เมืองพิจิตร “ถิ่นประสูติพระเจ้าเสือ แข่งเรือยาวประเพณี พระเครื่องดีหลวงพ่อเงิน เพลิดเพลินบึงสีไฟ ศูนย์รวมใจหลวงพ่อเพชร รสเด็ดส้มท่าข่อย ข้าวเจ้าอร่อยลือเลื่อง ตำนานเมืองชาละวัน” อันที่จริงแล้วนอกจากพระเครื่องของหลวงพ่อเงิน วัดบางคลานแล้ว จังหวัดพิจิตรยังมีพระเครื่องอื่น ๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะพระเครื่องขนาดเล็กจิ๋ว ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน ของแท้นั้นหาชมได้ยากยิ่ง นั่นคือพระพิจิตรเขี้ยวงู
พระพิจิตรเขี้ยวงู
พระพิจิตรเขี้ยวงู เป็นพระกรุที่มีชื่อเสียงอีกองค์หนึ่งของเมืองพิจิตร นอกจากนั้นยังมีอีกพิมพ์เรียกตามลักษณะขององค์พระคือพระพิจิตรเม็ดน้อยหน่า พระทั้งสองพิมพ์นี้จะมีความคล้ายคลึงกันมากและยังออกจากกรุเดียวกันอีก แต่ถ้าเป็นกรุจากท่าฉนวนจะเป็นเนื้อผงใบลานเผาผสมด้วยดิน ออกสีดำ
พระพิจิตรเขี้ยวงู ถ้าเป็นพระเนื้อดินจะละเอียดสีออกไปทางดำ ส่วนพระกรุมะละกอเนื้อดินจะร่วนซุยสีน้ำตาล เนื่องจากไม่มีผสมของผงใบลาน และองค์พระไม่มีความหนึกนุ่นเหมือนกรุท่าฉนวน จึงทำให้พระพิจิตรเขี้ยวงูและ พระพิจิตรเม็ดน้อยหน่าจากกรุท่าฉนวน ได้รับความนิยม และมีราคาค่อนข้างแพงมากกว่าพระพิจิตรกรุมะละกอเป็นอย่างมาก
คนโบราณ โดยเฉพาะนักรบ นักเลงทั้งหลาย ตลอดถึงพ่อค้าวาณิช เวลาออกเดินทางไปไหนนิยมอมพระไว้ในปาก เนื่องจากพระพิจิตรเป็นพระขนาดเล็กมาก และสมัยโบราณไม่มีการเลี่ยมพระ ซึ่งพระพิจิตรบางองค์เมื่อผ่านการใช้มาก็จะมีคราบน้ำหมากของคนโบราณติดอยู่ที่องค์พระ
พระพุทธคุณพระพิจิตรเขี้ยวงู แม้ท่านขุนพันธ์ยังไว้วางใจ
พระพิจิตรเขี้ยวงูนั้น องค์พระมีขนาดเล็ก สูงประมาณ 1.5 เซนติเมตร พระพิจิตรไม่ว่าจะเป็นพิมพ์ไหน กรุไหนก็ตาม มีพระพุทธคุณโดดเด่นด้านคงกระพันชาตรี แคล้วคลาดปลอดภัย เรื่องพระพุทธคุณของพระพิจิตรด้านคงกระพันนี้ แม้แต่ท่านขุนพันธรักษ์ราชเดช เมื่อคราวเยี่ยมชม พิพิธภัณฑ์พระกํานันชูชาติ ยังต้องขอส่อง ซึ่งท่านสามารถดูได้จากคลิปประกอบบทความนี้ นอกจากนั้น ยังเชื่อกันว่าพระพิจิตรเขี้ยวงูมีพุทธคุณป้องกันอสรพิษได้ด้วย
เรื่องพระพุทธคุณของพระพิจิตรเขี้ยวงูในด้านคงกระพันชาตรีนั้น ยังมีเรื่องเล่ากันมาว่า นายบุญเพ็ง หีบเหล็ก ฆาตกรฆ่าหั่นศพใส่หีบเหล็กแล้วโยนทิ้งน้ำ อันเป็นที่มาของฉายาว่า บุญเพ็ง หีบเหล็ก ต่อมาเมื่อทางการจับได้และลงโทษตัดคอประหารชีวิต แต่ปรากฎว่าดาบของเพชรฆาตนั้นกลับไม่ระคายผิวของเขาแม้แต่น้อย จนเพชฌฆาตต้องกล่าวกับ บุญเพ็ง หีบเหล็ก ว่า แกมีอะไรดี ให้นำออกมาเสีย ไม่อย่างนั้นจะเอาไม้รวกสวนทวาร จะทำให้เกิดความเจ็บปวดทรมานกว่าเดิม บุญเพ็ง หีบเหล็ก จึงได้คายพระพิจิตรออกมา เพชฌฆาตจึงทำการประหารได้สำเร็จ ตำนานเรื่องเล่าของ บุญเพ็ง หีบเหล็ก ปรากฎอยู่ที่วัดภาษี เอกมัย กรุงเทพฯ นี้เอง ซึ่งทางวัดให้ทำรูปปั้นจำลองเล็ก ๆ ไว้ในศาล ซึ่งอยู่ติดกับวิหารเพื่อแสดงให้รู้ว่า เขาเป็นนักโทษคนสุดท้ายที่ถูกประหารด้วยวิธีนี้ เมื่อปี พ.ศ.2474