ผมเคยอ่านเจอโพสต์ของท่านหนึ่ง กล่าวไว้ประมาณว่า เขาได้ฟังเพื่อน ๆ บอกว่า แขวนพระองค์นี้ สีผึ้งอาจารย์นั้นดีมาก แรงมาก แค่เปิดฝา หน้าผมงี้ชาไปหมด มึนหัวอย่างแรง พอเอามาใกล้จมูกแทบอยากอ๊วก (สงสัยดูรายการนายปลาไปหน่อย) แสดงว่าของแรงมาก ๆ พระบางองค์ห้อยคอ รู้สึกได้เลย มึน ๆ หัว วิงเวียน แสดงว่าขลังมาก แรงมาก พุทธคุณสุด ๆ เสกดีมาก หนัก ๆ หน่วง ไม่ต้องห่วงเรื่องพุทธคุณ
อันที่จริงการแขวนพระ บูชาเครื่องรางของขลังกับตัว เมื่อสวมใส่ เข้าใกล้ หรือทำการสักการระบูชา ควรที่จะเบากายเบาใจ สบายใจ มีความเป็นสมาธิ จิตใจเบิกบาน รู้สึกว่าได้รับการปกป้อง รู้สึกสดชื่นปลอดภัย ถ้าแสดงออกทางกาย อย่างมากก็ขนลุกซู่อันเกิดจากความปีติที่เราได้สัมผัสด้วยกายใจในสิ่งที่ตนเองศรัทธาปรารถนามานาน แต่ถ้าเกิดอาการไม่มึนศีรษะ หนักศีรษะ อาเจียน วิงเวียนไปมา แบบนั้นของอาจจะแรงจริง แต่ไม่เข้ากับธาตุเรา หรือจะเรียกว่าพระเครื่องไม่เข้ากับโฉลกเราก็ว่าได้
ดูยังไงว่าพระเครื่องเข้าโฉลกกับเรา
พระเครื่องเข้ากับโฉลกหรือธาตุของตนหรือไม่ บทความนี้ไม่ใช้ความรู้ทางโหราศาสตร์นะครับ ว่าคนเกิดวันไหน ต้องใช้พระอะไร เนื้ออะไร แบบไหน แต่เอาสิ่งที่แสดงออกทางร่างกายและจิตใจเมื่อได้สวมใส่พระเครื่องวัตถุมงคลนั้นมาเป็นตัววัดครับ
พระเครื่องที่ถูกโฉลกกับเรา
- เป็นพระเครื่อง วัตถุมงคลที่เราชอบใจ ถูกใจ เห็นครั้งแรกแล้วโดนใจเลย อาจจะเนื่องด้วยศรัทธาหรือหรือเพราะรูปแบบสวยงามก็ตามที ทำให้เรารู้สึกอยากจะนำขึ้นคอบูชา
- เมื่อนำขึ้นคอบูชาแล้ว หรือพกติดตัวแล้ว รู้สึกสบายใจ อบอุ่นใจ รู้สึกปลอดภัย ทำให้เกิดความโล่งใจ ไม่หงุดหงิดใจ ใจไม่ร้อนจนเกินเหตุ ไม่โมโหง่าย นี่เป็นความรู้สึกทางด้านจิตใจต้องส่งผลออกมาในทางที่ดี
- ไม่ทำให้รู้สึกวิงเวียน อาเจียน ไม่หนักศีรษะ ไม่มึนตึบ ไม่ระคายเคืองตามร่างกาย ไม่คัน ไม่เกิดผดผื่นเพราะการสัมผัสพระเครื่อง วัตถุมงคลนั้น ๆ
- 3 ข้อข้างบนนี้ ถ้าเกิดในช่วงแรก ๆ อาจจะสังเกตดูไปก่อน เพราะร่างกายและจิตใจกำลังปรับตัวเพื่อรับสิ่งใหม่ ๆ พลังงานใหม่ ๆ เข้ามา แต่ถ้าเกิน 7 วันไปแล้วยังรู้สึกอย่างนั้นอยู่ เข้าใจว่าพระเครื่อง หรือวัตถุนั้น ๆ ไม่เข้าโฉลกกับตนเอง ลองถอดออกดูก่อน แล้วสังเกตอาการดู
- นอกนั้นก็เป็นผลภายนอก เช่น บูชาแล้ว เกิดโชคลาภบ่อย ๆ ทำมาค้าขายดี มีแต่คนทักรักชม ติดต่อการงานสะดวก แคล้วคลาดปลอดภัย ข้อนี้เป็นผลภายนอกนะครับ จะเกิดขึ้นก็ได้ ไม่เกิดขึ้นก็ได้
แต่ถ้ามีสิ่งตรงกันข้ามกับที่ได้กล่าวมานี้ พึงเข้าใจว่า เป็นพระเครื่อง วัตถุมงคลที่ไม่ถูกโฉลก คือไม่เข้ากับธาตุเรา ทั้งวิญญาณธาตุ (ความรู้สึก/จิตใจ) และสังขารธาตุ ไม่รู้ใช้คำถูกไหม ซึ่งหมายถึงร่ายกายของเรานี่แหล่ะที่ประกอบด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ ฉะนั้น เมื่อได้พระเครื่อง เครื่องราง วัตถุมงคลใด ๆ มาแล้ว ลองสังเกตพิจารณาดูนะครับ