ปลาตะเพียน เป็นเครื่องรางมาแต่โบราณ ที่เหล่าพระเกจิอาจารย์ทำมอบให้ศิษย์ไว้เป็นนิมิตหมายให้ขยันหมั่นเพียร
กำเกิดเครื่องรางปลาตะเพียน
ตำนานเครื่องรางปลาตะเพียนหรือเหตุผลที่พระเกจิทั้งหลายทำปลาตะเพียนออกมาเป็นเครื่องรางนั้นพอสรุปได้ดังนี้
- พระโพธิสัตว์เคยเสวยพระชาติเป็นปลาตะเพียนเป็นการสั่งสมบุญบารมีของพระองค์อีกพระชาติหนึ่ง ก็เหมือนกับพญาเต่าเรือนนั่นแหล่ะครับ
- ปลาตะเพียนนั้นเป็นสัตว์น้ำที่หากินคล่องแคล่ว หากินอาหารง่าย ปราดเปรียวรวดเร็ว จึงใช้คุณสมบัตินี้มาสร้างเป็นเครื่องราง
- คำว่า “เพียน” จากปลาตะเพียนนั้นเวลาออกเสียงฟ้องเสียงกับคำว่า “เพียร” ซึ่งหมายถึงความขยันหมั่นเพียร อดทน ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใด ๆ จึงใช้นิมิตนี้เป็นสื่อในการสอนลูกศิษย์ให้มีความขยันหมั่นเพียรในการทำมาหากิน
รูปลักษณ์การสร้างเครื่องรางปลาตะเพียน
วัตถุมวลสารที่ใช้ในการสร้างเครื่องรางปลาตะเพียนนั้น แล้วแต่พระเกจิอาจารย์หรือสำนักนั้น ๆ อย่างเช่นว่า ปลาตะเพียนสานด้วยใบลาน ปลาตะเพียนสานด้วยไม้ใผ่ ผ้ายันต์ปลาตะเพียน เงินพับเป็นปลาตะเพียน ปลาตะเพียนกระดาษสา ปลาตะเพียนโลหะสาน นอกจากนั้นยังมีปลาตะเพียนหล่อหรือปั้ม ปลาตะเพียนทองคำ ปลาตะเพียนนาก ปลาตะเพียนเงิน ปลาตะเพียนทองแดง ปลาตะเพียนทองเหลือง ปลาตะเพียนงาช้าง ปลาตะเพียนพลาสติกก็ยังมี
ยันต์ที่ใช้ลงในปลาตะเพียน
คาถาหรืออักขระยันต์ที่ลงบนเครื่องรางปลาตะเพียนนั้น โดยมากเน้นด้านเมตตา โชคลาภ หรือคาถาที่ส่งเสริมให้รู้จักขยันทำมาหากิน อักขระคาถาที่นิยมลงบนปลาตะเพียน ได้แก่
- นะชาลิติ (หัวใจพระสีวลี)
- นาสังสิโม ( หัวใจพญาเต่าเรือน
- อุกากะสะ (หัวใจมหาเศรษฐี)
- นะมะพะทะ (ตั้งธาตุทั้ง4)
- ยันต์ตรีนิสิงเห ( เมตา โชคลาภ)
เครื่องรางปลาตะเพียนที่ได้รับความนิยม
เครื่องรางปลาตะเพียนที่ได้รับความนิยมและเสาะแสวงหาเป็นอย่างมากนั้น โดยมากแล้วเป็นเครื่องรางปลาตะเพียนของพระเกจิอาจารย์รุ่นก่อน ได้แก่
- ปลาตะเพียนหลวงพ่อจง
- ปลาตะเพียนหลวงพ่อเดิม
- ปลาตะเพียนหลวงพ่อเต๋
วิธีใช้เครื่องรางปลาตะเพียน
การใช้เครื่องรางปลาตะเพียนนั้น ก่อนอื่นต้องพยายามศึกษาค้นคว้าดูว่าสำนักนี้ ของพระเกจิอาจารย์รูปนี้ มีวิธีการใช้อย่างไร มีคาถากำกับไหม ต้องบูชาด้วยอะไร ต้องแขวนหรือห้อยไว้ต้องไหน แต่อาจจะสรุป พอเข้าใจตามรูปแบบหรือขนาดของเครื่องรางปลาตะเพียนได้ดังนี้
- ถ้าเป็นเครื่องรางปลาตะเพียนเป็นแบบลอยองค์ขนาดเล็ก ๆ นิยมพกติดตัว หรือเลี่ยมทองห้อยคอ หรือใส่ตลับสีผึ้งพกติดตัว
- ถ้าเป็นปลาตะเพียนแบบแขวน ให้แขวนไว้บนที่สูง เช่น เพดาน หรือทำเสาไม้แขนเครื่องรางปลาตะเพียนไว้นอกบ้าน นอกร้าน ให้ลมสามารถพัดปลาตะเพียนได้ เหมือนปลาตะเพียนแหวกว่ายไปมา ให้ปลาตะเพียนสามารถหมุนรอบตัวเอง ไม่ควรให้ปลาตะเพียนพันอยู่กับหลัก หรือถ้ามีหลายตัว ไม่ควรให้ปลาตะเพียนชนกันเอง ถ้าเป็นร้านค้าให้หันหน้าปลาตะเพียนออกไปทางหน้าร้าน หรือแขวนไว้ทางเข้าร้าน หรือทำเป็นเสาไว้หน้าร้านเลย
- เป็นผ้ายันต์ปลาตะเพียน ให้ใส่กรอบแขวนฝาผนัง อย่าให้สิ่งใดมาบดบังผ้ายันต์ปลาตะเพียน ให้มองดูเหมือนว่าปลาตะเพียนแหวกว่ายอยู่ ถ้าเป็นผ้ายันต์คู่ ปลาตะเพียนเงิน ปลาตะเพียนทอง ก็ใส่กรอบตัวละกรอบแล้วแขวนคู่กัน
- ถ้าเป็นธงปลาตะเพียน ให้ทำเป็นเสาธงไว้หน้าร้านหรือหน้าบ้าน ให้ลมโบกพัดผ้ายันต์ปลาตะเพียรได้สะดวกที่สุด ไม่ควรอยู่ในมุมอับหรือในที่ที่ลมถ่ายเทไม่สะดวก
- วิธีใช้ปลาตะเพียน หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก อ.บางไทร จ.อยุธยา หากค้าขายทางเรือให้ติดที่หัวเรือ ๑ ตัว ท้ายเรือ ๑ ตัว ถ้าหากตั้งร้านค้าขาย ให้เอาเชือกผูกแขวนหน้าร้านทั้งคู่ ถ้าทำนา ทำไร่ และสวน ให้ใส่กระป๋องปิดฝาฝังดินไว้ ป้องกันข้าวกล้าในนาไม่ให้เป็นอันรายต่าง ๆ มีหนอนกอเป็นต้น ถ้าค้าขายหาบคอน ให้ใส่ก้นหาบละตัว ถ้าจะไปใหนให้เอาติดไปกับตัว จะเป็นเมตตามหานิยมแล คาถาสำหรับใช้ทำน้ำพรมปลาตะเพียน ขายของดี นะชาลีติ สัพเพชะนานัง พหูชะนานัง เอหิจิตตัง ปิยังมามา
คาถาบูชาปลาตะเพียน (ไม่ทราบสำนัก)
สำหรับสวดภาวนาบูชา หรือใช้ปลาตะเพียนทำน้ำมนต์ (หากเป็นปลาตะเพียนโลหะ) เพื่อประพรมร้าน สินค้าที่จะขาย ตั้งนะโม 3 หน แล้วสวดคาถาดังนี้
“นะมามีมา นะมะหาลาภา ภะวันตุ เม”
พุทธคุณ หรืออิทธิคุณของเครื่องรางปลาตะเพียน
- ส่งเสริมในด้านการทำมาหากิน โดยเฉพาะการค้าขาย หรือที่ต้องเดินทางติดต่อธุรกิจ
- เป็นเมตตามหานิยม
- เรียกลูกค้า เรียกคน เรียกทรัพย์
- ทำให้บ้านนั้นอยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ไม่ทะเลาะวิวาท
- ปรับฮวงจุ้ยให้ดีขึ้น
- ทำให้เกิดการหมุนเวียน เงินทองไหลมา ไม่เครียด ส่งเสริมให้สุขภาพดี ไม่เจ็บป่วยง่าย