วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นวัดที่เก่าแก่ มีประวัติมาอย่างยาวนาน สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าบรมราชาธิราชที่ 2 (พระเจ้าสามพระยา) เมื่อราวปี พุทธศักราช 1976 หลังจากพระเจ้าอู่ทองได้สถานปนากรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองหลวงได้ 83 ปี (สถานปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีเมื่อปี พ.ศ. 1893) จึงกล่าวได้ว่าวัดราชบูรณะ เป็นวัดที่ได้สร้างขึ้นในยุคต้น ๆ แห่งการต่อตั้งกรุงศรีอยุธยา
ประวัติการสร้าง วัดราชบูรณะ พระนครศรีอยุธยา
เล่ากันมาว่า มีพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาพระองค์หนึ่ง มีพระโอรส 3 พระองค์ ได้แก่ องค์โตเรียกว่าพระเจ้าอ้าย องค์ที่สองเรียกว่าพระเจ้ายี่ องค์ที่สามเรียกว่าพระเจ้าสาม (เรียก หนึ่ง สอง สาม ตามลำดับ)
เมื่อพระมหากษัตริย์พระองค์นั้นเสด็จสวรรคต โดยที่ยังไม่ได้แต่งตั้งรัชทายาท จึงเป็นเหตุให้พระโอรสยกทัพมาเพื่อแสดงความเป็นรัชทายาท โดยพระเจ้าอ้ายได้ยกทัพลงมาจากพิษณุโลก พระเจ้ายี่ได้ยกทัพมาจากเมืองสรรค์ พระเจ้าสามได้มาจากเมืองสุพรรณ ทั้งสามมุ่งตรงสู่กรุงศรีอยุธยา เพื่อจัดพิธีพระบรมศพพระราชบิดา และรับราชสมบัติ
ครั้นมาถึงสะพานป่าถ่าน ทัพของพระเจ้าสามกับทัพของพระเจ้ายี่ได้มาพบกันก่อน ทั้งสองฝ่ายต่างอ้างความเหมาะสมในการสืบราชสมบัติ เมื่อตกลงกันไม่ได้ จึงตัดสินด้วยการชนช้าง ทั้งสองพระองค์พี่น้องต่อสู้กันจนคมง้าวของทั้งสองฝ่ายได้พลาดตัดคอกระเด็นตกจากบ่า สิ้นพระชนม์พร้อมกันทั้งสองพระองค์
พระเจ้าสามซึ่งเป็นโอรสองค์เล็ก จึงได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ และจัดงานพระบรมศพขึ้น ในกำแพงเมืองกรุงศรีอยุธยา เพื่อเป็นอนุสรณ์เตือนสติว่า “เมื่อใดคนเราขาดความสามัคคี รบราฆ่าฟันกันเอง เมื่อนั้นความวิปโยคก็เกิดขึ้น” ในบริเวณที่ตั้งเมรุมาศนั้น พระเจ้าสามพระยาได้โปรดให้สร้างพระเจดีย์ขึ้น และสถาปนาขึ้นเป็นวัดราชบูรณะ เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระเจ้าพี่ทั้งสองพระองค์ที่ชนช้างกันจนสิ้นพระชนม์พร้อมกัน
พระกรุวัดราชบูรณะ
เมื่อปีพุทธศักราช 2500 พระเจดีย์องค์ใหญ่ในวัดราชบูรณะ พระนครศรีอยุธยา ได้ถูกคนร้ายแอบขุด นำทรัพย์สินไปเป็นจำนวนมาก เป็นต้นว่า พระเครื่อง พระบูชา อัญมณี แก้ว แหวน เงิน ทอง ศาตราวุธ ฯลฯ ทรัพย์สินบางส่วนที่สำคัญ เช่น พระแสงดาบฝักทองคำประดับอัญมณี ถูกทางการตามยึดไว้ได้
ต่อมาทางกรมศิลปากร ได้เข้ามาฟื้นฟูบูรณะวัดราชบูรณะ โดยเฉพาะพระเจดีย์ต่าง ๆ และทำการเปิดพระเจดีย์ (เปิดกรุ) นำสมบัติของมีค่าต่าง ๆ รวมทั้ง พระพิมพ์ต่าง ๆ ออกมา ในส่วนของพระพุทธรูป พระเครื่อง พระพิมพ์ต่าง ๆ นั้น พบเป็นจำนวนมาก นับเป็นร้อย ๆ พิมพ์ รวมหลายแสนองค์ แต่ละพิมพ์ล้วนมีความงดงามอลังการ ด้วยฝีมือช่างกรุงศรีอยุธยาในยุคต้น ๆ ที่ได้พิมพ์พระจากหัวเมืองต่าง ๆ มาถอดแบบ (ล้อพิมพ์) สร้างออกมาได้อย่างสวยงาม
พระกรุวัดราชบูรณะที่พบนั้นเป็นพระเนื้อชินเงินล้วน ๆ มีทั้งชินที่เป็นผิวปรอท และชินสนิมตีนกา พระเครื่องส่วนมากที่พบจะแสดงศิลป์ลพบุรี และศิลป์อู่ทอง (ล้อพิมพ์) ซึ่งต่อมาภายหลังได้มีการนำพระเครื่องบางส่วนออกมาจำหน่ายให้พุทธศาสนิกชนบูชาเพื่อใช้เป็นทุนในการสร้างพิพิธภัณฑ์เก็บรักษาพระเครื่องที่เหลือ รวมทั้งสมบัติ และของมีค่าต่าง ๆ ให้ได้ศึกษาต่อไป
พระเครื่องกรุวัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ผมนำมาประกอบบทความนี้ เรียกว่า พระปรกโพธิ์เล็ก เนื้อชินเงินผิวปรอท เป็นพระพิมพ์ขนาดเล็ก พบเจอน้อยมาก โดยมากพระเครื่องกรุวัดราชบูรณะจะมีองค์ขนาดใหญ่ ส่วนองค์เล็ก ไม่ค่อยเจอ
พุทธคุณ พระเครื่องกรุวัดราชบูรณะ อยุธยา
พระเครื่องกรุวัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมืองหลวงเก่าแก่ของไทย เป็นพระเครื่องที่มีประวัติการสร้างมายาวนาน โดยมากมีพุทธคุณด้านแคล้วคลาดปลอดภัย คงกระพันชาตรี แต่ก็ย่อมมีพุทธคุณด้านเมตตามหานิยมตามแบบวัตถุมงคลในพระพุทธศาสนาเช่นกัน