
แม้ความเมตตากรุณานั้นจะเป็นคุณธรรมที่เกิดขึ้นทางใจ แต่การแสดงความเมตตากรุณาให้ประจักษ์ชัดให้เห็นเป็นรูปธรรมนั้น ควรที่จะแสดงผ่านออกมาทางกาย (และวาจา) ด้วย
การปล่อยปลา ปล่อยนก ปล่อยสัตว์น้อยใหญ่ที่ได้รับความลำบากความทุกข์ยาก หรือสัตว์ที่มีภัยถึงตัวเป็นการแสดงออกถึงความมีเมตตากรุณาอย่างหนึ่ง เป็นการให้ชีวิตเป็นทาน ให้อภัยเป็นทาน ให้ความไม่มีภัย ให้ความปลอดภัยเป็นทาน ฉะนั้น เราจึงควรเลือกสถานที่สำหรับปล่อยสัตว์นั้น ๆ ให้เหมาะกับการดำรงของสัตว์ที่เราได้ปล่อยไปแล้วนั้น
แนะนำสถานที่ และวิธีปล่อยปลา ปล่อยนก ปล่อยสัตว์ที่ถูกต้อง
ปลาไหล
ควรปล่อยลงในแหล่งน้ำตื้นที่มีพืชน้ำขึ้นรก ๆ หรือเป็นป่าหญ้าลอยน้ำ มีดินโคลนให้ปลาได้มุดเพื่อหลบพัก
ไม่ควรปล่อยลงในน้ำลึกไหลเชี่ยว คลอง หรือแม่น้ำใหญ่ ๆ เพราะปลาใช้ชีวิตลำบากมีโอกาสรอดน้อยมาก
ปลาสวาย ปลาบึก และปลาตะเพียน
ควรปล่อยลงในแม่น้ำหรือคลองที่มีระดับน้ำลึกมีกระแสน้ำแรง มีบริเวณที่กว้างขวาง
ไม่ควรปล่อยลงในบริเวณแม่น้ำคับแคบ ตื้นเขิน
ปลาช่อน ปลาหมอ และปลาดุก
ควรปล่อยลงในแหล่งน้ำที่สะอาด มีพืชน้ำขึ้นรก ๆ ให้ปลาได้อาศัยอยู่
หากซื้อปลามาปล่อยหลายตัว ควรกระจายปล่อยให้แหล่งต่าง ๆ เพื่อความสมดุลของระบบนิเวศ
หอยขม
ควรปล่อยลงในดินโคลนตามธรรมชาติ
ไม่ควรปล่อยลงในแม่น้ำลึกอย่างแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะน้ำลึกเกินไป หอยอาจจะจมน้ำตายได้
กบ
ควรปล่อยในที่ชื้นแฉะ มีเนินดินหรือตลิ่ง มีกอหญ้า หรือไม้น้ำให้เกาะ และใช้เป็นที่หลบซ่อนจากศัตรู
ไม่ควรปล่อยลงในแหล่งน้ำหรือลำคลองที่ไหลเชี่ยว เพราะจะไม่มีที่พัก
เต่าน้ำจืดและตะพาบน้ำ
ควรปล่อยลงในแหล่งน้ำที่มีตลิ่ง หรือมีเนินดินเอาไว้ให้อาบแดดและพักจากการว่ายน้ำ
ไม่ควรปล่อยในแหล่งน้ำที่ไหลเชี่ยวและไม่มีที่พัก เพราะเต่าจะไม่มีที่พักจากการว่ายน้ำอาจจะตายได้