทธเจ้า ๓๒ ประการ ได้แก่ ๑. มีพระบาทเรียบเสมอกัน ๒.ใต้ฝ่าพระบาททั้งสองเป็นรูปจักรปรากฏ ๓. มีส้นพระบาทยาว ๔. มีพระองคุลียาว ๕. มีฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทอ่อนนุ่ม ๖. มีฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทมีลายดุจตาข่าย ๗. มีพระบาทเหมือนสังข์คว่ำ ๘. มีพระชงฆ์รีเรียวดุจแข้งเนื้อทราย ๙. มีพระหัตถ์ยาว ๑๐. มีพระคุยหะเร้นอยู่ในฝัก ๑๑. มีพระฉวีวรรณเหมือนทอง ๑๒. มีพระฉวีละเอียด ๑๓. มีพระโลมชาติเส้นหนึ่งๆเกิดในขุมละเส้นๆ ๑๔. มีพระโลมชาติที่มีปลายช้อยขึ้นข้างบนมีสีเขียวมีสีเหมือนดอกอัญชัญขดเป็นกุณฑลทักษิณาวัฏ ๑๕. มีพระกายตรงเหมือนกายพรหม ๑๖. มีพระมังสะเต็มในที่๗สถาน ๑๗. มีกึ่งพระกายท่อนบนเหมือนกึ่งกายท่อนหน้าของสีหะฯ ๑๘. มีระหว่างพระอังสะเต็มฯ ๑๙. มีปริมณฑลดุจไม้นิโครธ วาของพระองค์เท่ากับพระกายของพระองค์ ๒๐. มีลำพระศอกลมเท่ากัน ๒๑. มีปลายเส้นประสาทสำหรับนำรสอาหารอันดี ๒๒. มีพระหนุดุจคางราชสีห์ ๒๓. มีพระทนต์๔๐ ซี่ ๒๔. มีพระทนต์เรียบเสมอกัน ๒๕. มีพระทนต์ไม่ห่าง ๒๖. มีพระทาฐะขาวงาม ๒๗. มีพระชิวหาใหญ่ ๒๘. มีพระสุรเสียงดุจเสียงแห่งพรหมตรัสมีสำเนียงดังนกการเวก ๒๙. มีพระเนตรดำสนิท ๓๐. มีดวงพระเนตรดุจตาแห่งโค ๓๑. มีพระอุณณาโลมบังเกิด ณ ระหว่างแห่งขนงมีสีขาวอ่อนเปรียบด้วยนุ่น ๓๒. มีพระเศียรดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์
โดย พระมหาบุญเพียร ปุญญวิริโย จากสื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI) ชุด พุทธประวัติ ฉบับ CD-ROM จัดทำโดย ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ ห้องเรียนวัดศรีบุญเรือง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่