เนื่องจากมีผู้สอบถามมาว่า “มวลสาร มีความสำคัญต่อการสร้างพระให้ศักดิ์สิทธิ์ไหม ?” ผมเองก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องมวลสาร ไม่เคยสร้างพระเครื่อง ไม่เคยปลุกเสกพระเครื่อง
มวลสารสร้างพระ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม
ผมขอแบ่งมวลสารในการสร้างพระเป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่
- มวลสารที่มีความศักดิ์สิทธิ์ตามธรรมชาติ คือมวลสารที่เชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์อยู่ในตัว แม้ไม่ได้ปลุกเสก หรือเมื่อนำมาปลุกเสกแล้วก็จะเพิ่มความเข้มขลังยิ่งขึ้น เช่น ว่านต่าง ๆ ดินกากยายักษ์ ผงงาช้าง ไม้ไผ่ตัน เป็นต้น
- มวลสารที่ต้องทำพิธีปลุกเสก เช่น ผงแป้ง ดิน ผงธูป ซึ่งต้องนำมาทำพิธีปลุกเสก หรือต้องนำมาทำเป็นแท่งแล้วลบผงตามกรรมวิธีจึงมีความศักดิ์สิทธิ์
ในมวลสารทั้ง 2 กลุ่ม นี้ ยังต้องแยกเป็นประเภทออกไปอีก เช่น เมตตา มหาเสน่ห์ คงกระพัน มหาลาภ เป็นต้น
ผู้มวลสาร มีความสำคัญต่อการสร้างพระให้ศักดิ์สิทธิ์ไหม
วัตถุมงคล หรือพระเครื่องนั้น แม้จะสร้างด้วยวัตถุมวลสารใด ๆ ก็ตาม ผมไม่มีความสามารถตรวจสอบความศักดิ์สิทธิ์ แต่หากเราทราบว่า พระเครื่องนั้นสร้างด้วยมวลสารที่เรามีความเชื่อมั่นว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ ก็จะทำให้เราเพิ่มความมั่นใจมากยิ่งขึ้น อย่างเช่นพระขุนแผนครูบาจันต๊ะ กล่าวกันว่ามีส่วนผสมของผงพรายกุมารหลวงปู่ทิม เราก็เชื่อว่าทำให้มีความศักดิ์สิทธิ์มาก ทั้ง ๆ ที่เราไม่มีอะไรเป็นเครื่องพิสูจน์เลยว่าผงพรายกุมารมีความศักดิ์สิทธิ์อย่างไร อีกทั้งยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าอันไหนคือผงพรายแท้ อันไม่แท้ แต่หากเรามีความเชื่อก็จะเชื่อมั่นว่ามีความศักดิ์สิทธิ์
ครูบาอาจารย์บางท่านกล่าวว่า ความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นอยู่กับผู้เสก ถ้าเสกเก่ง เสกอะไรก็เก่ง แม้ผงพรายกุมารเองจะมีความศักดิ์สิทธิ์ได้ก็เพราะผู้เสกเก่ง หากผู้เสกไม่เก่ง เสกยังไงก็คงไม่ขลัง แม้จะทำกรรมวิธีเหมือนกันก็ไม่อาจจะขลังได้ เปรียบเหมือนคาถาต่าง ๆ คาถาเหมือนกัน บทเดียวกัน แต่คนหนึ่งสวดขลัง อีกคนและหลาย ๆ คนสวดไม่ขลังอะไรเลย