พระในพิธีมงคลมหาลาภ พ.ศ.2499 ของวัดสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานครเป็นพระสมเด็จแบบสมเด็จพระพุฒาจารย์ พระแบบสมเด็จพระพุฒาจารย์ พระพุทโธน้อย พระวัดตะไกร และพระแบบวัดนางพระยา ฯลฯ และแบบอื่น ๆ อีกหลายพิมพ์
พระเครื่องต่าง ๆ เหล่านี้สร้างเพื่อเป็นที่ระลึกในงานสมโภชพระพุทโธภาสชินราชจอมมุนี ซึ่งสร้างประดิษฐานไว้ที่วัดสัมพันธวงศ์ เขตพระนคร แล้วจึงอัญเชิญไปประดิษฐานเป็นพระประธาน ณ วัดสารนาถธรรมราม อ.แกลง จ.ระยอง พร้อมด้วยพระอัครสาวกเบื้องขวาเบื้องซ้าย คือพระสารีบุตรเถระ และพระโมคคัลลานเถระ เมื่อวันที่ 5-31 มีนาคม ในปี พ.ศ. 2499
พิธีพุทธาภิเษก มงคลมหาลาภ วัดสัมพันธวงศ์ ปี 2499
พระเครื่องรุ่นนี้ ได้รับการอธิษฐานจิตโดยคุณแม่บุญเรือน วัดอาวุธวิกสิตาราม และ พระคณาจารย์อีกหลายท่าน เช่น
หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร
หลวงปู่ขาว วัดถ้ำกลองเพล
หลวงปู่ดุลย์ อตุโล วัดบูรพาราม
หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี
หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ
หลวง พ่อเงินวัดดอนยายหอม เป็นต้น
นอกจากนั้นได้รับการอธิษฐานจิตปลุกเสกซ้ำอีกที่วัดสารนาถธรรมาราม จ.ระยอง
พิธีพุทธาภิเษก มงคลมหาลาภ วัดสารนาถธรรมาราม ปี 2499
ได้นิมนต์พระสายตะวันออก มีจังหวัดระยอง จังหวัดใกล้เคียง และสายกรรมฐาน เช่น
หลวงพ่อโต วัดเขาบ่อทอง
หลวง ปู่ทิม วัดละหารไร่
หลวงพ่อลี วัดป่าคลองกุ้ง
อาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม
พระมงคลมหาลาภ แม่ชีบุญเรือน เป็นประธานจัดสร้างและคุมงาน
พระในพิธีทั้งหมดนี้จัดสร้างขึ้นในงานสมโภชน์พระพุทโธภาสชิน ราชจอมมุนี ในขณะที่แม่ชีบุญเรือน เป็นประธานจัดสร้างและคุมงานเอง
กล่าวกันว่าแม่ชีบุญเรือนท่านได้สำเร็จอภิญญาชั้นสูง เปี่ยมด้วยบุญฤทธิ์และอิทธิฤทธิ์ ท่านอธิษฐานจิตให้ต้นมะม่วงอ่อนออกดอกผลได้ภายในคืนเดียว แม้แมื่อมรณภาพแล้วอัฏฐิก็ยังแปรสภาพเป็นพระธาตุ พระของคุณแม่เซียนใหญ่หลายคนยังอาราธนาขึ้นคอเป็นพระประจำกาย คุณแม่ชีท่านนำเอาดินจากพระกรุเก่า ๆ ต่าง ๆ ที่ชำรุดและดอกผลของมะม่วงดังกล่าวมาสร้างพระเครื่องต่าง ๆ
พิธีมงคลมหาลาภ 2499 ยิ่งใหญ่
พิธีมงคลมหาลาภ นับว่าเป็นพิธีที่ยิ่งใหญ่ กล่าวได้ว่าไม่เหมือนที่ไหน คือจัดที่บูชาพร้อมเครื่องสังเวยต่าง ๆ มีเทียนธูป ข้าวตอก ดอกไม้ 7 สี อาหารผลไม้ถึงอย่างละ 3 7 5 ที่มีเบญจา มีเศวตฉัตร 9 ชั้น สูงถึง 6 ศอก 8 ต้น บายศรีเงิน บายศรีทอง 9 ชั้น สูง 6 ศอก อย่างละ 8 ต้น บรรจุพระพุทธมนต์ลงไปในน้ำ และผงที่จะสร้างพระนั้น โดยทำการนิมนต์อาจารย์ผู้มีชื่อเสียงหลายวัดทำพิธีประจุมนต์ เข้าพิธีปลุกเสกมีพระเกจิที่มีชื่อเสียง อย่างเช่น
พระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ) วัดบวรนิเวศวิหาร
พระวรเวทย์คุณาจารย์ (เมี้ยน ปภสสโร) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
พระมหารัชชมังคลาจารย์
พระมงคลเทพมุนนี จนฺทสโร (สด มีแก้วน้อย) วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
พระครูวินัยธรเฟื้อง (ญาณปปทีโป)
หลวงพ่อลี วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ (ช่วยทำพิธีและประสานงานด้วย)
พระสอาด อภิวัฑฒโน วัดสัมพันธวงศ์
พระครูนอ วัดกลางท่าเรือ อยุธยา
พระอาจารย์บุ่ง วัดใหม่ทองเสน
พระชอบ สัมจารี วัดอาวุธวิธกสิตาราม ธนบุรี เป็นต้น
พร้อมด้วยบรรจุเทพมนต์พรหมมนต์ โดยเชิญเทพแลพรหมผู้มีชื่อเสียงที่มีอายุมาก มาเข้าพิธีอธิษฐานบรรจุมนต์ลงด้วย และบรรจุมนต์โยคีโดยโยคีฮาเร็บ (อาจารย์ชื่น จันทรเพ็ชร) ผู้มีชื่อเสียงและ พ.ต.อ.ชะลอ อุทกภาชน์ ผู้เป็นศิษย์เป็นผู้ทำพิธีบรรจุ เสร็จพิธีแล้ว จึงได้ใช้ผงประสมทำเป็นองค์พระได้มงคลฤกษ์ จึงได้ทำพิธีปลุกเสกพระเครื่องนั้นอีกครั้งหนึ่ง
พระเครื่องที่จะทำพิธีปลุกเสกนั้น ถูกห่อด้วยผ้าขาว 7 ชั้น ผ้าเขียว 7 ชั้น พิธีนอกนั้นเหมือนเมื่อเมื่อบรรจุมนต์ลงในผงแลน้ำที่จะสร้างพระ
ได้ตั้งน้ำมนต์สำหรับแจกผู้ที่ต้องการซึ่งมาร่วมพิธี 40 ตุ่ม แต่ไม่ได้กล่าวถึงผงที่นำมาประสมสร้างพระนั้นว่ามีอะไรบ้าง เนื่องจากมีผู้สนใจใครรู้อยู่เป็นจำนวนมาก จึงสมควรเขียนประวัติผงวิเศษนี้
ผงวิเศษสำหรับสร้างพระมงคลมหาลาภ ปี 2499
1.ผงจากพระอาจารย์ต่าง ๆ ที่ท่านทำและรวบรวมไว้จากวัดต่าง ๆ เช่น วัดพระเชตุพน วัดตรีทศเทพ และวัดสัมพันธวงศ์ ฯลฯ ผงแป้งที่ทำจากพระของเก่าบ้าง
2.ผงพระที่ทำด้วยว่านต่างๆ ที่นิยมว่าเป็นมงคลศักดิ์สิทธิ์ 108 อย่าง ทำจากดอกไม้บูชาพระต่าง ๆ 108 อย่าง
3.ผงที่ทำด้วยดินจากท่าน้ำ 7 ท่าและจากสระน้ำ 7 สระ
4.ผงที่ได้จากการนำคัมภีร์เก่า ๆ ทั้งใบลานและสมุดข่อยมาเผาบด
5.ผงที่ได้จากดินสังเวยชนียสถาน 4 แห่งในอินเดีย ได้แก่
5.1 ดินที่ลุมพินีระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์และเทวทหะ ซึงเป็นที่ประสูติของพระพุทธเจ้า
5.2 ดินที่มหาโพธิ์ พุทธคยาที่ตรัสรู้
5.3 ดินที่สารนาถ มฤคทายวัน เมืองพาราณสี ซึ่งเป็นที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมจักร
5.4 ดินที่กุสินารา ซึ่งเป็นที่พระพุทธเจ้าดับขันธปรินิพพาน
6.ดินจากสถานที่สำคัญ 9 แห่ง คือดินจากสถานที่พระพุทธเจ้าเสด็จเสวยวิมุตติสุข 7 แห่ง บริเวณพุทธคยา มีที่รัตนะจงกลม แลที่สระมุจลิน เป็นต้น แลดินที่พระคันธกุฏีที่ประทับของพระพุทธเจ้าที่บนเขาคิชกูฏ
7.ผงปูนหินขาว ราชบุรี
8.ผงปูนซีเมนต์ขาว และนอกจากนี้ ก็ยังมีดินเหนียวอย่างดี สีเหลือง และน้ำอ้อย เป็นต้น
ผงเหล่านี้นั้น นำมาประสมกันมากบ้างน้อยมาก แล้วบดให้ละเอียดแล้วจึงกรองด้วยผ้าป่าน สำเร็จเป็นผงที่จะสร้างพระเครื่องใช้น้ำมนต์ที่ทำไว้ นั้นประสมกับของที่จะทำพระให้พระมีคุณภาพดี สวยงามทนทาน ศักดิ์สิทธิ์ต่อไป ประสมผงพิมพ์เป็นรูปพระพุทธมงคลมหาลาภบ้าง พระสมเด็จบ้าง ส่วนพระเครื่องอื่น ๆ สร้างด้วยดินประสมผงเผา แล้วจึงนำมาเข้าพิธีพุทธาภิเษกในคราวเดียวกันกับพระพุทธมงคลมหาลาภ เสร็จแล้วจึงแจกจ่ายในงานสมโภชพระพุทโธภาสชินราชจอมมุนี พร้อมด้วยพระอัครสาวก
ในการต่อมา พระเครื่องเหล่านี้ เมื่อแจกจ่ายแก่ผู้จำนงในงานผูกพัทธสีมา อุโบสวัดสารนาถธรรมารามแล้ว ก็จะได้จัดการทำบรรจุในอุโบสถ หรือเจดีย์ตามสมควรเพื่อเป็นมิ่งขวัญแก่สารนาถธรรมาราม อันเป็นมหาปูชนียสถานในกาลต่อไป
ข้อมูลอื่น ๆ เกี่ยวกับพระมงคลมหาลาภ
พระมงคลมหาลาภ เป็นพระนาคปรกสี่เหลี่ยม เนื้อผงขาว ด้านหลังเป็นยันต์เฑาะดอกบัว อะ อุ มะ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง พิมพ์เล็ก จำนวนการสร้าง 84,000 องค์ ซึ่ง “พระรัชชมงคลมุนี” (พระมหารัชชมังคลาจารย์) อดีตเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ ได้มอบให้ “พระชอบ สัมมาจารี” วัดอาวุธวิกสิตาราม กรุงเทพฯ สร้าง เพื่อนำมาแจกในงานสมโภชพระประธาน โดยส่ง “ผงอิทธิเจ ผงพุทธคุณต่าง ๆ เป็นแท่ง ๆ ประทับตรา “วัดสัมพันธวงศ์” ให้นำมาผสม โดยเรียก “พระนาคปรก” นี้ว่า “พระมงคลมหาลาภ” ซึ่งมีชื่อของท่านคือ
“พระรัชชมงคลมุนี” อยู่ในชื่อพระด้วย ในพิธีนี้แม่ชีบุญเรืยนได้อธิษฐานจิตร่วมอยู่ในพิธีด้วย
หลวงพ่อลี วัดอโศกการาม จ.สมุทรปราการ องค์ประสานงานพิธีพุทธาภิเษกครั้งนี้
ได้บอกศิษย์ว่า “พระผงนี้ดีมาก มีรังสี สีขาว และเหลืองกระจายออกสว่างไสว”
นอกนั้น ท่านยังได้ขอพระผงมงคลมหาลาภที่ชำรุดประมาณ 1 บาตรพระ นำไปบดใส่ “พระใบโพธิ์เนื้อดิน พ.ศ. 2500”ของท่านด้วย ขนาดขององค์พระ พิมพ์ใหญ่ ฐานกว้างประมาณ 2.5-3.8 ซม. หนา 0.5 ซม.
พิมพ์เล็ก ฐานกว้างประมาณ 2.2-2.5 ซม. หนา 0.5 ซม.
ด้านหลัง มีตราวัดสัมพันธวงศ์ “เฑาะรัศมีดอกบัว อ.อุ.ม. ประทับลงในเนื้อเป็นตรารูปไข่
ขนาดของ ความหนาไม่แน่นอน หนาบ้าง บางเฉียบบ้าง แล้วแต่ขนาด
พระพิมพ์นี้ คนระยอง คนจันทบุรี คนตราด อีกทั้งชาวประมงแถบภาคตะวันออก ห้อยองค์เดียวรู้ถึงพุทธคุณเป็นอย่างดีโดยเฉพาะช่วงท ี่มีใต้ฝุ่นเข้าแหลมตะลุมพุก ผู้ที่แขวนพระองค์นี้ลอยอย่างปาฏิหาริย์ จึงเป็นที่แสวงหากันมาก
ข้อมูลจากคำบอกเล่าของท่านเจ้าคุณ พระราชรัชมงคลโกวิท
พระราชรัชมงคลโกวิท เจ้าอาวาสวัดสารนาถธรรมาราม จ.ระยอง องค์ปัจจุบัน
เล่าว่า พิธีพุทธาภิเษกครั้งนี้ พระกรรมฐานสายพระอาจารย์มั่น ภูริทตโต
กว่าร้อยรูป มี พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พระอาจารย์วัน อุตตโม พระอาจารย์ลี วัดอโศการาม
เป็นต้น ทำพิธีนั่งปรกพุทธาภิเษกพระประธาน และพระเครื่องต่าง ๆ
มีพระมงคลมหาลาภ พระพุทโธน้อย เป็นต้น โดยทำพิธี 18 วัน 18 คืน
ท่านเล่าต่ออีกว่า ในชีวิตที่ท่านเกิดมา ยังไม่เคยเห็นพิธีพุทธาภิเษกที่ไหนใหญ่โตเท่าครั้งนี้อีกเลย