วัตถุมงคลศักดิ์สิทธิ์จริงหรือ
มีผู้กราบเรียนถามหลวงปู่ดูลย์ อตุโล วัดบูรพาราม เกี่ยวกับวัตถุมงคล พระเครื่อง เครื่องรางต่าง ๆ ว่ามีความศักดิ์สิทธิ์จริงหรือไม่ ซึ่งท่านก็ได้เมตตาให้คำตอบ ดังมีเรื่องเล่าต่อไปดังนี้
หลวงปู่เล่าว่า ครั้งหนึ่ง มีพวกสาธุชนปัญญาชนกลุ่มหนึ่ง มาสนทนาธรรมด้วย และถามท่านว่า
“วัตถุมงคลมีความศักดิ์สิทธิ์จริงหรือ หลวงปู่จึงได้สร้างหรืออนุญาตให้สร้างเหรียญขึ้น ?”
หลวงปู่จึงวิสัชนาว่า
“พวกท่านทั้งหลาย แสดงความสนใจในการบำเพ็ญภาวนา ก็พากันบำเพ็ญภาวนาไป ไม่ต้องไปห่วงไปสนใจกับวัตถุมงคล อันเป็นของภายนอกนี้ แต่สำหรับผู้มีจิตใจเพลิดเพลินอยู่ ยังยินดีในการเกิดตายในวัฏสงสาร ยังไม่สามารถหันมาสู่การปฏิบัติธรรมได้ ให้อาศัยวัตถุภายนอก เช่น วัตถุมงคลเช่นนั้น เป็นที่พึ่งไปก่อน อย่าไปตำหนิติเตียนอะไรเลย
ครั้นเขาเหล่านั้นประสบเหตุเภทภัย มีอันตรายแก่ตน และเกิดแคล้วคลาดด้วยคุณแห่งพระรัตนตรัยก็ดี โดยบังเอิญก็ดี ก็จะเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาได้ในภายหลัง ซึ่งก็จะเป็นเหตุ ให้เจริญงอกงาม ในทางที่ถูกต้องได้เอง
สำหรับผู้ที่มีศรัทธามากแล้ว ชอบการบำเพ็ญภาวนาจิตใจในธรรมปฏิบัติอันยิ่งๆ ขึ้นไป”
ในเรื่องวัตถุมงคลนี้ หลวงปู่จะบอกตามสัจธรรมว่า ไม่มีอะไร เป็นเพียงช่วยด้านกำลังใจเท่านั้น
หลวงปู่มักกล่าวว่า
“เอาไปทำไม ของที่เป็นภาระต้องเอาใจใส่ดูแล ของที่ต้องทิ้งเสียในภายหลัง”
แล้วท่านก็สอนเป็นปริศนาธรรมว่า
“จงเอาสิ่งที่เอาได้ จงอย่าเอาสิ่งที่เอาไม่ได้”
ถ้ามองในแง่ของปุถุชนสามัญธรรมดาแล้ว ความศักดิ์สิทธิ์แห่งคุณพระรัตนตรัย ย่อมมีปรากฏเป็นอัศจรรย์ได้ ดังเช่นพระพุทธานุภาพแห่งพระบรมศาสดา ที่ได้ทรงแสดงแก่เหล่าเดียรถีย์นอกศาสนา
ดังนั้น ความอัศจรรย์ของอานุภาพ แห่งคุณพระรัตนตรัยจะบังเกิดคุณประโยชน์อย่างไร ขอท่านทั้งหลาย พึงพิจารณาถือเอา ตามสมควรแก่ตน เทอญ
ที่มา : หลวงปู่ดูลย์ อตุโล วัดบูรพาราม
ส่วนตัวผม ชอบในคำตอบของหลวงปู่ โดยเฉพาะที่ว่า
- หากมุ่งมั่นภาวนาเพื่อหลุดพ้นจากการเกิดตายในวัฏสงสารก็ไม่ต้องสนใจกับสิ่งเหล่านี้ (ไม่ต้องถาม ไม่ต้องสงสัย)
- แต่หากตนเองยังทำไม่ได้ยังยินดีในการเกิดตายในวัฏสงสารอยู่ อย่าไปตำหนิบุคคลที่สนใจหรือพึ่งพาวัตถุมงคล เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่ง วัตถุมงคลนั้นอาจจะทำให้เขาเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา และหันมาสู่เส้นทางที่ถูกต้องและเจริญงอกงามได้
- วัตถุมงคล เป็นเพียงช่วยด้านกำลังใจเท่านั้น
- (วัตถุมงคล) เอาไปทำไม ของที่เป็นภาระต้องเอาใจใส่ดูแล ของที่ต้องทิ้งเสียในภายหลัง
- จงเอาสิ่งที่เอาได้ จงอย่าเอาสิ่งที่เอาไม่ได้
อ่านเพิ่มเติม…ประวัติ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล