เหรียญรุ่น 9 หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดอุดมสมพร อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร ถือว่าเป็นเหรียญยอดนิยมอันดับต้น ๆ (ผมยกให้อันดับหนึ่ง) ของท่านในบรรดาเหรียญที่สามารถหาได้โดยง่าย (ยกเว้นเหรียญรุ่นแรก ซึ่งหาได้ยากยิ่ง)
เหรียญหลวงปู่ฝั้น รุ่น 9 สร้างเมื่อปี 2513 ออกปีเดียวกันกับเหรียญรุ่น 8 ห่างจากเหรียญรุ่นแรก 6 ปีที่สร้างในปี 2507 ออกแบบโดยนาวาเอก เกษม งามเอก เป็นเหรียญกึ่งทรงกลมกึ่งรูปไข่ ด้านหน้าตรงกลางเป็นรูปหลวงปู่ฝั้นแบบหันข้างครึ่งองค์ มีข้อความด้านบนว่า “พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร” และมีคำว่า “งามเอก” แบบกลับหัวติดขอบผ้าสังฆาฏิด้านไหล่ซ้ายของท่านซึ่งอยู่ติดขอบเหรียญ
ด้านหลังตรงกลางเป็นรูปเครื่องอัฐบริขารอันเป็นสัญลักษณ์ของพระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ด้านใต้มีคาถา นะโมพุทธายะ และชื่อวัดอุดมสมพร ส่วนขอบด้านบนทั้งสองข้าง เป็นคาถานกยูงทองอันเป็นพระคาถาศักดิ์สิทธิ์ประจำพระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น
เหรียญหลวงปู่ฝั้น รุ่น 9 สร้างกี่เนื้อ
เหรียญหลวงปู่ฝั้น รุ่น 9 สามารถแยกเนื้อต่าง ๆ โดยละเอียด ได้ดังนี้
1. เหรียญหลวงปู่ฝั้น รุ่น 9 เนื้อเงิน
2. เหรียญหลวงปู่ฝั้น รุ่น 9 เนื้ออัลปาก้า
3. เหรียญหลวงปู่ฝั้น รุ่น 9 เนื้อฝาบาตร
4. เหรียญหลวงปู่ฝั้น รุ่น 9 เนื้อฝาบาตรกะไหล่ทอง
5. เหรียญหลวงปู่ฝั้น รุ่น 9 เนื้อทองแดงรมดำ
6. เหรียญหลวงปู่ฝั้น รุ่น 9 เนื้อทองแดงกะไหล่เงิน
7. เหรียญหลวงปู่ฝั้น รุ่น 9 เนื้อทองแดงกะไหล่ทอง
เหรียญหลวงปู่ฝั้น รุ่น 9 สร้างกี่บล็อก
เหรียญหลวงปู่ฝั้น รุ่น 9 แบ่งเป็น 3 บล็อก ได้แก่
1. บล็อกอัลปาก้า หรือ บล็อกลึก ใช้ปั้มเหรียญเนื้ออัลปาก้า เนื้อเงิน เป็นบล็อกที่มีความคมลึกกว่าบล็อกอื่น ๆ และที่ชัดเจนกว่าบล็อกอื่นคือตรงบริเวณเส้นขอบไหล่ตัดตรง มีความคมชัดลึกกว่าทุกบล็อก
2. บล็อกทองแดง ใช้ปั้มเนื้อทองแดง บล็อกนี้ด้านหน้าจะมีความคมชัดน้อยกว่าบล็อกอัลปาก้าเพียงเล็กน้อยเส้นขอบไหล่จะตื้นกว่าบล็อกอัลปาก้า แต่ก็ยังคมชัดกว่าบล็อกฝาบาตร
3. บล็อกฝาบาตร บล็อกนี้ใช้ปั้มเนื้อฝาบาตร บล็อกนี้จะเป็นพัฒนาการที่มีรายละเอียดเพิ่มเติมเข้ามา โดยเฉพาะที่เรียกว่าพิมพ์นิยมซึ่งจะมีเส้นสายฝนหลายเส้นพาดผ่านคำว่าฝั้นและ อา ของคำว่าอาจาโร หากมีเส้นสายฝนดังกล่าวถือว่านิยมกว่าเหรียญอื่นที่ไม่มีสายฝนในบรรดาเนื้อฝาบาตรด้วยกัน และด้านหลังจะมีเส้นพุ่งขึ้นจากสายบาตรบริเวณกาน้ำ และขอบไหล่ของหลวงปู่ฝั้นจะมีความตื้นกว่าสองบล็อกข้างต้น
- มีการปั้มสลับบล็อกบ้างแต่มีไม่มาก พบเจอน้อยจนบางคนเข้าใจว่าเป็นพระไม่แท้ ระหว่างบล็อกอาปาก้า และบล็อกทองแดง หากท่านเข้าไปดูภาพในทำเนียบเหรียญหลวงปู่ฝั้น รุ่น 9 จะเห็นว่าเนื้ออัลปาก้ามีทั้งไหล่คมชัด และไหล่ไม่คมชัด (เนื้ออัลปาก้าไหล่จม) ส่วนเนื้อทองแดงก็มีทั้งไหล่คมชัดและไหล่ไม่คมชัด ดูทำเนียบหลวงปู่ฝั้น รุ่น 9 ส่วนบางท่านมีความเห็นว่า เหรียญหลวงปู่ฝั้น รุ่น 9 เนื้ออัลปาก้าไหล่ไม่คม (ไหล่จม) ไม่แท้ จริง ๆ แล้วไม่แท้เพราะอย่างอื่นมากกว่า เช่น จีวรแตก โรแตก ดูเพิ่มเติมในบทความ วิธีดูเหรียญหลวงปู่ฝั้น รุ่น 9 จีวรแตก โรแตก ไม่แท้ ไม่ใช่ไม่แท้เพราะไหล่ไม่คม (ไหล่จม) แต่เหรียญหลวงปู่ฝั้น รุ่น 9 ไม่แท้ เนื้ออัลปาก้า จีวรแตก โรแตก มักมาพร้อมกับไหล่ไม่คม (ไหล่จม) จึงทำให้ถูกมองว่าไหล่ไม่คม (ไหล่จม) ไม่แท้
- สำหรับบล็อกเนื้อทองแดงถูกนำไปปั๊มใหม่ในรุ่น10-25-36-43 โดยด้านหลังถูกแกะขึ้มาใหม่ตามรุ่นนั้น ๆ
ความคิดเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับบล็อกเหรียญ หลวงปู่ฝั้น รุ่น 9
ผม (พระคุ้มครอง) เพิ่งจะได้ศึกษาเหรียญหลวงปู่ฝั้น รุ่น 9 และไม่มีเหรียญหลวงปู่ฝั้น รุ่น 9 ทุกเนื้อ อีกทั้งไม่มีเหรียญหลวงปู่ฝั้นรุ่นอื่น ๆ ที่ใช้หน้า รุ่น 9 ไว้ศึกษา จึงมีความสงสัยอยู่ว่า บล็อกเหรียญหลวงปู่ฝั้น รุ่น 9 ทั้ง 3 บล็อกที่กล่าวมาข้างต้น มีบล็อก 3 ตัว หรือจริง ๆ แล้วมีบล็อกแค่ตัวเดียว แต่ถูกแต่ง 2-3 ครั้ง เช่น ปั้มเนื้ออัลปาก้า (และเนื้อเงิน) ก่อน และทดลองปั้มเนื้อทองแดงบ้างนิดหน่อยทำให้มีเนื้อทองแดงไหล่คม แล้วแต่งบล็อกใหม่ทำให้ไหล่ไม่คม (แต่งครั้งที่ 1) จากนั้นก็ปั้มเนื้ออัลปาก้าอีก แต่ปรากฏว่าไม่ค่อยสวย จึงหยุดปั้มเนื้ออัลปาก้า ทำให้ได้เนื้ออัลปาก้าไหล่ไม่คม (ไหล่จม) จำนวนนิดหน่อย เป็นที่มาของการสลับบล็อกกันระหว่างเนื้ออัลปาก้าและเนื้อทองแดงบ้างนิดหน่อย จึงกลับมาปั้มเนื้อทองแดงตามความต้องการ จากนั้นจึงถอดบล็อกออกมาแต่ง (แต่งครั้งที่ 2) แล้วจึงปั้มเนื้อฝาบาตร (หรืออาจจะปั้มเนื้อฝาบาตรบ้างนิดเหน่อยแล้วจึงค่อยถอดบล็อกออกมาแต่ง จึงได้เนื้อฝาบาตรที่ไม่มีสายฝนเหมือนเนื้อทองแดงและเนื้อฝาบาตรมีสายฝนหลังจากที่แต่งบล็อกใหม่แล้ว)
ต่อมา ผมได้เห็นภาพเหรียญหลวงปู่ฝั้น รุ่น 17 ซึ่งระบุว่าหน้ารุ่น 9 ซึ่งไหล่มีความคมชัด งามเอกไม่แตก จึงเข้าใจว่าน่าจะใช้บล็อกอัลปาก้ารุ่น 9 ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็แสดงว่าเหรียญรุ่น 9 มีบล็อก 3 ตัวจริง ๆ ตามที่ พลศรีทองพระเครื่อง ได้กล่าวไว้ ยกเว้นแต่ เหรียญรุ่นที่ 17 หน้ารุ่น 9 ไม่มีจริง
อย่างไรก็ตาม เป็นแค่ข้อสันนิษฐานอันเกิดจากความสงสัยของผมเท่านั้นนะครับ ไม่ได้รับประกันความถูกต้อง ไม่มีหลักฐานที่เป็นเอกสารในการอ้างอิง
ทำไมเหรียญหลวงปู่ฝั้น รุ่น 9 จึงได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
1. เป็นเพราะบารมีธรรม บารมีศีล บารมีปฏิปทาวัตรปฏิบัติของหลวงปู่ฝั้น ซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาของพุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดสกลนคร จังหวัดใกล้เคียง ภาคอีสาน และทุกภาคของประเทศไทย
2. เป็นเพราะประการณ์ของผู้นำไปบูชา ต่างก็ได้รับประสบการณ์ดี ๆ โดยเฉพาะในด้านแคล้วคลาดปลอดภัย และเมตตามหานิยม
3. เหรียญหลวงปู่ฝั้น รุ่น 9 ได้รับการออกแบบอย่างสวยงาม เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยช่างชื่อดังแห่งยุค คือ นาวาเอก เกษม งามเอก ซึ่งท่านเป็นผู้มีประสบการณ์ในการออกแบบเหรียญพ่อแม่ครูอาจารย์เป็นจำนวนมาก
4. ชื่อรุ่น 9 ซึ่ง คนไทยถือว่าเป็นเลขมงคล เป็นคำอันเป็นมงคล เป็นเสียงอันเป็นมงคล สื่อความหมายถึงความเจริญก้าวหน้า ไม่หยุดอยู่กับที่
5. เหรียญรุ่น 9 หลวงปู่ฝั้น เป็นเหรียญที่มีความคมชัดสวยงามลงตัว ไม่เล็กหรือใหญ่จนเกินไป เหมาะกับทุกคนทั้งชายและหญิง
พุทธคุณ เหรียญหลวงปู่ฝั้น รุ่น 9
สำหรับพุทธคุณเหรียญรุ่น 9 เท่าที่ทราบมา โดดเด่นเป็นอย่างมาก ในด้านแคล้วคลาดปลอดภัย เมตตามหานิยม สมกับบารมีแห่งองค์หลวงปู่ และพระคาถานกยูงทองอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งมาในโมรปริตร
ที่มา เหรียญพระอาจารย์ฝั้น รุ่น 9 งามเอก เนื้อทองแดง โดย พลศรีทองพระเครื่อง