นิทาน
นิทาน บาลีอ่านว่า นิ-ทา-นะ
ภาษาไทยเขียนเหมือนกัน อ่านว่า นิ-ทาน
นิทาน (นิ + ทาน = ให้) แปลตรงตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ให้ผล” “สิ่งที่ให้ความกระจ่าง” “สิ่งเป็นเครื่องกำหนด” ความหมายคือ บ่อเกิด, แหล่งกำเนิด, เหตุเกิด, เรื่องเดิม, ข้ออ้าง
ความหมายที่เด่นชัดของ “นิทาน” ในภาษาบาลีคือ เรื่องราวที่เป็นเหตุให้ต้องบัญญัติศีลของภิกษุ หรือเป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุทำเช่นนั้นเช่นนี้ได้ เช่น
- แต่เดิมพระภิกษุเที่ยวเก็บผ้าที่เขาทิ้งแล้วมาปะเย็บย้อมทำเป็นจีวรใช้นุ่งห่ม (ที่เรียกว่า ผ้าบังสุกุล) ต่อมาหมอชีวกมีศรัทธาทำจีวรสำเร็จรูปไปถวายพระ พระพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาตให้ภิกษุรับจีวรสำเร็จรูปได้ หมอชีวกก็เป็น “นิทาน” ของเรื่องนี้
- ชุดกลาสีของทหารเรือกระดุมเป้าอยู่ด้านข้าง เพราะมีเรื่องที่กลาสีเรืออังกฤษคนหนึ่งเข้าห้องน้ำแล้วลืมติดกระดุมเป้า ไปตั้งแถวรับเสด็จพระราชินี พระองค์จึงรับสั่งให้ออกแบบกางเกงกลาสีใหม่ ให้ย้ายกระดุมเป้ามาไว้ด้านข้าง เรื่องกลาสีลืมติดกระดุมก็เป็น “นิทาน” ของกางเกงกลาสี
ในภาษาไทย “นิทาน” หมายถึงเรื่องที่เล่ากันมา จริงบ้างเท็จบ้าง ส่วนใหญ่จะถือว่าเป็นเรื่องเล่า ไม่ใช่เรื่องจริง
: เรื่องที่เกิดมานาน อย่าเหมาว่าเป็น “นิทาน” ไปทั้งหมด
ที่มา : บาลีวันละคำ (276) โดย ทองย้อย แสงสินชัย
คำว่า “นิทาน” เป็นศัพท์ที่ผมอยากให้คนไทยได้ทำความเข้าใจมากที่สุดอีกคำหนึ่ง เพราะคนโดยมากจะเข้าใจว่า นิทาน คือเรื่องเล่า นิทาน คือเรื่องแต่ง นิทาน คือเรื่องหลอกเด็ก นิทานคือเรื่องที่ไม่มีเค้ามูล นิทาน ไม่ใช่เรื่องจริง
ขอบคุณท่านอาจารย์ทองย้อย แสงสินชัยที่ให้ความรู้ในเรื่องนี้ ทำให้รู้สึกกระจ่าง เข้าใจง่าย มีที่อ้างอิง