ที่ว่าพระพุทธศาสนาเข้ากับวิทยาศาสตร์นั้นมีเหตุผลอย่างไร?
ที่ว่ากันนั้นอันที่จริงเป็นความเห็นของนักปราชญ์ทางตะวันตกแต่มิได้หมายความว่าพระพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์หมายเพียงแต่ว่า
“พระพุทธศาสนามีหลักการและวิธีการเป็นเช่นเดียวกับวิทยาศาสตร์”
ข้อนี้นักปราชญ์ทางตะวันตกที่ศึกษาแตกฉานดีทั้งพระพุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์ได้มีความเห็นร่วมกันว่า
“วิทยาศาสตร์ทางโลกเป็นวิทยาศาสตร์ฝ่ายวัตถุส่วน พระพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ทางจิตใจ”
หลักการวิธีการทางพระพุทธศาสนาที่ตรงกับวิทยาศาสตร์ เช่น พระพุทธศาสนาอธิบายหลักทั่วไปแห่งจิตใจในฐานะเป็นมูลฐานแห่งคำสอนทางพระพุทธศาสนา โลกทางวัตถุมูลฐานแห่งวิทยาศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุกับจิตใจ เป็นความสัมพันธ์ระหว่างเนื้อหา กับ สิ่งที่สะท้อนไปจากเนื้อหา ในเรื่องนี้ผู้ศึกษาสิ่งหนึ่งโดยการเปรียบเทียบหรืออนุมาน คือการคาดคะเนจากเหตุผลย่อมได้รับความรู้ถึงอีกสิ่งหนึ่งหรือหลายสิ่งด้วย
การวิเคราะห์ปรากฎการณ์ในแนวทางอันเป็นพื้นฐานของตนพระพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์ตรงกันในข้อที่ว่า
“ความรู้ต้องได้มาด้วยการวิเคราะห์ ทดลอง หาเหตุผลอย่างมีหลักการและวิธีการที่ถูกต้องและกรรมวิธีที่เหมาะสมแก่การหาความรู้ในเรื่องนั้นๆ”
การจะเชื่อถืออะไรจะต้องมีการพิสูจน์ทดสอบก่อนจึงจะเชื่อ ไม่ให้เชื่ออย่างงมงาย ผลทุกอย่างที่ปรากฎนั้นจะต้องมาจากเหตุ พระพุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์มีวิธีการค้นจากผลสาวไปหาเหตุบ้าง ค้นจากเหตุไปหาผลบ้างเช่นเดียวกัน
พระพุทธศาสนาสอนว่าสรรพสิ่งมีความเปลี่ยนแปลงดำรงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ไม่เป็นแก่นสารตัวตนอะไรที่ควรยึดถือ วิทยาศาสตร์ได้วิเคราะห์ไปถึงความเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน เห็นสิ่งทั้งหลายมีการเกิดดับต่อเนื่องกันซึ่งเมื่อวิเคราะห์ลงไปแล้วสารวัตถุทั้งหลายคือการรวมตัวของปรมาณูอันมหาศาล ในที่สุดก็เป็นเพียงพลังงานหามีตัวตนอะไรไม่ แม้การทำระเบิดปรมาณูก็เป็นการแยกปรมาณูเพื่อให้เกิดพลังงานนั่นเอง
ตรงนี้ผิดกันที่ไหนรู้ไหม?
ผิดกันตรงที่วิทยาศาสตร์แยกปรมาณูเพื่อให้เกิดเป็นพลังงานพลังงานเหล่านั้นกลายเป็นลูกระเบิดมหาประลัย แต่พระพุทธศาสนาแยกออกเป็นอนัตตาเสร็จแล้วไม่มีกิเลสเป็นเหตุยึดถือว่าของเราว่าเราเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ว่าเป็นตัวเป็นตนของเรา จิตท่านที่แยกได้เช่นนี้จะทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่โลกอย่างเดียวเช่นพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย
“ปรมาณูในพระพุทธศาสนาจึงเป็นปรมาณูเพื่อสันติอย่างแท้จริง”
พระพุทธศาสนากล่าวถึงกฎของการดึงดูดว่า น้ำตกจากที่สูงย่อมไหลลงสู่ที่ลาดลุ่มฉันใด จิตใจที่ถูกกระแสแห่งกิเลสดึงดูดไว้เรียกว่า โลกิยจิต แต่จิตนั้นอาจทำให้พ้นจากกระแสการดึงดูดได้ ด้วยความเพียรพยายามจนเป็นโลกุตรจิต เหมือนน้ำที่ไหลลงสู่ที่ลาดลุ่มตามปกติ แต่อาจใช้กรรมวิธีทางวิทยาศาสตร์ทดน้ำขึ้นสู่ที่สูงจนถูกความร้อนแผดเผากลายเป็นไอได้
ยิ่งในด้านจิตวิทยาอันเป็นวิทยาศาสตร์สาขาหนึ่งด้วยแล้ว เขากล่าวว่าให้ยกไลเมนขึ้นสูงกว่าสิ่งเร้า ซึ่งหมายถึงการยกจิตให้สูงกว่าอำนาจฝ่ายต่ำนั้นเองนี่เป็นเสี้ยวหนึ่งของพระพุทธศาสนาด้วยซ้ำไป
คำสอนเรื่องทางสายกลางของพระพุทธศาสนาก็มีหลักการอันเดียวกับวิทยาศาสตร์ ให้สังเกตว่าเครื่องวัดอุณหภูมิก็ดี วัดความเร็ว ความชื้น ความดัน กระเเสไฟฟ้าเป็นต้น ก็ดี เพื่อต้องการรักษาจุดกลางเอาไว้นั้นเอง ไม่อย่างนั้นก็ระเบิดหรือเป็นอันตรายได้
แม้เรื่องความเกิดขึ้นของโลกพระพุทธศาสนา ถือว่าเกิดจากเหตุปัจจัยคล้ายๆกับ ทฤษฎีหมอกเพลิงทางวิทยาศาสตร์
วิชาจักรวาลวิทยาปัจจุบันได้ค้นพบระบบสุริยจักรวาลเป็นอันมากจนถึงกับได้พบ ระบบหนึ่งเรียกว่า “คัทเตอร์ในเจมินี” มีพระอาทิตย์เป็นศูนย์กลางถึง ๖ ดวง มีจักรวาลดารกาเป็นบริวารขึ้นต้นด้วยเลข ๒๓ ตามด้วยศูนย์ ๒๗ ตัว
พระพุทธศาสนาแสดงเรื่องนี้ไว้อย่างไรรู้ไหม?
พระพุทธศาสนาบอกว่าจักรวาลนั้นมีมากจนใช้คำว่าอนันตจักรวาลหรือแสนโกฏิ
จักรวาลบางจักรวาลมีพระอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง ๑-๒-๓-๔-๕-๖-ถึง๗ดวง ยังล้ำหน้าวิทยาศาสตร์ไปอีกระบบหนึ่งซึ่งวิทยาศาสตร์ยังค้นไม่พบ ยังมีเรื่องอื่นๆอีกมาก
แต่ที่ไม่ควรลืมคือพระพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์ตรงกันในด้านหลักการวิธีการบาง อย่างเท่านั้นไม่ใช่เหมือนกันทุกอย่าง เพราะฝ่ายหนึ่งเน้นหนักด้านนามธรรม ฝ่ายหนึ่งเน้นหนักด้านรูปธรรม
อีกประการหนึ่ง “ผลิตผลที่เกิดขึ้นตามกรรมวิธีทางพระพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์ มีส่วนที่ผิดกันอยู่บ้าง คือ ของวิทยาศาสตร์นั้นมีคุณอนันต์แต่มีโทษมหันต์ ส่วนผลิตผลที่เกิดขึ้นถูกต้องตามกรรมวิธีทางพระพุทธศาสนามีคุณอนันต์อย่างเดียวไม่มีโทษ”
นี่ว่าถึงผลิตผลที่เกิดขึ้นถูกต้องตามกรรมวิธีทางพระพุทธศาสนานะหากผิดจากกรรมวิธีทางพระพุทธศาสนาไม่รับรอง