นวเศรษฐีในสมัยพุทธกาล
พระเศรษฐีนวโกฏิ หรือบางทีเรียกว่าพระนวเศรษฐี แต่ชาวบ้านอาจจะเรียกว่าพระเก้าหน้า เป็นรูปเคารพสื่อถึงมหาเศรษฐีทั้ง 9 ท่านซึ่งมีชีวิตอยู่จริงในสมัยพุทธกาล ท่านเหล่านี้นอกจากเป็นมหาเศรษฐรแล้วยังได้เป็นผู้สร้างคุณประโยชน์แก่ส่วนรวมทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี มีทรัพย์มากอยู่ในระดับเดียวกับกษัตริย์หรือบางทีอาจจะมากกว่ากษัตริย์เสียด้วยซ้ำ อีกทั้งยังเป็นผู้หนักแน่นในสัมมาทิฏฐิ เป็นอริยสาวกผู้มีจิตศรัทธาอุปฐากองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้เลิศในการให้ทาน เป็นยอดของมหาเศรษฐี เป็นมหาเศรษฐีเหนือเศรษฐีทั้งปวง เศรษฐีทั้ง 9 นี้ ได้แก่
- ท่านธนัญชัยเศรษฐี
- ท่านยสเศรษฐี
- ท่านสุมนเศรษฐี
- ท่านชฏิลเศรษฐี
- ท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐี
- ท่านเมนฑะกเศรษฐี
- ท่านโชติกเศรษฐี
- ท่านสุมังคลเศรษฐี
- ท่านวิสาขามหาอุบาสิกา
อาศัยคุณความดีของท่านเหล่านี้ ท่านผู้รู้จึงได้นำมาเป็นนิมิตหมายเพื่อสร้างเป็นองค์พระขึ้นมา รวมไว้ในองค์เดียวกันแต่ให้มีพระพักตร์ทั้งหมด 9 พระพักตร์ ซึ่งแทนใบหน้าของเศรษฐีทั้งเก้าซึ่งมีชีวิตอยู่จริงในสมัยพุทธกาล และเรียกขานว่า พระเศรษฐีนวโกฏิ ซึ่ง นว หรือ นะวะ แปลว่า 9 โกฏิ หมายถึง 10 ล้าน เป็นสังขยาหรือจำนวนนับที่มากที่สุดในสมัยนั้น ฉะนั้น เศรษฐีนวโกฏิ จึงน่าจะแปลว่า 9 เศรษฐีที่มีทรัพย์มากที่สุด หรือ ยอดเศรษฐี 9 ท่าน
ตำนานการสร้างพระเศรษฐีนวโกฏิ
มีเรื่องเล่ากล่าวถึงสมัยหนึ่งในล้านนาได้เกิดทุกข์เข็ญทุพภิกขภัยถึงขั้นข้าวยากหมากแพง ประชาชนเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า ครั้งนั้นมีพระภิกษุผู้มีปัญญา (ตำนานว่าเป็นอริยะ) รูปหนึ่ง ได้แนะนำให้สร้างพระเศรษฐีนวโกฏิขึ้น เพื่อให้ชาวบ้านได้ทำการสักการบูชาเป็นการแก้เคล็ดเพื่อให้ความทุกข์ยากได้เบาบางและหายไป เมื่อได้สร้างเสร็จและทำการฉลองเสร็จแล้ว ก็ได้ปรากฏเหตุการณ์อันเป็นที่น่าอัศจรรย์ขึ้นคือ ความทุกข์ยากแสนเข็ญ ความอดอยากทั้งหลายได้บรรเทาเบาบางลงและสงบระงับดับหายไปในที่สุด
สำหรับตำนานที่เกี่ยวกับชาวล้านนานั้นจะจริงหรือไม่ผมไม่ทราบ แต่เรื่องเศรษฐีนั้น 9 นั้นเป็นบุคคลที่มีอยู่จริงในสมัยพุทธกาล เป็นอริยสาวกจริง เป็นผู้ทำคุณประโยชน์ต่อส่วนรวมและพระพุทธศาสนาจริง และเป็นบุคคลที่ควรนำมาเป็นตัวอย่างได้เป็นอย่างดี
วิธีสร้างพระเศรษฐีนวโกฏิ
- หาไม้ที่เป็นมงคล เป็นต้นว่า ยอป่า ราชพฤกษ์ แกะเป็นพระคล้ายพระพุทธรูปแต่มี 9 พระพักตร์
- จารอักขระชื่อของเศรษฐีทั้ง 9 ลงบนแผ่นทองคำ เงิน หรือกระดาษแล้วม้วนเป็นตะกรุด
- เจาะรูที่ใต้ฐานพระ แล้วนำตะกรุดนั้นบรรจุเข้าไป
- นำครั่ง หรือ ชันโรง หรือ ขี้ผึ้ง อุดทับใต้ฐาน
อันที่จริงวิธีการสร้างพระเศรษฐรนวโกฏิตามตำรานั้น เป็นเรื่องที่ซับซ้อนเหมือนกัน มีเคล็ดปลีกย่อยมากมาย เช่น การเลือกไม้ การจารอักขระ การเลือกชันโรง การหาฤกษ์ยามที่เหมาะสม
คาถาบูชาพระเศรษฐีนวโกฏิ
เมื่อสร้างพระเศรษฐีนวโกฏิเสร็จแล้วหรือได้พระเศรษฐีนวโกฏิมาให้บูชาด้วยดอกไม้หลากสี น้ำสะอาด และกล่าวพระคาถาบูชา ดังนี้
“มาขะโย มาวะโยมัยหัง มาจะโกจิ อุปัททะโว ธัญญะธารานิ เม ปะวัสสันตุ ธะนัญชะยะ ยะสัสสะ ยะถา ฆะเร สุวัณณานิ หิรัญญา จะ สัพพะโภคา จะ ระตะนานิ ปะวัสสันตุ เม เอวัง ฆะเร สุมะนะ ชะฏิลัสสะ จะ อะนาถะปิณฑิกะ เมณฑะกัสสะ โชติกะ สุมังคะลัสสะ วิสาขามะหาอุปาสิกายะ ปะวัสสันติ ยะถา ฆะเร เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ สัพพะสิทธิ ภะวันตุ เม”
พุทธคุณ พระเศรษฐีนวโกฏิ
การได้สร้างหรือสักการบูชาพระเศรษฐีนวโกฏิเชื่อว่าจะนำมาซึ่งอานิสงส์ดังนี้
- จะอำนวยลาภผลโภคทรัพย์ตามสมควร
- ช่วยปกปักรักษาให้บ้านเรือนเกิดความร่มเย็นเป็นสุข
- มีความสุขสงบเจริญรุ่งเรือง
- ป้องกันภยันตรายสิ่งไม่ดีไม่งามต่าง ๆ ไม่ให้เกิดขึ้น