หลวงปู่ลี ฐิตธมฺโม วัดฐิติธรรมาราม
บ้านบึงโน ตำบลโคกศรี
อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร
หลวงปู่ลี ฐิตธัมโม มีนามเดิมว่า ลี นามสกุล แสนเลิศ ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2463 ตรงกับวันแรม 5 ค่ำ เดือน 10 ปีวอก ณ บ้านบึงโน ตำบลโคกสี อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร โยมบิดาชื่อ พ่อใหญ่เคน แสนเลิศ โยมมารดาชื่อ แม่ใหญ่ปึ้ง แสนเลิศ ภูมิลำเนาเดิมของโยมบิดาอยู่ที่บ้านแดง ตำบลหนองดินดำ อำเภอท่าวัดบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด ส่วนโยมมารดา นั้นเป็นคนบ้านดอนแคนน้ำ ตำบลหนองดินดำ อำเภอท่าวัดบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด อาชีพหลักของท่านทั้งสองคือการทำนา หลวงปู่มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 3 คน คือ
- โยมพี่ชาย (เสียชีวิตตั้งแต่เด็ก)
- หลวงปู่ลี
- โยมน้องสาว นางบุญ (เสียชีวิตแล้ว)
โยมบิดาของหลวงปู่นั้น มีความรู้เชี่ยวชาญในพืชสมุนไพรต่าง ๆ ท่านจึงทำหน้าที่เปหมอยารักษาชีวิตคนด้วยความเมตตาอีกทางหนึ่ง
โยมบิดาเดิมมีภรรยาคนแรกและมีลูกด้วยกัน 4 คน คือ นางกิ่น และนายอิน (ปัจจุบันเสียชีวิตหมดแล้ว ) หลังจากที่ภรรยาคนแรกเสียชีวิตลง โยมบิดาได้แต่งงานใหม่กับแม่ปึ้ง แสนเลิศ มารดาของหลวงปู่ ใช้ชีวิตร่วมกันที่บ้านดอนแคนน้ำ จนกระทั่งเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติ แม่น้ำชีหนุนขึ้นสูงจนเกิดน้ำท่วมใหญ่และโรคระลาดอย่างรุนแรง ทำให้ผู้คนล้มตายกันมากมาย โยมบิดาและมารดาของหลวงปู่จึงตัดสินใจอพยพถิ่นฐานมายังบ้านบึงโนนอก ตำบลโคกสี อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ร่วมกับชาวบ้านอีกประมาณ 60 ครัวเรือน ด้วยได้ยินกิติศัพท์ว่า บ้านบึงโนเป็นสถานที่อุดมสมบูรณ์มาก ผู้เฒ่าผู้แก่เล่ากันว่า ในสมัยนั้น บ้านบึงโนจะมีต้นโสน และ ต้นแซง ขึ้นเต็มบึง แต่ละต้นมีลำต้นโตเท่าแขน หลวงปู่เล่าว่า ต้นใหญ่ขนาดคนตัวโต นั่งเล่นได้ ไม่ตก บ้านบึงโนในครั้งนั้นยังเป็นป่าดิบ เรื่อยมาตั้งแต่ดงผาลาด ดงบัง ต่อเนื่องจนถึงดงหม้อทอง เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด ทั้งช้างป่า เสือ เก้ง กวาง ละมั่ง หมูป่า ไก่ป่า หลวงปู่เล่าว่า ในช่วงย้ายถิ่นฐานที่อยู่จากบ้านดอนแคนน้ำ จังหวัดร้อยเอ็ด มาที่บ้านบึงโน จังหวัดสกลนครนั้น โยมมารดาของหลวงปู่กำลังตั้งครรภ์ท่านอยู่ ด้วยเหตุนี้หลวงปู่จึงมักปรารภว่า เราเกิดที่ร้อยเอ็ด ด้วยถือว่า ท่านถือกำเนิดนับแต่โยมมารดาตั้งครรภ์
โยมมารดาของหลวงปู่นั้นเสียชีวิตในขณะที่หลวงปู่ยังเล็กอยู่มาก คือหลังจากคลอดน้องสาว (นางบุญ) ได้ไม่นาน ส่วนโยมพี่ชายของหลวงปู่ก็เช่นกัน เสียชีวิตตั้งแต่บ้านบึงโนยังไม่มีป่าช้า ท่านเคยเล่าขำ ๆ ว่า พี่ชายของท่านตายจองป่าช้า โยมบิดาของหลวงปู่ได้แต่งงานใหม่อีกครั้งหนึ่งกับแม่หม้ายลูกติด 1 คน ชื่อแม่หมุน มีลูกสาวด้วยกัน 1 คน ชื่อ บัว ดังได้กล่าวในตอนต้นแล้วว่าโยมบิดาเป็นหมอยาสมุนไพรช่วยรักษาชีวิตคน จึงเป็นเหตุให้บางครั้งต้องจากบ้านไปเพื่อรักษาชีวิตคน นานอาทิตย์หนึ่งบ้าง ครึ่งเดือนบ้าง หนึ่งเดือนบ้าง หลวงปู่กับน้องสาว (นางบุญ) จึงถูกทอดทิ้งให้อยู่กับแม่เลี้ยง ท่านว่า ครั้งหนึ่งเคยเกือบเป็นฆาตกร ฆ่าแม่เลี้ยงไปแล้ว เนื่องจากน้องสาวของท่านถูกแม่เลี้ยงรังแก แต่โชคดีที่ท่านมีสติระงับได้ทัน
เมื่อโยมบิดาถึงแก่กรรมในขณะที่หลวงปู่มีอายุไม่ถึง 10 ปีนั้น จึงนับว่าเป็นภาระหนักหนาสำหรับเด็กชายวัยนี้ ที่ต้องรับผิดชอบดูแลทุกอย่างในครอบครัว ทั้งเลี้ยงน้องที่ยังเล็กถึง 3 คน ทั้งต้องเลี้ยงวัว เลี้ยงควาย ทำไร่ไถนา ด้วยความยากลำบาก และต้องอยู่กับแม่หมุนผู้เป็นแม่เลี้ยง หลวงปู่เล่าว่าท่านลำบากแม้กระทั่งการเรียน เรียนไปได้ 1 ปี ที่โรงเรียนวัดบ้านโคกสี ก็ต้องหยุดการเรียนการสอน เนื่องจากครูผู้สอนเสียชีวิต มาได้เรียนอีกทีก็เมื่อบ้านบึงโนได้ตั้งโรงเรียนวัดบ้านบึงโนขึ้น ท่านจึงได้มีโอกาสศึกษาต่อจนจบชั้นประถมปีที่ 4 เมื่อพุทธศักราช 2478 อายุ 15 ปี ขณะอายุได้ 15-16 ปี หลวงปู่มีความฉลาดเฉลียว อุปนิสัยอาจหาญ ร่าเริง พูดเก่งและเป็นผู้นำในหมู่ พ่อใหญ่สุด สหายในวัยเด็กของหลวงปู่ เล่าว่า หลวงปู่จะเป็นผู้นำในทุกเรื่อง บางครั้งเวลาไปเลี้ยงควายคุยกัยแค่ 2-3 คน แต่สนุกสนานเฮฮาเหมือนคุยกัน 9 คน 10 คน เมื่อมีโรคระบาดเกิดขึ้นในหมู่วัวควาย หลวงปู่ก็จะนำวัวควายที่เกิดโรคระบาดนี้ ไปในที่ห่างไกลจากหมู่บ้าน ไม่ให้แพร่เชื้อ ไปติดตัวอื่นที่ยังไม่เป็น
ในด้านอุปนิสัยผู้นำของหลวงปู่นั้น หลวงปู่อ่อนศรีได้เคยกล่าวรับรองในหลายโอกาสว่าหลวงปู่ลีท่านเก่ง เป็นผู้นำมาแต่น้อย เราแอบหลังท่าน ไม่กล้า โตมาด้วยกัน เล่นกันมา ไล่หลังกันมาเพราะเป็นรุ่นน้องปู่ลี 2-3 ปี ระหว่างช่วงอายุ 18-22 ปี ถ้าไม่ใช่ฤดูทำนา หลวงปู่มักจะพาหมู่ไปค้ายไกล ๆ ถึงร้อยเอ็ดบ้าง มหาสารคามบ้าง โดยใช้เกวียนเดินทาง ไปครั้งละ 1 เดือนบ้าง 5 วันบ้าง แล้วแต่ระยะทางและสินค้าที่นำไป สินค้าที่หลวงปู่นำไปขายส่วนใหญ่ มักจะเป็นจำพวก หวาย ปลาร้า และเข (เครื่องมือในการย้อมไหม) พ่อใหญ่สุดเล่าว่า ไปกับหลวงปู่แล้วสนุกมาก ไม่เบื่อเลย เพราะหลวงปู่จะเป็นผู้นำที่ดีมาก รักหมู่รักเพื่อน ไม่ทอดทิ้งและดูแลทุกคนเสมอกัน
พออายุได้ 23 ปี หลวงปู่มีความคิดที่จะแต่งงาน แต่หลวงปู่ธรรม เจ้าอาวาสวัดดอนชัยมงคล อำเภอบ้านหัน (อำเภอสว่างแดนดินในปัจจุบัน) จังหวัดสกลนคร ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้าของหลวงปู่ได้ห้ามเอาไว้ โดยบอกว่า พ่อแม่ก็ล้มหายตายจากไปแล้ว ก็น่าจะบวชให้สักปีสองปีก่อน จึงค่อยลาสิกขามาแต่งงานก็ได้ ด้วยความกตัญญู หลวงปู่จึงตัดสินใจบวชเพื่อทดแทนพระคุณบิดามารดาในปีนั้นนั่นเอง ในสมัยนั้น การบวชเป็นพระธรรมยุติจะต้องไปบวชที่วัดซึ่งมีพระอุปัชฌาญ์เป็นพระธรรมยุติด้วยกัน และวัดที่อยู่ใกล้ที่สุดก็อยู่ไกลถึงวัดจอมศรี อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี แต่เมื่อตัดสินใจเด็ดเดี่ยวแล้ว หลวงปู่ก็มิได้ย่อท้อ มุ่งมั่นเป็นผ้าขาวอยู่นานหลายเดือน จึงเดินเท้าตามครูบาอาจารย์ จากบ้านบึงโน จังหวัดสกลนคร ไปยังวัดจอมศรี จังหวัดอุดรธานี เข้าสู่ชีวิตใต้ร่มผ้ากาสาวพัตร เมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2485 ตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 4 ปีมะเมีย เวลา 11.00 น. ณ วัดจอมศรี ตำบลพันดอน อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี โดยมีพระครูพิทักษ์คณานุกร วัดจอมศรี ตำบลพันดอน อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระสมุห์ภา วัดจอมศรี ตำบลพันดอน อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และมีพระฮวด สุมโน วัดชัยมงคล ตำบลสว่าง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร เป็นพระอนุสาวนาจารย์
เมื่ออุปสมบทแล้วหลวงปู่ได้เดินทางกลับบ้านบึงโน มาจำพรรษาแรกกับหลวงปู่ชาดี วัดธรรมิการาม หลวงปู่เล่าว่าพอครบพรรษาก็เตรียมเก็บกระเป๋า ตั้งใจไปกราบลาสิกขากับหลวงปู่ชาดี เพื่อไปสร้างครอบครัว ตามความตั้งใจเดิม แต่หลวงปู่ชาดี ได้พูดยับยั้งไว้ว่า อย่าเพิ่งสิกเลย บวชไปก่อนอีกสัก 5 พรรษา ค่อยสึก หลวงปู่จึงว่า ถ้าอย่างนั้นกระผมจะขอลาไปธุดงค์ก่อน ความข้อนี้หลวงปู่ได้เคยขยายความว่า หลวงปู่ชาดีท่านใช้อุบายล่อหลอกไว้
พรรษาที่ 2 (พ.ศ.2486 ) หลวงปู่ได้จำพรรษาที่วัดผดุงธรรม บ้านดงเย็น กับหลวงพ่อหรั่ง เนื่องจากเป็นช่วงที่หลวงปู่พรหม จิรปุญโญ รับนิมนต์ชาวบ้านออกไปจำพรรษาในป่านอกวัดแต่ไม่ไกลกัน(ปัจจุบันบริเวณป่านอกวัดได้กลายเป็นวัดป่าประสิทธิธรรมต่อเนื่องกันกับวัดผดุงธรรม) หลวงปู่เล่าว่า ต้องเดินข้ามดงเสือไปฟังธรรมหลวงปู่พรหม ทุกคืนตลอดพรรษา พอออกพรรษาก็ธุดงค์ไปจังหวัดอุดรธานี กับเพื่อนพระด้วยกัน ชื่อ ไป ตอนแรกหลวงปู่ตั้งใจจะไปเพียง 3 วัน ก็จะกลับ แต่ในที่สุดก็ออกธุดงค์เรื่อยไปจนถึงจังหวัดร้อยเอ็ด (เพื่อนพระที่ไปด้วยกียในตอนแรกขอกลับก่อน) และที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ จังหวัดร้อยเอ็ด หลวงปู่ได้พบหลวงพ่อสมชาย วัดเขาสุกริม และได้ออกเที่ยวธุดงค์ด้วยกันเหลายเดือน และหลายหนต่อมา แต่ไม่เคยได้จำพรรษาด้วยกัน หลวงปู่เล่าว่า เที่ยวธุดงค์ไปหลายที่หลายแห่งรวมทั้งวัดท่าคันโธแต่ก็ไม่ได้จำพรรษาที่นี่
พรรษาที่ 3-4 (พ.ศ.2487-2488 ) หลวงปู่จำพรรษาอยู่กับพระอาจารย์เพ็ง ที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ จังหวัดร้อยเอ็ด พระอาจาร์เพ็ง พุทธธัมโม นี้ เป็นลูกของหลวงปู่บัว สิริปุญโณ วัดบ้านหนองแสง จังหวัดอุดรธานี ระหว่างปี พ.ศ.2487-2489 หลวงปู่ได้เที่ยวธุดงค์ไปกับหลวงปู่บุญจันทร์ กมโล เพื่อนสหมิกธรรมของท่าน หลวงปู่เล่าว่า หลวงปู่บุญจันทร์นั้นเป็นคู่บารมีของท่าน เที่ยวป่าด้วยกันถึง 3 ปี แล้วก็จากกันไปนาน มาพบกันอีกครั้งหนึ่ง เมื่อหลวงปู่บุญจันทร์ได้มาอยู่ที่ อำเภอไชยวานแล้ว ไม่ไกลจากวัดเหวลึกมากนัก แต่ก็ไม่เคยพบกัน จนกระทั่งวันหนึ่ง หลวงปู่ลีนั่งรถมาทำธุระที่จังหวัดอุดรธานี ซึ่งหลวงปู่บุญจันทร์ก็นั่งอยู่ในรถคันเดียวกัน ท่านว่า เรามองหน้าทั่น จำได้คลับคล้ายคลับครา แต่ไม่แน่ใจ คิดมาตลอดทาง จนถึงอุดรธานี พอลงรถ ก็ติดสินใจเข้าไปจับมือ แล้วถามว่า หลวงปู่บุญจันทร์ใช่ไหม เมื่อท่านตอบว่า ใช่ นั่นแหละความหลังจึงคืนมา ตั้งแต่นั้นหลวงปู่ลีก็ไปมาหาสู่ หลวงปู่บุญจันทร์มาตลอด จนกระทั่งหลวงปู่บุญจันทร์ละสังขารไปก่อน เมื่อ พ.ศ.2538
พรรษาที่ 5-6 ( พ.ศ.2489-2490 ) หลวงปู่เที่ยวธุดงค์มาจนถึงจังหวัดกาฬสินธุ์ วัดประชานิยมของท่านเจ้าคุณแดงแต่ก็ยังเทียวไปเทียวมา ระหว่างวัดท่าคันโธอยู่ หลวงปู่เล่าว่า ที่กาฬสินธุ์ เนื่องจากญาติโยมดี คือสนใจในพระพุทธศาสนา ท่านว่า ภาวนาก็ดี ก้าวหน้าโดยลำดับดีมาก
ในช่วงที่อยู่กับท่านเจ้าคุณแดง ท่านเคยถูกเจ้าคุณแดงดุเอาเหมือนกัน ท่านเล่าให้ฟังว่า พระที่อยู่ในวัด 18 รูป ไม่มีใครกล้าขึ้นไปหาท่านเจ้าคุณแดง เวลาขุดหลุมลึก ๆ แล้วใช้เสาสว่านขุด พองัดขึ้น หมุดเสาสว่านก็หัก พระทุกรูปกลัวท่านเจ้าคุณแดงจะดุ จึงไม่มีใครกล้าขึ้นไปบอกให้ท่านเจ้าคุณทราบ หลวงปู่ก็ได้พูดขึ้นว่า คนจะกินคนหรือ แล้วท่านก็ขึ้นไปกราบเรียนเรื่องหมุเดเสาสว่านหัก ท่านเจ้าคุณก็ว่า หักมันก็หักไป คนเรายังมีวันตาย ท่านเจ้าคุณแดงพูดอย่างนี้ หลวงปู่จึงลงมาด้วยความสบายใจ
ช่วงพรรษาที่ 6 ต่อพรรษาที่ 7 ท่านเคยคิดที่จะสึกเพราะมีโยมอยากได้หลวงปู่เป็นลูกบุญธรรม จะมอบทรัพย์สมบัติทั้งปวงให้ครอบครอง หลวงปู่ได้พิจารณาตามและเกิดความเบื่อหน่าย ท่านว่า ของเหล่านี้ไม่ใช่ของเรา ถ้าไปเอาของเขามา ก็จะเป็นการสร้างบาปสร้างกรรมให้ยืดเยื้อต่อไปอีก คิดได้ดังนี้ จึงไม่คิดสึกออกไปอีกเลย
นอกจากนี้ พ.ศ.2490 หลวงปู่ได้เริ่มเป็นครูพระปริยัติธรรม ณ วัดศรีชมพูเรื่อยมาจนท่านมรณภาพ
พรรษาที่ 7-8 (พ.ศ.2491-2492) พอออกพรรษาหลวงปู่ก็คิดถึงบ้าน จึงกราบลาท่านเจ้าคุณแดงออกจากวัดประชานิยม เดินทางกลับบ้านบึงโน ผ่านมาทางธาตุพนม ระหว่างทางพบพระอาจารย์ทองสุก สุจิตโต และได้เดินทางกลับบ้านบึงโนพร้อมกัน
สองพรรษานี้หลวงปู่อยู่ที่วัดธรรมิการาม เพื่อช่วยบูรณปฎิสังขรณ์วัดบ้านเดิมของท่านหลวงปู่ได้พาพระเณรชาวบ้านสร้างศาลาการเปรียญ กุฏิ และอื่นๆ จนเสร็จสมบูรณ์
พรรษาที่ 9 (พ.ศ.2493) ศรัทธาญาติโยมได้นิมนต์หลวงปู่ให้อยู่จำพรรษาที่วัดศริชมพู หลวงปู่รับนิมนต์และอยู่สร้างโบสถ์ ที่วัดศรีชมพูจนแล้วเสร็จ ได้ฉลองโบสถ์ในพรรษานี้ด้วยกัน ต้นปี พ.ศ. 2493 หลวงปู่ได้เดินทางไปร่วมงานประชุมเพลิงศพพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ณ วัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ในฐานะศิษย์คนหนึ่ง ซึ่งอัฐิธาตุของพระอาจารย์ใหญ่มั่นส่วนซี่โครง 1 ชิ้น ที่หลวงปู่ได้มานั้น ท่านได้นำไปประดิษฐานไว้บนยอดเศียรพระประธานวัดศรีชมพู ต่อมาหลวงปู่นึกสังหรณ์ใจจึงปีนขึ้นไปดู แต่ไม่พบนึกสงสัยอยู่นานว่า หายไปได้อย่างไร เพราะไม่มีผู้ใดรู้ว่าหลวงปู่นำอัฐิธาตุท่านพระอาจารย์มั่นมาเก็บไว้ ณ ที่นี้ แต่พอนึกทบทวนดูจึงรู้ว่า เอาลูกไว้บนหัวพ่อ ท่านไม่ยอมอยู่จึงหนีไป
หลวงปู่เคยพูดว่า การอยู่กับหลวงปู่มั่นนั้น ต้องระมัดระวังความคิดมากเป็นพิเศษ อย่าคิดนอกลู่นอกทาง เพราะท่านจะรู้เท่าทันหมด ต้องสำรวมกาย-วาจา-ใจ ไม่ฟุ้งซ่านไมในอารมณ์ อื่น ใครๆ ก็ว่าหลวงปู่มั่นดุ ท่านดุก็เพราะคนผู้นั้นทำผิด ท่านดุก็เพื่อให้ผู้นั้นกลับตัว หลวงปู่เคยเล่าให้ฟังถึงการอุปัฏฐากหลวงปุ่มั่นไว้สั้นๆ ว่า เราคิดว่าเราไวแล้ว เรายังไวไม่เท่าเพื่อนเลย ในพรรษานี้หลวงปู่ได้สร้างอุโบสถวัดเจริญราษฎร์บำรุง บ้านมาย อำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร
พรรษาที่10-11 (พ.ศ. 2494-2495)สองพรรษานี้หลวงปู่กลับมาจำพรรษาที่วัดป่าศรีไพวัลย์ จังหวัดร้อยเอ็ดอีกวาระหนึ่ง ช่วงพรรษา สหธรรมิกที่หลวงปู่ปราถเสมอว่าเป็นคู่ทุกข็คู่ยากของหลวงปู่ได้ออกเที้ยวธุดงกับหลวงปู่ด้วย คือ พระอาจารย์อุดม ญาณรโต (พระครูอุดมศีลวัตร วัดป่าสถิตธรรมวนาราม บ้านหนองผักแว่น จังหวัดหนองคาย) จากคำเล่าของพระอาจารย์อุดม ท่านว่า หลวงปู่ลีมีอัธยาศัยช่างพูด ช่างเล่า เที้ยวธุดงค์จำพรรษา ด้วยกัน 6 พรรษาจนกลายเป็นศิษย์ พระอาจารย์กัน พระอาจารย์อุดมว่า อาตมาเทืดทูนท่านมากน่ะ ปู่ลีท่านเป็นครูเป็นอาจารย์ ตีเสมอครูบาอาจารย์ ไม่ดีน่ะ
ท่านว่ามีกิจกรรมร่วมกันมาตลอดนตายจากกัน
พรรษาที่ 12 (พ.ศ.2496)หลวงปู่เล่าว่าก่อนเข้าพรรษาปีนี้พระอาจารย์อุดมมารับหลวงปู่ท่บ้านบึงโนเพื่อจะไปธุดงค์กันที่กาฬสินธุ์นั้น ฝนตกตลอด แม่น้ำชีไหลเชี่ยวกราก ต้องโยงสายลวดให้ผู้คนช่วยดึงเพื่อ ให้เรือแล่นไปตามสายลวดไม่เช่นนั่นเรือจะข้ามฟากไปไม่ได้ หลวงปู่เล่าไปถึงวัดประชานิยม จังหวัดกาฬสินธุ์ ก่อนเข้าพรรษาแค่วันเดียวมีพระเณรมาจำพรรษาทั้งสิ้นรวม 9 รูป พระอาจารย์อุดมเล่าว่า พรรษานี้สมภารไม่ค่อยจะเข้ากับหลวงปู่ลีท่านเท่าไรนัก เนื่องจาก หลวงลีเทศเก่ง พูดคุยสนุก ญาติโยมจึงชอบสนทนาธรรมกับหลวงปู่มากกว่าหมู่
หลวงปู่อุดมเล่าว่า ท่านได้รับความเมตตาจากหลวงปู่ลีมาก หลวงปู่ลีจะคอยแนะนำพร่ำสอนกรงานทุกอย่าง ทำศาลา ทำกุฏิ ข้อวัตรปฏิบัติต่าง ท่านสอนหมด เพราะติดตามท่านไม่ห่างท่านเล่าว่าหลวงปู่ลีละเอียดมาก ทั้งงานภายนอกภายใน ระหว่างพรรษานี้ได้ขุดบอน้ำ 2 แห่ง แต่ใช้ไม่ได้เลย เพราะขุดลงไปก็พังหมด เนื่องจากเป็นดินทรายและน้ำก็เหม็นมาก ท่านต้องหาน้ำ หาบน้ำมาต้มน้ำให้หลวงปู่ลีสรงน้ำอาบตลอดพรรษา นอกจากนี้หลวงปู่อุดมยังเล่าให้ฟังว่า ความเมตตาที่ท่านได้รับจากหลวงปู่จรนประทับจิตจประทับใจป็นที่สุดก็คือ คำชี้แนะเรื่องข้ออรรถข้อธรรมและการภาวนาท่านว่า หลวงปู่ลีไม่เคยปิดบังอำพราง แต่จะพูดเปิดเผยทุกอย่าง โดยเฉพาะเวลาค่ำ ๆ ที่อยู่เฉพราะกันเพียง 2 องค์ บางครั้งปิติกับคำสอนจนสามารถปฏิบัติได้ถึงขนาด พระอาจารย์อุดมเล่าว่า พรรษานี้เป็นพรรษาที่ปฏิบัติความดีมาก เร่งรัดความเพียรเป็นที่สุด แต่กิจการงานภายนอกก็ไม่ขาดน่ะ เรื่องนี้หลวงปู่ลีท่านเข้มงวดมาก ขาดไม่ได้เลยทั้งสองส่วน
พรรษาที่ 13 (พ.ศ.2497 )ก่อนเข้าพรรษานี้ หลวงปู่และพระอาจารย์อุดมพร้อมโยมอีกประมาณ 20 คน ด้เดินทางจากกุดเรือคำ ไปถึงดงหมิอทองเพื่อกราบเย่อมหลวงปู่ขาว อนาลโยและพระอาจารย์จวน กุลเชษโฐ
ซึ่งท่านทั้งสองได้พักที่ดงหม้อทองยังเป็นป่าสมบูรณ์ ไม่เห็นแดด ครึ้มตลอด มีแต่เสียงหริ่งเรไรร้อง มีโขลงช้าง ซึ้งวลามาที คนก็วิ่งแตกตื่นขึ้นบนขอนไม้ใหญ่ ก็ไปเจอทากข้าอีก (ภาษาอีสานเรียกว่า ปลิงโคก) ก็วิ่งหนีกันจนผ้าผ่อนเปิด ไม่ได้สนใจกัน หลวงปู่อยู่บนก้อนหิน ( พระลานหิน ) ป็นลูก ๆ คล้ายโบกี้รถไฟติดต่อกัน ต้องทำสะพานเชื่อมกันไว้ลูกสูงขึ้นไปต้องทำบันไดขึ้น เมื่อขึ่นไปแล้วก็ชักบันไดขึ้น ไม่ต้องกลัวเสือ ข้างบนมองลงมาเห้นช้าง เห็นเสือ แต่มันขึ้นไปกวนไม่ได้ หลวงปู่ยังเล่าเพิ่มเติมถึงประวัติของดงหม้อทองอีกว่า เดิมมีน้ำตกลงมาจากที่สูง ลงลงมาเป็นอ่งน้ำ เป็นวังวน ถ้ามุดใต้น้ำเข้าไปจะพบถ้ำ ( แอ่งน้ำอยู่หลังถ้ำ ) แล้วจึงจะพบหม้อทองโบราณอยู่ภายในถ้ำ หลวงปู่เล่าว่า ที่ดงหม้อทองนี้ท่านไม่ได้จำพรษา แค่ไปกรบเยี่ยมครูบาอาจารย์ พักอยู่หลายวัน จึงเดิทางกลับออกมา ถึงวัดกุดเรือคำก่อนเข้าพรรษา 7 วัน เป็นอันว่าพรรษานี้หลวงปู่กับพระอาจารย์อุดมจำพรรษาที่วัดกุดเรือคำของท่านพระครูอดุล สังฆกิจ (เถื่อน อุชุกโร) หลวงปู่ได้ทำหน้าที่ควบคุมการก่อสร้างกุฏิเจ้าอาวาสที่วัดกุดเรือคำนี้ 1 หลัง จนแล้วเสร็จในพรรษานี้เช่นกัน
พรรษาที่ 14-16 (พ.ศ.2498-2500) ระหว่าง 3 พรรษานี้ หลวงปู่อยู่ประจำที่วัดศรีชมพู จังหวัดสกลนคร แต่จะไปมาระหว่างวัดศรีชมพู กับวัดของหลวงปู่พรหม จิรปุญโญ เพื่อกราบเยี่ยมสนทนาธรรมกับองค์หลวงปู่พรหม เป็นประจำมิได้ขาด ปี พ.ศ.2498 หลวงปู่สอบได้นักธรรมชั้นโท สำนักเรียนวัดกุดเรือคำ อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร และในปี พ.ศ.2499 หลวงปู่สอบได้นักธรรมชั้นเอก
พรรษาที่ 17 -21 (พ.ศ.2501 -2505) หลวงปู่จำพรรษาอยู่ที่วัดธรริการาม บ้าง วัดป่าบ้านถ่อน บ้าง และมาจำพรรษาที่วัดบ้านบึงโนตามคำกราบนิมนต์ของญาติโยม ในช่วงออกพรรษาท่านได้รับเจตนารมณ์ของหลวงปู่พรหม จิรปุญโญ เพื่อสร้างวัดโพนสูง อำเภอสว่างแดนดินจังหวัดสกลนคร ใช้เวลาดำเนินการ 2 ปี จึงแล้วเสร็จ
ในพรรษาที่ 18 นี้เช่นกันที่สหธรรมกของหลวงปู่คือพระอาจารย์อุดม ได้ขอลาไปเที่ยวธุดงค์ หลังจากที่เป็นคู่ทุกข์คู่ยากจำพรรษาด้วยกันมาถึง 6 พรรษา
พรรษาที่ 22 (พ.ศ. 2506 ) ปีนี้หลวงปู่ปลีกวิเวกจากหมู่ไปจำพรรษาที่วัดเนินเขาแก้ว จังหวัดจันทบุรี ของหลวงปู่เจี๊ยะ มูลเหตุแห่งการปลีกวิเวกในครั้งนี้ เป็นเพราะในระหว่างที่หลวงปู่จำพรรษาที่วัดศรีชมพูนั้น ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) วัดโพธิสมพร จังหวัดอุดรธานี ประสงค์จะให้หลวงปู่เป็นพระอุปัชฌาย์ แต่หลวงปู่ปฏิเสธ พ่อใหญ่สด (โยมอุปัฏฐาก) ได้กราบเรียนถามว่า เพราะเหตุใดหลวงปู่จึงปฏิเสธไม่รับตำแหน่งทั้งๆ ที่บ้านบึงโนยังไม่มีพระอุปัชฌาย์ ชาวบ้านจะบวชพระธรรมยุติลำบาก หลวงปู่ตอบว่า บ้านพวกเจ้านี้หรือที่อยากจะได้พระอุปัชฌาย์เห็นแต่ละคนไม่พากันเข้าวัดเลย แล้วจะอยากได้พระอุปัชฌาย์ไปทำไม ที่เรามาบวชนี้ก็เพราะอยากทำความเพียร ทำภาวนา สร้างบุญ สร้างกุศล ไม่ได้ต้องการเป็นพระเจ้าพระนาย มีตำแหน่งใหญ่โตให้ผู้คนรู้จัก พ่อใหญ่สดเล่าว่า เจตนาข้อนี้ของหลวงปู่ได้แสดงให้เห็นแจ้งชัดกันอีกครั้ง เมื่อเจ้าคณะอำเภอสว่างแดนดินมรภาพลง คณะสงฆ์ประชุมกัน 4-5 ครั้ง ลงมติมอบตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอให้ท่าน ท่านก็ไม่ยอมรับเช่นกันในที่สุด หลวงปู่จึงปลีกวิเวกหลบไปจำพรรษาที่จังหวัดจันทบรี เป็นการยุติเรื่องทั้งมวล
พรรษาที่ 23-24 (พ.ศ.2507-2508) จำพรรษาอยู่ที่วัดศรีโพนสูง (วัดป่าบ้านถ่อน) ตำบลโพนสูง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร เพื่อสอนธรรมศึกษาสำหรับเรื่องธรรมศึกษานี้ เป็นที่ประจักษ์กันในหมู่พระเณรที่เป็นลูกศิษย์ลูกหาของหลวงปู่ว่า ท่านสนับสนุนให้พระเณรแตกฉานในทางธรรม เรียนกันตั้งแต่นักธรรมตรี โท ถึงเอก นอกเหนือจากการปฏิบัติภาวนา อันเป็นหลักของใจ ด้วยเหตุนี้ ปี 2507 หลวงปู่จึงรับเป็นพระธรรมทูตสายที่ 5 นอกจากนี้ ปี 2508 ท่านยังได้รับตำแหน่งเจ้าคณะตำบลสว่างฯ เขต 2 (ธรรมยุต)
พรรษาที่ 25 (พ.ศ.2509 ) ไม่แน่ชัดว่าหลวงปู่ได้กลับไปจำพรรษาที่วัดเนินเขาแก้ว จังหวัดจันทบุรีอีกครั้ง หรือ จำพรรษาที่วัดศรีชมพู บ้านบึงโน จังหวัดสกลนคร อย่างไรก็ดีหลวงปู่ท่านเคยเล่าให้ญาติโยมฟังสนุกๆ ว่าท่านหนีไปจำพรรษา และบิณฑบาต ฉันแต่ทุเรียนอยู่ที่จังหวัดจันทบุรี ในปี 2509
พรรษาที่ 26-30 (พ.ศ. 2510-2515 ) 6 พรรษานี้หลวงปู่อยู่ประจำวัดศรีชมพูโดยตลอด ถ้าจะรับกิจนิมนต์ไปที่ใดก็เป็นระยะเวลาไม่นานนัก ด้วยหลวงปู่พรหม จิรปุญโญซึ่งหลวงปู่เคารพเทิดทูนนับถือเป็นพ่อแม่ครูบาอาจารย์อยู่ในวัยชรามากแล้วองค์หลวงปู่พรหมเองท่านก็ให้ความเมตตาไว้ใหลวงปู่ลีให้ดูแลรับผิดชอบใน กิจการงานต่างๆ ของท่าน ตราบถึงกิจการงานสุดท้ายนั้นคืองานสร้างเจดีย์เพื่อบรรจุอัฐิธาตุของท่าน
หลวงปู่เล่าว่า ท่านมอบกายถวายชีวิตเพื่อเป็นเครื่องสักการบูชาพ่อแม่ครูบาอาจารย์เป็นครั้งสุดท้าย หลวงปู่ในฐานะศิษย์รุ่นใหญ่ร่วมกับพระอาจารย์วัน อุตตโม เป็นประธานร่วมในงานประชุมเพลิงหลวงปู่พรหม จิรปุญโญ ในเดือนมีนาคม 2514 ท่านว่า งานศพพระกรรมมัฏฐานไม่ควรต้องมีอะไรมาก ไม่ต้องมีมหรสพให้วุ่นวาย ตอนกลางวันมีครูบาอาจารย์เป็นองค์แสดงธรรม พอกลางคืนพระภิกษุสามเณรอุบาสกอุบาสิกาพร้อมกันทำวัตรสวดมนต์ และมีเทศน์ตลอดคืน เท่านี้ก็พอสมควรแก่พระกัมมัฏฐานโดยแท้แล้ว ท่านเจ้าคุณญาณเวทีได้เล่าเท้าความถึงงานประชุมเพลิงหลวงปู่พรหม จิรปุญโญในครั้งนั้นว่า สาธารณชนได้มีโอกาสรู้จักและกราบไหว้หลวงปู่ชอบ ฐานสโม เพื่อนสหธรรมิกของหลวงปู่พรหม เป็นครั้งแรกเช่นกัน และนับเป็นครั้งแรกที่หลวงปู่ชอบ ฐานสโม ได้เมตตาแสดงธรรม เล่าถึงปฏิปทาขององค์หลวงปู่พรหม ในระหว่าเที่ยวธุดงค์ ด้วยกันท่ามกลางสาธารณชน
ในส่วนเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุนั้น หลวงปู่ลีได้เป็นประธานดำเนินการก่อสร้างตามเจตนารมร์ของ หลวงปู่พรหม จิรปุญโญ จนแล้วเสร็จ ในปีเดียวกับที่หลวงปู่พรหม มรณภาพ คือปี พ.ศ.2512 นั่นเอง ปลายปี พ.ศ.2514 หลวงปู่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดศรีชมพู ตำบลโคกสี อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร และดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดศรีชมพูจันกระทั่งพรรษาสุดท้ายของท่าน
พรรษาที่ 32-56 (พ.ศ.2516-2542) เมื่อหลวงปู่ได้ตัดสินใจปักหลักสร้างวัดเหวลึก ณ บ้านบึงโน ตำบลโคกสี อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร แล้วนั้น ท่านก็ได้จำพรรษาที่วัดเหวลิกมาโดยตลอดมิได้ขาด หลวงปู่ใช้เวลากว่าครึ่งชีวิต ภายใต้ร่มกาสาวพัตร ภายต้าร่มพระโพธิญาณ หลวงปู่ดำรงองค์ตั้งมั่นเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า แนะนำพร่ำสอนศรัทธาญาติโยมทั้งใกล้และไกล ให้รู้จักบำเพ็ญทาน รักษาศีล และเจริญเมตตาภาวนา ให้ตั้งมั่นอยู่ในพระรัตนตรัย ท่านว่า ให้ยึดเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ สวากขาตะธรรม ธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ ดีแล้ว ชอบแล้ว ไม่ต้องสงสัย หลวงปู่ว่า ตั้งใจนะ ได้มากได้น้อยก็ยังดีกว่าไม่ได้เลย ให้มันเป็นนิสัยติดตัวไป จะได้ไม่เสียทีที่เกิดมาพบเจอพระพุทธศาสนา ท่านว่า ศีลห้าต้องเคยรักษา เคยมีมาแล้วทั้งนั้น ไม่อย่างนั้น หัวหนึ่ง แขนสอง ขาสอง จะมีครบกันได้อย่างไร ธรรมะของหลวงปู่มักจะเป็นธรรมะใกล้าตัวอุบายธรรมที่หลวงปู่เทศน์อบรมลูกศิษย์ทั้งพระทั้งฆราวาสเพื่อให้เข้าใจโดยลึกซึ้งและถ่องแท้นั้น เหมาะเจาะงดงาม ทั้งปลุกปลอบ ทั้งให้กำลังใจ เพราะหลวงปู่ท่านรู้จักธรรม รู้จักบุคคล คำสอนของท่านจึงเป็นประโยชน์โดยตรงต่อผู้น้อมไปพิจารณา
ในส่วนของนักปฏิบัติภาวนา หลวงปู่จะเน้นสอนเป็นพิเศษเป็นกรณีบุคคล ท่านว่า ทุกอย่างอยู่ที่ ใจ ตัวเดียว นั่นคือ ตั้งใจ และ ทำเอา หลวงปู่ว่า พระพุทธเจ้าท่าน ก็ทรงบอกทางเฉยๆ เราต่างหากที่เป็นผู้กระทำ เป็นผู้เดินทาง ต้องการอะไรก็ทำเอา ไม่พลาดหวัง ไม่ผิดหวังหรอก ธรรมวินัยมีอยู่ตราบใด มรรคผลนิพพานก็มีอยู่ตราบนั้น ไม่ต้องสงสัย ให้เสียเวลาเลยกับเรื่องของคุณงามความดีเพราะเป็นของจริง มีจริง หลวงปู่ท่านสนับสนุนนักหนาในการภาวนา ท่านว่า ทาน กว่าจะถึงพระนิพพานน่ะมันช้า หรือบางทีก็ไม่ถึง เพราะมันหลง หลงในทาน จึงหลงทาง เออ ภาวนาสิ จึงเป็นยอดบุญ ภาวนาตัวเดียวนี่แหละ ได้หมด ทั้งทาน ศีล ภาวนา ใช่ไหมล่ะ พิจารณาดู ว่ามันถูกไหม ที่พูดนี่ อย่าเสียเวลา วันคืนล่วงไป ทำจริงก็ต้องเห็นจริง อย่าสงสัย
มาในระยะหลัง กิจนิมนต์ของหลวงปู่มากขึ้นตามจำนวนลูกศิษย์ที่เพิ่มขึ้นมากมาย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ หลวงปุ่ท่านก็ยังดำรงองค์แผ่กิ่งก้านแห่งความร่มเย็น ปกคลุมไปทั่วโดยมิได้เหน็ดเหนื่อย โดยมิได้ละเว้น เมตตาของหลวงปู่ไม่มีประมาณ ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่เคยตกหล่น แม้ลูกศิษย์ตัวน้อย ด้วยเหตุนี้ เรื่องราวใน 24 พรรษาของท่าน จึงเป็นบันทึกเล่าขานที่ไม่มีม้วนเทปม้วนใด บุคคลใด บันทึกได้ครบถ้วนสมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรษาสุดท้ายที่อาการอาพาธของหลวงปุู่หนักขึ้นเรื่อยๆ แต่กระนั้น หลวงปู่ก็ยังดำรงองค์เหมือนไม่มีอะไร หลวงปู่ไม่ได้สนใจต่อโรคร้าย ที่แสดงตัวกำเริบขึ้นทุกที ท่านยังคงทำหน้าที่ พระธรรมทูต เผยแผ่พระธรรมคำสอนแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่เป็นปกติ ตราบถึงวินาทีสุดท้าย
มรณภาพ
ณ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ในเวลา ๐๙.๐๐ นาฬิกา ของวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๒ ซึ่งตรงกับวันพฤหัสบดี แรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๗ ปีเถาะ สิริอายุรวม ๗๘ ปี ๘ เดือน ๘ วัน พรรษา ๕๖