ประวัติเหรียญปราบฮ่อ เหรียญบำเหน็จความกล้าหาญ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเหรียญราชอิสริยาภรณ์ขึ้นเพื่อเป็นการบำเหน็จความดีความชอบให้แก่ผู้ไปราชการสงครามปราบฮ่อเมื่อปี พ.ศ. 2427 เรียกว่า “เหรียญปราบฮ่อ”
ลักษณะเหรียญปราบฮ่อเป็นเหรียญเงินรูปกลม ด้านหน้าเป็นพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระพักตร์เสี้ยว ผินพระพักตร์ไปทางซ้าย มีพวงมาลัยรองรับ เบื้องบนมีอักษรไทยตามแนวของขอบเหรียญว่า “จุฬาลงกรณ บรมราชาธิราช” ด้านหลังเป็นรูปพระสยามเทวาธิราชทรงช้างถือพระแสงของ้าว มีควาญช้างอยู่ท้ายช้างคนหนึ่ง รองรับด้วยกลุ่มแพรแถบ เบื้องบนของรูปนั้นมีอักษรไทยข้อความว่า “ปราบฮ่อ ๑๒๓๙ ๑๒๔๗ ๑๒๔๙”
เหรียญปราบฮ่อนี้ใช้ห้อยกับแพรแถบสีดำริมสีเหลือง ขนาดกว้าง 2.5 เซนติเมตร ที่แพรแถบประดับเข็มบอกปีจุลศักราชที่มีการปราบฮ่อ ได้แก่ “๑๒๓๙” (พ.ศ. 2420) “๑๒๔๗” (พ.ศ. 2428) และ “๑๒๔๙” (พ.ศ. 2430) ซึ่งใช้ประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย เข็มปีจุลศักราชที่ประดับบนแพรแถบจะประดับให้สำหรับผู้ที่ไปราชการสงครามปราบฮ่อแต่ละคราว ๆ ไป
เหรียญปราบฮ่อนี้ไม่มีการกำหนดอัตราการพระราชทาน ผู้ที่ได้รับพระราชทานเหรียญนี้จะไม่ได้รับประกาศนียบัตรกำกับ แต่จะได้รับการประกาศชื่อลงในราชกิจจานุเบกษา ปัจจุบันเหรียญนี้พ้นสมัยการพระราชทานแล้ว
เหรียญปราบฮ่อนี้ทางรัฐบาลสยามได้ว่าจ้างให้บริษัทบีกริมแอนด์โกผลิตเหรียญปราบฮ่อที่ประเทศเยอรมนี ซึ่งผลิตเพียง 500 เหรียญ เมื่อปี พ.ศ. 2436 จากนั้นได้จัดส่งมายังประเทศสยามในปีถัดมา และได้เริ่มพระราชทานเป็นระยะ ๆ โดยมีการพระราชทานครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2441 จำนวน 49 คน
สำหรับเหรียญที่ผมนำมาประกอบบทความนี้ เจ้าเดิมทำการล้างเหรียญใหม่ แสดงถึงเนื้อเงินแท้ ๆ อย่างสวยงาม
ที่มา : เหรียญปราบฮ่อ