พระเวสสันดรให้บุตรเป็นทาน เป็นการโหดร้ายเกินไป
การที่พระเวสสันดรยกราชโอรสราชธิดาให้เป็นทานแก่คนอื่นนั้นไม่เป็นการกระทำที่โหดร้ายเกินไปหรือ?
การตัดสินว่าโหดร้ายหรือไม่นั้นต้องตัดสินที่เจตนาเพราะ”กรรมเป็นเครื่องส่อเจตนา” เรื่องการให้โอรส ธิดา มเหสี เป็นทานมีคนวิพากย์วิจารณ์กันมากเหตุผลเหมือนกับที่กล่าวในข้อก่อนคือ “คนตัดสินปัญหาด้วยอาศัยการเห็นแก่ตัวของตนเป็นมาตรวัดการกระทำของคนอื่น”
อันที่จริงการให้พระชาลี กัณหา เป็นทานแก่ชูชกนั้นพระเวสสันดรได้เผยเจตนาของพระองค์ ให้พระโอรสและพระธิดาทรงทราบแล้ว และทั้งสองพระองค์ก็เห็นด้วย จึงยินยอมไปกับชูชกทั้งๆที่ไม่ทราบว่าอะไรจะเกิดขึ้น ข้อนี้แสดงให้เห็นว่า “เด็กๆสมัยก่อนสามารถเข้าใจเหตุผลเรื่องบารมีดีกว่าผู้ใหญ่บางคนในปัจจุบัน” การให้โอรสธิดาเป็นทานของพระเวสสันดรจึงอาจสรุปได้เป็นประเด็นๆดังนี้
๑)เป็นเรื่องของปุตตทารบริจาค
อันเป็นทานบารมีระดับหนึ่งที่มีเงื่อนไขผูกพันอยู่กับการจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าคือพระโพธิสัตว์ที่บำเพ็ญบารมีเพื่อการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านั้นจะต้องมีพื้นฐานทางการเสียสละสูงมาก แม้ชีวิตก็อาจสละได้การให้บุตรธิดาเป็นทาน จึงเป็นเรื่องที่พระองค์จะต้องเลือกเอาทางใดทางหนึ่งคือ “ถ้าสามารถบริจาคบุตรธิดาเป็นทานได้ก็จะเป็นปัจจัยแห่งการตรัสรู้ได้หาก สละไม่ได้ก็ไม่ได้ปัจจัยแห่งการตรัสรู้อันทำให้พระองค์ไม่อาจตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้”
สรุปว่า
ถ้าต้องการเป็นพระพุทธเจ้าเพื่อช่วยสัตว์โลกให้ได้ก็ต้องสละบุตรธิดาเป็นทานได้ หากสละบุตรธิดาเป็นทานไม่ได้ก็เป็นพระพุทธเจ้าไม่ได้”
ซึ่งเงื่อนไขที่คนต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งนี้เป็นเรื่องปกติธรรมดาสำหรับคนที่มีอุดมการณ์เพื่อทำงานอันเป็นประโยชน์ต่อคนมาก เช่น ทหารผู้ต้องไปราชการสงคราม ถ้าต้องการทำหน้าที่ของทหารก็ต้องทอดทิ้งลูกเมียไว้ที่บ้าน หากต้องการอยู่ที่บ้านก็เลิก ไม่ต้องเป็นทหาร จะเป็นทหารผู้ปฏิบัติราชการสงครามอยู่ภายในบ้านด้วยนั้นไม่ได้ แม้คนทำงานเพื่ออุดมคติอย่างอื่นเช่น ตำรวจ แพทย์ พยาบาล ครู เป็นต้นก็ต้องเป็น ผู้พบกับการเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่เสมอ
๒)เป็นเหตุผลที่บิดาผู้รักและหวังดีต่อบุตรธิดาจะต้องกระทำ
เพราะพระเวสสันดรเองไม่ทราบว่าการผนวชเป็นดาบสของพระองค์จะยุติลงเมื่อไร พระโอรสธิดานั้นยังเยาว์วัยยังมีอนาคตจำเป็นจะต้องได้รับการศึกษาในบ้านเมือง เมื่อชูชกมาขอจึงให้ไป ซึ่งสามารถตีค่าไถ่กลายเป็นเศรษฐีได้ทันที ชูชกแกจะโง่จนถึงกับนำพระราชกุมาร ราชกุมารีทั้งสองไปเป็นคนใช้หรือ เปล่าเลยชูชกทราบดีว่าค่าไถ่ขนาดนี้ คนอื่นไม่มีใครเขาไถ่หรอก นอกจากพระเจ้าสัญชัยแห่งเชตุดรผู้เป็นพระอัยกา ซึ่งตามเรื่องก็เป็นเช่นนั้น ถ้ามองในจุดนี้การให้ทานของพระเวสสันดรแทนที่จะเป็นผลดีแก่ชูชกฝ่ายเดียวกลับได้ประโยชน์มหาศาลทั้งแก่พระองค์ พระญาติวงศ์ทั้งมวล ตามเนื้อเรื่องในนครกัณฑ์
๓)เพื่อป้องกันอันตรายแก่พระโอรสธิดา
เพราะการอยู่ในป่าอาจเกิดอันตรายได้ ทั้งเป็นการสร้างความกังวลในการบำเพ็ญเพียรของพระองค์และเป็นการขัดขวางโอกาสแห่งการศึกษาของพระโอรส พระธิดา การส่งกลับเมืองด้วยวิธีให้แก่ชูชกแบบมีค่าไถ่ไปด้วยจึงเกิดผลอย่างสมบูรณ์แก่คนทุกฝ่าย อาจจะมีข้อโต้แย้งว่าถ้าเป็นเช่นนั้นทำไม่จึงนำพระโอรส พระธิดาเข้าป่ามาด้วย ไม่เอาไว้ในเมืองกับพระอัยกาเสียเลยเล่า?
ข้อนี้เราพบว่าเหตุการณ์ตอนนั้นมีกระแสการต่อต้านสูงมากโดยเหตุผลจำเป็นต้องผ่อนคลายสถานการณ์ให้อ่อนความรุนแรงลงทั้งการพรากจากในลักษณะนั้นรุนแรงเกินกว่าที่จะเพิ่มการพลัดพรากจากลูกเข้าไปอีก แต่เมื่อเหตุการณ์ผ่านมานานพอสมควรแล้ว ทุกคนกลับได้ความคิดที่สมเหตุสมผลขึ้นทุกอย่างจึงดำเนินไปตามครรลองที่ถูกที่ควรเสียทีและผลก็ออกมาเช่นนั้นจริงๆ