ประวัติ หลวงปู่บุญพิน กตปุญโญ วัดผาเทพนิมิต อำเภอวังสามหมอ จังหวัดอุดรธานี
ชาติภูมิ
หลวงปู่บุญพิน มีนามเดิมว่า บุญพิน นามสกุล เจริญชัย ถือกำเนิดเมื่อวันขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๖ ปีระกา พุทธศักราช ๒๔๗๖ ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๒๗ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๗๖ ณ บ้านนาบ่อ หมู่ที่ ๖ ตำบลปลาโหล อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร
โยมบิดาคุณพ่อไพ เจริญชัย โยมมารดาคุณแม่จันที เจริญชัย หลวงปู่มีพี่น้องร่วมบิดา – มารดาเดียวกันรวม ๘ คน คือ
๑. นายกานี เจริญชัย (ถึงแก่กรรม)
๒.นางคำเขียน (ถึงแก่กรรม)
๓.นางคำบิน แก้วอุ่นเรือน
๔. หลวงปู่บุญพิน กตปุญโญ
๕.นางวิเศษ จันทร์มี
๖. นางทองเทศ ภูดีทิพย์ (ถึงแก่กรรม)
๗. พ.ท. วรเดช เจริญชัย
๘.นางเทวา สุวรรณเขต
ปฐมวัย
หลวงปู่บุญพิน ได้เรียนหนังสือจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ระดับ การเรียนอยู่ในเกณฑ์ดีมาก เรียนที่โรงเรียนบ้านนาบ่อ หลังจากเรียนจบ ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ แล้ว โยมพ่อ โยมแม่ได้ให้ออกมาช่วยงานที่บ้าน เพราะที่บ้านมีอาชีพหลักคือ การทำนา ท่านได้ช่วยงานโยมพ่อ โยมแม่ จนถึงอายุ ๑๗ ปี พอขึ้นทะเบียนทหารแล้วได้ลาโยมพ่อ โยมแม่ ไปอยู่กับพี่สาวที่บ้านนาทม จังหวัดนครพนม ช่วยพี่สาวค้าขายและเป็น ช่างเย็บผ้า หน้านาก็ทำนา พอถึงหน้าแล้งก็ต้มเกลือใส่เรือกระแชงไปขาย หมดหน้าเกลือก็รับจ้างขนข้าวล่องเรือตามแม่น้ำสงครามแม่น้ำโขงไปขายใน ตลาดนครพนม ได้ประกอบอาชีพอย่างนี้เป็นระยะเวลาติดต่อกันนานถึง ๕ ปี จนเกิดความเหนื่อยล้าเบื่อหน่ายในการค้าขาย และได้พิจารณาเห็นความทุกข์อยู่ตลอดเวลา ในช่วงนั้นหลวงปู่มีศรัทธาอยากบวชในบวร
พระพุทธศาสนาขึ้นมาอย่างแรงกล้า แต่พี่สาวอยากให้ครองเรือน หลวงปู่ ท่านระลึกได้ว่าโยมพ่ออยากให้บวชให้โยมพ่อเสียก่อนที่จะครองเรือน จึงลาพี่สาวกลับไปปรึกษาโยมพ่อ โยมแม่ที่บ้านนาบ่อ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร ซึ่งโยมพ่อ โยมแม่ก็อนุญาตแต่โดยดี
เข้าสู่แดนธรรม
พออายุได้ ๒๓ ปี หลวงปู่ได้ตัดสินใจเข้าสู่ใต้ร่มกาสาวพัตร์ โดยมีหลวงปู่สีลา อิสฺสโร วัดป่าอิสระธรรม บ้านวาใหญ่ ตำบลวาใหญ่
อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร เป็นผู้รับไว้และได้รับเป็นนาค ต่อมาหลวงปู่สีลา อิสฺสโร ได้ทำบุญอุทิศให้โยมแม่ และได้ให้หลวงปู่ บุญพิน เป็นผู้รับบวชในครั้งนั้นด้วย
อุปสมบท
หลวงปู่ได้บรรพชาและอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ในวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะแม เวลา ๑๔.๓๕ น. ที่วัดป่าอิสระธรรม บ้านวาใหญ่ ตำบลวาใหญ่ อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร โดยมีพระอุปัชฌาย์ พระกรรมวาจาจารย์ และพระอนุสาวนาจารย์ เรียงตามลำดับดังนี้
– หลวงปู่สีลา อิสฺสโร วัดป่าอิสระธรรม
ตำบลวาใหญ่ อำเภออากาศอำนวย
จังหวัดสกลนคร เป็นพระอุปัชฌาย์
– หลวงปู่อุ่น อุตฺตโม วัดอุดมรัตนาราม
อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร
เป็นพระกรรมวาจาจารย์
– หลวงปู่ผ่าน ปญฺญาปทีโป วัดปทีปปุญญาราม
อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร
เป็นพระอนุสาวนาจารย์
ชีวิตใต้ร่มกาสาวพัตร์
พรรษาที่ ๑ (พ.ศ. ๒๔๙๘)
เมื่ออุปสมบทแล้วได้อยู่กับพระอุปัชฌาย์ และได้ศึกษาพระธรรมวินัย ฝึกหัดนั่งสมาธิภาวนา เริ่มแรกพระอุปัชฌาย์ให้ฝึกหัดทำสมาธิด้วยคำบริกรรม “พุทโธ” ตลอดพรรษา ระหว่างกลางพรรษา หลวงปู่ได้ทำสมาธิภาวนา แล้วได้เกิดนิมิตขึ้นเห็นพระพุทธรูปทองคำเหลืองอร่ามใหญ่มาก ขณะที่นั่งภาวนาอยู่นั้นได้ลืมตาดูก็ยังเห็นอยู่ หลวงปู่จึงหยิบไฟฉายส่องดูนิมิตนั้นจึงหายไป แต่ช่วงที่เกิดนิมิตนั้นยังไม่เข้าใจอะไรกับนิมิต เพราะเริ่มฝึกหัดใหม่ พอวันต่อมาได้กราบเรียนถาม หลวงปู่สีลาว่า คืนที่ผ่านมา กระผมได้นั่งสมาธิภาวนา ขณะจิตเป็นสมาธิ ได้เกิดนิมิตเห็นพระพุทธรูปทองคำองค์ใหญ่มาก หลวงปู่สีลาได้แก้นิมิต ให้ว่า นิมิตเห็นพระพุทธรูปทองคำนั้นดีแล้ว เพราะพระพุทธรูปเป็น เครื่องหมายของพระพุทธเจ้า เฉพาะถ้าเราอยู่ในพระพุทธศาสนาเราจะมี ความเจริญรุ่งเรืองในพระพุทธศาสนา แล้วหลวงปู่สีลายังบอกและเตือนหลวงปู่ว่าอย่าสิกขาลาเพศไปให้อยู่ในศาสนา พอได้ยินหลวงปู่สีลาพูด อย่างนั้น ก็เกิดปิติมีความอิ่มเอิบใจที่จะอยู่ในพระพุทธศาสนาต่อไป และได้ศึกษานักธรรมชั้นตรีด้วย พอออกพรรษา จึงได้สอบนักธรรม ชั้นตรี พอสอบนักธรรมชั้นตรีได้แล้ว หลวงปู่ได้ไปศึกษานักธรรม ชั้นโทต่อที่วัดสุทธิมงคล อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร
พรรษาที่ ๒ (พ.ศ. ๒๔๙๙)
จำพรรษาที่วัดสุทธิมงคล อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ในระหว่างพรรษาได้ศึกษานักธรรมชั้นโท พอออกพรรษาก็สอบ นักธรรมชั้นโท
พรรษาที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๐๐)
จำพรรษาอยู่ที่วัดสุทธิมงคล ได้ศึกษานักธรรมชั้นเอก-บาลี เมื่อสอบนักธรรมเสร็จ จึงได้กราบลาเจ้าคุณพิศาลกลับไปหาอุปัชฌาย์ที่วัดป่าอิสระธรรม พอดีหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ กลับจากงานครบรอบ หลวงปู่มั่น ที่วัดป่าสุทธาวาสได้มาพักที่วัดป่าอิสระธรรม หลวงปู่อ่อน ได้เทศนาธรรมให้พระเณร และญาติโยมฟังตลอดเวลาที่พักอยู่หลวงปู่บุญพิน ครั้นได้ฟังเทศน์ของหลวงปู่อ่อน ทำให้จิตได้เป็นสมาธิ ได้รับรสชาติแห่งความสงบ หลวงปู่บุญพินจึงได้กราบลาหลวงปู่สีลาเพื่อออก ธุดงค์กับหลวงปู่อ่อน ท่านจึงได้จัดเตรียมบริขารเพื่อออกธุดงค์ จากนั้น ได้ธุดงค์ไปที่ภูวัวพร้อมกับหลวงปู่อ่อน หลวงปู่ผ่าน และสามเณร หลวงปู่บุญพินและสามเณรอยู่ที่ภูวัวจนถึงวันมาฆบูชา หลวงปู่ผ่าน ได้กราบลาหลวงปู่อ่อนกลับวัด จึงเหลือแต่หลวงปู่บุญพินกับสามเณร หลวงปู่อ่อนได้พาลงจากภูวัวมาบ้านโศกก่าม และพักที่บ้านโศกก่าม ได้ระยะหนึ่ง หลวงปู่บุญพินได้ป่วยเป็นไข้ป่ามาลาเรียอย่างแรง ยาที่จะ ฉันก็หมด อาการไข้มาลาเรียยิ่งรุนแรง วันหนึ่งขณะนอนเป็นไข้บนแคร่หลวงปู่อ่อนเดินเข้ามาแล้ว ได้บอกให้หลวงปู่บุญพินลุกขึ้นนั่ง หลวงปู่ อ่อนได้เทศน์ให้ฟัง เสร็จแล้วให้สามเณรเอามุ้งกลดลงและให้นั่งภาวนา ขณะที่นั่งภาวนากำหนดจิตต่อสู้กับเวทนาจนจิตสงบเป็นสมาธิ พอจิต ถอนจากสมาธิอาการไข้ได้หายเป็นปกติ หลังจากนั้น หลวงปู่อ่อนได้พา เที่ยวธุดงค์ไปเรื่อย ๆ จนถึงอำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม ช่วงนั้นเป็น เดือน ๖ ใกล้จะเข้าพรรษา หลวงปู่จึงลาญาติโยมเพื่อหาที่จำพรรษา ญาติโยมจึงพาหลวงปู่มาส่งขึ้นเรือที่ปากน้ำไชยบุรีไปจังหวัดนครพนม เพื่อขึ้นรถไปหาหลวงปู่ฝั้นที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ พักอยู่กับหลวงปู่ฝั้นระยะหนึ่ง ระหว่างที่พักกับหลวงปู่ฝั้น ได้ฟังเทศน์หลวงปู่ฝั้นทุกคืน ออกจาก วัดป่าภูธรพิทักษ์ ขึ้นรถไปจังหวัดอุดรธานี พักที่วัดโพธิสมภรณ์ ๑ คืน จึงขึ้นรถต่อไปวัดป่านิโครธาราม บ้านหนองบัวบาน อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี
พรรษาที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๐๑)
จำพรรษาที่วัดป่านิโครธาราม อยู่กับหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ในพรรษานี้หลวงปู่อ่อนบอกให้ท่านตั้งใจท่องพระปาฏิโมกข์ พอรับปากจะท่องก็ตั้งใจท่อง ใช้เวลา ๑ เดือนก็จบพอดี ขณะที่ท่องพระปาฏิโมกข์นั้น ก็ทำสมาธิภาวนาไปด้วย พอออกพรรษาแล้วก็ไปพักอยู่กับหลวงปู่ขาว อนาลโย ที่วัดถ้ำกลองเพล
พรรษาที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๐๒)
จำพรรษาที่วัดป่านิโครธาราม พอออกพรรษาแล้ว จึงกราบลา หลวงปู่อ่อนเพื่อออกเดินทางตามหาหลวงปู่ชอบ ตามไปที่วัดถ้ำผาบิ้ง แต่ไม่เจอ จึงไปวัดถ้ำผาปู่เจอหลวงปู่หลุย กราบเรียนถามหลวงปู่หลุย พอดีหลวงปู่หลุยจะไปหาหลวงปู่ชอบที่ฝั่งลาว หลวงปู่บุญพินจึงได้ ติดตามไปพร้อมกับหลวงปู่หลุย พบหลวงปู่ชอบที่เมืองลาว และตั้งใจ จำพรรษาที่เมืองลาว แต่ระยะนี้เหตุการณ์บ้านเมืองไม่สงบ ทหารลาว ไม่ให้พัก หลวงปู่ชอบจึงให้หลวงปู่บุญพินกับอาจารย์บัวคำธุดงค์มาพัก ที่บ้านนายาว บ้านนี้เป็นบ้านร้าง มีอยู่ ๕ หลังคาเรือน ระหว่างพักที่บ้าน นี้ ช่วงกลางคืนจะมีฝูงช้างผ่านมาทุกคืน และมีเสือร้องอยู่ใกล้ที่พัก มีคืนหนึ่งช้างหลงฝูงเข้ามาที่พักตัวหนึ่งไม่ยอมไป อาจารย์บัวคำจึงได้ ออกมาจุดไฟไล่ พอช้างได้กลิ่นควันไฟก็หนีไป หลวงปู่พักที่บ้านนายาว ประมาณ ๑ เดือน จึงได้กลับไปหาหลวงปู่หลุยกับหลวงปู่ชอบ จากนั้นหลวงปู่ชอบได้พาธุดงค์ขึ้นไปทางเหนือ ไปพักที่บ้านน้ำมี่ ถ้ำผาร่มพร้าว ในถ้ำนี้จะมีพระพุทธรูปโบราณมากมายจนหาที่นอนไม่ได้ เวลาจะนอนต้องใช้มือกวาดพระพุทธรูปออกก่อนแล้วจึงค่อยนอนได้ ขณะที่พักอยู่ในถ้ำนี้ หลวงปู่ได้ทำข้อวัตรปฏิบัติและทำสมาธิภาวนา ตลอดทั้งวันทั้งคืน เช้าวันหนึ่งขณะนำน้ำล้างหน้าและยาสีฟันถวาย หลวงปู่ชอบ หลวงปู่ชอบได้ถามว่า “ เมื่อคืนนี้ท่านได้นิมิตอะไรไหม” “กระผมไม่ได้นิมิตอะไรเลยขอรับ กระผมก็เหมือนคนตาบอดนี่เอง” หลวงปู่ชอบจึงพูดว่า เมื่อคืนนี้ได้นิมิตเห็นพญานาคสองผัวเมียลำตัว เท่าต้นมะพร้าว หัวพญานาคมาพาดที่ก้อนหินในถ้ำนี้ ส่วนหางนั้นอยู่ที่แม่น้ำโขง ตัวใหญ่มาก หลวงปู่บุญพินเลยถามหลวงปู่ชอบว่า “หัวของ พญานาค เหมือนที่เขาเขียนในรูปไหมขอรับ”
(หลวงปู่ชอบตอบ) “ก็เหมือนกับในรูปนั้นแหละ”
(หลวงปู่บุญพินถาม) “แล้วเขาขึ้นมาทำไมขอรับ”
(หลวงปู่ชอบตอบ) “พญานาคขึ้นมากราบหลวงปู่เพราะมีความศรัทธาเลื่อมใสและได้เทศนาศีล ๕ ให้พญานาคฟัง” จากนั้นหลวงปู่ชอบ ได้ถามพญานาคว่า “ในใต้บาดาลมีแสงอาทิตย์ไหม” พญานาคตอบ “ในใต้บาดาลไม่มีแสงอาทิตย์แต่มีแสงแก้วสว่างไสวตลอดทั้งกลางวันกลางคืน” พอหลวงปู่ชอบถามเสร็จ พญานาคก็กราบลา เวลาพญานาคจะไปไม่ เหมือนกับงู จะค่อย ๆ ถอยหลังไหลลงแม่น้ำโขงแล้วหายไปเลย พอคืนต่อมา พญานาคได้ขึ้นมาหาหลวงปู่ชอบอีก ท่านได้เล่าให้หลวงปู่บุญพินฟังว่า เมื่อคืนนี้พญานาคขึ้นมาหาเหมือนคืนก่อน แต่ คืนนี้เขาแปลงกายเป็นมนุษย์ผู้ชายกับผู้หญิง แต่งตัวเหมือนพระราชา ผู้ชายใช้ผ้าแดงคาดหัว ขึ้นมากราบหลวงปู่ หลวงปู่ชอบเลยถามว่า “พวกท่านมาจากไหน” ผัวเมียตอบว่า “คืนก่อนยังมากราบหลวงปู่เลย”
(หลวงปู่ชอบถาม) “แล้วคืนนี้ทำไมพวกท่านเป็นมนุษย์มา”
(พญานาคตอบ) “พวกกระผมเป็นพญานาคมีอิทธิฤทธิ์สามารถ
แปลงกายเป็นอะไรก็ได้”
(หลวงปู่ชอบถาม) “สาเหตุที่ท่านเป็นพญานาคมาอาศัยอยู่ใน
บาดาลใต้ถ้ำนี้ เพราะเหตุอะไร”
(พญานาคตอบ) “เมื่อชาติก่อนพวกกระผมมีบ้านอยู่ใกล้ถ้ำนี้ แล้วถ้ำนี้ก็เป็นวัด และได้นำเอาเสียม เอาจอบ เอามีดของวัดไปใช้แล้ว ไม่ได้ส่งคืน ถือเอาเป็นของเจ้าของ พอตายไปกรรมนั้นเลยให้ผลมาเกิด เป็นพญานาคใช้กรรมที่ได้ก่อไว้ใต้บาดาลใต้แม่น้ำโขงนี้” ต่อจากนั้นหลวงปู่ชอบได้เทศนาอบรมให้รักษาศีลให้ตั้งอยู่ในธรรม พอหลวงปู่ชอบเทศนาเสร็จ พญานาคได้กราบลาหลวงปู่กลับไป
มีวันหนึ่งหลวงปู่ชอบได้เตือนพระเณรว่าเวลาล้างบาตร อย่าเอาน้ำล้างบาตรสาดลงไปในฝั่งแม่น้ำ เช้าวันนั้นออกบิณฑบาตได้ข้าวปลาแห้งจำนวนมาก พอกลับถึงวัด หลวงปู่ให้เณรเอาไม้ไผ่มาหลาม คือเอาน้ำ ผัก ปลา ใส่ลงไปในกระบอกไม้ไผ่แล้วนำไปตั้งไฟ พอเสร็จแล้วนำมาถวายหลวงปู่หลุย หลวงปู่ชอบ พอฉันเสร็จ หลวงปู่บุญพินได้นำบาตรไปล้างที่ท่าน้ำและได้เห็นฝูงปลาเยอะแยะ จึงพากันสาดข้าวให้ปลากิน พอล้างบาตรเสร็จกลับขึ้นมาในถ้ำ ขณะเช็ดบาตรได้ยินเสียงดังสนั่นในริมฝั่งน้ำ จากนั้นหลวงปู่หลุย หลวงปู่ชอบ หลวงปู่บุญพิน พร้อมพระเณรได้ออกมาดูเห็นริมฝั่งแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นชายหาดพังทลาย ลงเหมือนกับใช้รถดันชายฝั่งเสียงสนั่นหวั่นไหว ขณะที่ยืนดูอยู่นั้น หลวงปู่ชอบได้กล่าวขึ้นว่า “ใครทำอะไรในท่าน้ำนั้น” หลวงปู่บุญพิน ตอบว่า “พวกกระผมพระเณรได้ไปล้างบาตร ได้เห็นฝูงปลาก็เลยสาดข้าวก้นบาตรให้มันกิน” หลวงปู่ชอบจึงกล่าวว่า “ในสถานที่นี้เป็นที่ อาศัยของพญานาค แล้วพวกนี้ไม่ชอบสกปรก ในเมื่อพระเณรได้ทำ สกปรกลงไปในน้ำพวกเขาเลยโกรธ เขาเลยแสดงอภินิหารให้ดู” จากนั้น
หลวงปู่ชอบก็เดินไปริมฝั่งน้ำ แล้วยืนกำหนดจิตชั่วระยะหนึ่ง เหตุการณ์ ก็สงบลงเป็นปกติ หลวงปู่ชอบก็บอกพระเณรให้เก็บบริขารเพื่อกลับ มาวัดศรีพนมมาศ อำเภอเชียงคาน ออกจากเชียงคานมาเมืองเลย หลวงปู่ชอบบอกให้หลวงปู่บุญพินไปพักที่วัดอัมพวัน บ้านไร่ม่วง เพราะหลวงปู่ชอบกับหลวงปู่ซามาจะไปโคราช หลวงปู่บุญพินออกจาก วัดอัมพวันไปพักที่วัดม่วงไข่ พักกับหลวงปู่ลี ก่อนเข้าพรรษา หลวงปู่ลี พาเที่ยวธุดงค์จนถึงเดือน ๕ แล้วย้อนกลับมาพักที่บ้านไร่ม่วงอีก จนสงกรานต์เสร็จ จึงไปหาหลวงปู่ชอบที่บ้านโคกมน ที่วัดถ้ำผาดิน ที่บ้านนี้ชาวบ้านอยากสร้างวัด ผู้ใหญ่ถันพร้อมกับชาวบ้านได้ปรึกษา หลวงปู่ชอบ หลวงปู่ชอบจึงให้หาที่ ชาวบ้านเลยถวายที่ให้หลวงปู่ สร้างวัด หลวงปู่บุญพินเล่าว่าชาวบ้านโคกมนนี้ ชาวบ้านแบ่งแยกเป็น หลายฝ่าย ส่วนมากนับถือผีปู่ตา มีวันหนึ่ง หลวงปู่ชอบให้ผู้ใหญ่บ้าน ไปประกาศให้ชาวบ้านมารับไตรสรณคมน์ ชาวบ้านส่วนหนึ่งไม่ยอมรับ เพราะชาวบ้านนับถือผีปู่ตา วันหนึ่งหลวงปู่ชอบให้ผู้ใหญ่บ้านไปชักชวน คนเหล่านั้นอีก ถ้าไม่มาจะมีเหตุร้ายเกิดขึ้น ชาวบ้านจึงพากันไปรับ ไตรสรณคมน์พร้อมกันทั้งหมด ต่อมาหลวงปู่ชอบพาหลวงปู่บุญพิน กับพระเณรพร้อมด้วยชาวบ้านไปรื้อศาลปู่ตา พอไปถึงหลวงปู่ชอบได้ กล่าวว่า ต่อไปนี้ชาวบ้านจะไม่ถือผีปู่ตาอีก และขอให้สิ่งที่สิงสถิตย์ใน ที่นี้ได้ออกไปเสีย จากนั้นหลวงปู่ชอบจึงบอกให้ชาวบ้านรื้อศาลผีปู่ตา แต่ไม่มีใครกล้ารื้อ หลวงปู่ชอบเลยให้หลวงปู่บุญพินกับพระเณรเป็นคน รื้อก่อน พอชาวบ้านเห็นดังนั้น ก็เลยเข้าไปรื้อช่วย แล้วได้นำไม้ที่รื้อไป ทำถาน (ส้วม) สำหรับพระเณรใช้ หลังจากรื้อศาลผีปู่ตาแล้วก็ไม่มี เหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น
พรรษาที่ ๖ (พ.ศ. ๒๕๐๓)
จำพรรษาที่วัดโคกมนกับหลวงปู่ชอบ ฐานสโม ในระหว่างพรรษา ได้ฟังธรรมจากหลวงปู่ชอบ และได้ตั้งใจทำสมาธิภาวนาตลอดพรรษา วันหนึ่งหลวงปู่ชอบกล่าวกับหลวงปู่บุญพินว่า ในคืนนั้นท่านได้นิมิตเห็นเทพทั้งหลายมากมายมาหาท่าน เทพทั้งหลายแบ่งเป็นชั้น ๆ มีชั้นสูง ชั้นกลาง ชั้นต่ำ หลวงปู่ชอบจึงกำหนดจิตถาม เทพทั้งหลายว่า พวกท่านมาหาเราทำไม เทพได้ตอบหลวงปู่ชอบว่า พวกเราได้ลงมากราบหลวงปู่และอนุโมทนาในการสร้างวัดในครั้งนี้ แล้วก็จากไป ต่อจากนั้นหลวงปู่ชอบได้แก้นิมิตให้หลวงปู่ฟังว่า ต่อไป วัดบ้านโคกมนนี้จะมีความเจริญรุ่งเรือง และจะมีญาติโยมทั่วทุกสารทิศ มาทำบุญ
พรรษาที่ ๗ (พ.ศ. ๒๕๐๔)
จำพรรษาที่วัดนิโครธาราม อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี กับหลวงปู่อ่อน ในพรรษานี้หลวงปู่ได้ทำความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ คือ อดนอน ผ่อนอาหาร วันพระหลวงปู่จะอธิษฐานจิต นั่งสมาธิภาวนาเดิน จงกรมตลอดทั้งวันทั้งคืน ตลอดพรรษานี้ได้ทำความเพียรเป็นที่พอใจ ของหลวงปู่มาก รับกฐินเสร็จ ได้กราบลาหลวงปู่อ่อนออกเที่ยวธุดงค์ไป วัดถ้ำกลองเพล พักอยู่ระยะหนึ่ง หลวงปู่บุญเพ็ง เขมาภิรโต ได้ชวนออก วิเวกไปทางอำเภอพรรณานิคม มาพักที่วัดโนนภู่ คืนหนึ่งหลวงปู่เดิน จงกรมเสร็จ ขึ้นกุฏิทำวัตรสวดมนต์เสร็จ ได้ตั้งอธิษฐานจิตภาวนา ขณะจิตเป็นสมาธิ ได้นิมิตว่า มีชายคนหนึ่งลอยมาจากอากาศ และตะโกน ดัง ๆ ว่า ท่าน ๆ ท่านรู้ไหม ๓ ชาติที่ผ่านมา ท่านบวชแล้วตายในผ้าเหลือง ชาตินี้เป็นชาติที่ ๔ ขอให้ท่านประพฤติปฏิบัติพรหมจรรย์ตลอดไป เราขออนุโมทนากับท่านด้วย แล้วเสียงก็หายไป จิตได้ถอนขึ้นมา หลวงปู่พักอยู่วัดนี้ ๓ คืน จึงธุดงค์ต่อไปวัดถ้ำเจ้าผู้ข้า พักอยู่ระยะหนึ่ง ธุดงค์ต่อไปวัดภูริทัตตถิราวาส บ้านหนองผือ แล้วต่อไปจนถึงวัดถ้ำพระนาใน ธุดงค์ต่อจนถึงถ้ำขามพักอยู่กับหลวงปู่ฝั้น ทุกคืนหลวงปู่ฝั้นจะ แสดงธรรมให้พระเณรและญาติโยมได้ฟัง มีคืนหนึ่งขณะที่นั่งฟังเทศน์ จิตสงบขึ้น แสงสว่างพุ่งทะลุภูเขาออกไป พอจิตออกจากสมาธิ ได้ยิน หลวงปู่ฝั้นเทศน์ในตอนนั้นว่า ขณะนั่งสมาธิมีแสงพุ่งออกไปข้างหน้า ไม่ต้องเอาจิตตามแสงนั้นไป ถ้าตามไปจะไม่มีที่สิ้นสุด ต้องกำหนดดูที่ กายที่จิต หลวงปู่พักอยู่กับหลวงปู่ฝั้นประมาณ ๒ เดือน ตอนแรก ตั้งใจจะจำพรรษาอยู่กับหลวงปู่ฝั้น เพราะใกล้จะเข้าพรรษาแล้ว พอดี พระอาจารย์สุวัจน์และลูกศิษย์ขึ้นมามาก หลวงปู่กับหลวงปู่บุญเพ็งเห็น กุฏิที่อาศัยไม่เพียงพอต่อพระเณร จึงได้กราบลาหลวงปู่ฝั้นเพื่อธุดงค์ไป วัดป่าแก้วชุมพล
พรรษาที่ ๘ (พ.ศ. ๒๕๐๕)
จำพรรษาที่วัดป่าแก้วชุมพล มีพระเณรจำพรรษา ๗ รูป พอออกพรรษาแล้ว หลวงปู่พร้อมกับหลวงปู่บุญเพ็งออกเดินธุดงค์ไปหาหลวงปู่ขาว ได้พบกับหลวงปู่จันทา ถาวโร แล้วได้ออกธุดงค์ร่วมกัน หลวงปู่ได้ชวนหลวงปู่จันทามาพักที่ดงเชียงเครือ เพื่อจะเยี่ยมโยมแม่ ที่บ้านนาบ่อ ขณะที่พักที่ป่าช้าบ้านดงเชียงเครือ มีญาติโยมบ้านนาบ่อ วาริชภูมิ บ้านไฮ่ และบ้านใกล้เคียงได้พากันมาวัดฟังธรรมกับหลวงปู่ ตลอดเวลา ๑ เดือนที่พัก แล้วได้ลาโยมแม่ไปพักที่วัดสุขุมวารี พักอยู่ ระยะหนึ่ง จึงได้ลาญาติโยมกลับไปวัดถ้ำกลองเพล พักอยู่ระยะหนึ่ง ได้กราบลาหลวงปู่ขาวไปหาหลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ที่บ้านหนองแซง หลวงปู่ได้ปรารภกับหลวงปู่บัวว่าอยากจะเข้าไปจำพรรษากับหลวงปู่มหาบัว ญาณสัมปันโน ที่วัดป่าบ้านตาด หลวงปู่บัวจึงแนะนำข้อวัตร ปฏิบัติให้แล้ว จึงเดินทางไปพร้อมกับสหธรรมิก
พรรษาที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๐๖)
จำพรรษาที่วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานีกับหลวงปู่มหาบัว ญาณสัมปันโน หลวงปู่ตั้งใจศึกษาข้อวัตรปฏิบัติอย่างเคร่งครัด มีพระเณรจำพรรษา ๑๓ องค์ ตลอดพรรษานี้ได้ธรรมปฏิบัติกับหลวงปู่มหาบัวมากและได้ทำความเพียร จนทำให้มีกำลังใจเพื่อต่อสู้ไปในภายภาคหน้า
พรรษาที่ ๑๐ (พ.ศ. ๒๕๐๗)
จำพรรษาที่วัดถ้ำจันใด อำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี ในพรรษานี้จำพรรษาอยู่องค์เดียวและตั้งใจทำความเพียร เพราะไม่ได้คลุกคลีกับหมู่คณะ ฉันเสร็จแล้ว เข้าทางเดินจงกรมพอสมควร เข้ากุฏินั่งสมาธิตลอดพรรษา ออกพรรษาแล้วธุดงค์ไปหาหลวงปู่อ่อนที่ถ้ำสุวรรณคูหาบ้านโนนสมบูรณ์ พักอยู่ประมาณเดือนหนึ่ง หลวงปู่อ่อนก็กลับหนอง
บัวบาน ส่วนหลวงปู่ได้ออกเดินธุดงค์ไปกับหลวงปู่ผาง เพื่อไปวัดหินหมากเป้ง ได้พักอยู่กับหลวงปู่เทสก์ระยะหนึ่ง จึงเดินธุดงค์กลับมาวัดป่าแก้วชุมพลพบกับหลวงปู่สิงห์ทอง แล้วออกเดินธุดงค์ขึ้นวัดถ้ำพวง หาหลวงปู่วัน อุตฺตโม ออกจากหลวงปู่วันเดินข้ามภูเหล็กไปบ้านผาหัก แล้วพักอยู่ระยะหนึ่ง
พรรษาที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๐๘)
จำพรรษาที่วัดบ้านนาเหล่าอ้อย อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานีจำพรรษามีพระ ๒ องค์ เณร ๑ องค์ ผ้าขาว ๒ องค์ ออกพรรษาแล้วลาญาติโยมพาผ้าขาวไปบวชที่วัดจอมศรี พอบวชเสร็จก็พากันไปพักที่วัดถ้ำกลองเพลอยู่กับหลวงปู่ขาว พอจะเข้าพรรษาจึงได้กราบลาหลวงปู่ขาวกลับไปจำพรรษากับหลวงปู่อ่อนอีกครั้ง
พรรษาที่ ๑๒ (พ.ศ. ๒๕๐๙)
จำพรรษาที่วัดป่านิโครธาราม อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี กับหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ พอออกพรรษาแล้ว กราบลาหลวงปู่อ่อนออก วิเวกธุดงค์ กับพระอาจารย์ประสิทธิ์ ปุญญมากโร ( ปัจจุบันอยู่ที่วัดป่า หมู่ใหม่ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่) และสามเณรสีโห ไปพักที่ บ้านหนองแซง จากนั้นออกธุดงค์ขึ้นไปเหนือ โยมซื้อตั๋วรถให้ นั่งรถ ไปถึงจังหวัดพิษณุโลก เหลือปัจจัยอยู่ ๑๐ บาท จ้างสามล้อให้ไปส่ง นอกเมือง แล้วพากันเดินธุดงค์ตามทางรถไฟไปถึงอุตรดิตถ์ พักอยู่ที่ กลางทุ่งนา จากพิษณุโลกไปแม่เมาะใช้เวลา ๑๐ คืน รองเท้าของหลวงปู่ และสามเณรขาดหมดพอดี เหลือแต่ของพระอาจารย์ประสิทธิ์ ต้องผลัด เปลี่ยนกันใส่ พอถึงแม่เมาะ ไปพักที่วัดอาจารย์สมประมาณ ๑ เดือน มีญาติโยมทำบุญได้ปัจจัยซื้อตั๋วรถไฟไปเชียงใหม่ ไปพักที่วัดสันติธรรม กับหลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร ต่อมากราบลาหลวงปู่สิมออกธุดงค์ไปหา หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ได้ฟังเทศน์หลวงปู่ตื้อ แล้วพักอยู่ระยะหนึ่ง ได้กราบลาหลวงปู่ตื้อไปทางอำเภอพร้าว เจอหลวงปู่คำผอง แล้วชวนกัน ไปกราบหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ ที่วัดดอยแม่ปั๋ง ฟังเทศน์หลวงปู่แหวนพักอยู่ระยะหนึ่ง แล้วกราบลาหลวงปู่ออกธุดงค์ต่อไปบ้านมูเซอ พอถึงบ้านจีนฮ่อมีทหารตามไปส่งที่บ้านมูเซอ ระหว่างพักอยู่ที่บ้านมูเซอมีตัวขุ้นกัดหลวงปู่ตามตัวเต็มไปหมด หลวงปู่จึงชวนกันไปพักที่ธาตุแม่โถน ลาพระอาจารย์ประสิทธิ์ที่แม่ริม แล้วไปที่บ้านยาง ผาแด่น
พรรษาที่ ๑๓ (พ.ศ. ๒๕๑๐)
จำพรรษาที่วัดป่าผาแด่น อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ มีพระเณรจำพรรษา ๔ องค์ มีพระอาจารย์คำผอง กุสลธโร, หลวงปู่บุญพิน พระม่อยและสามเณร พรรษานี้อาหารบิณฑบาตไม่สัปปายะ อดมื้อฉันมื้อ พอได้ประทังชีวิต พอออกพรรษา มีญาติโยมมานิมนต์ไปจับสลากภัตร มีทั้งปัจจัยของใช้ ต่าง ๆ แล้วพากันออกธุดงค์ต่อไป ระยะออกธุดงค์ พระอาจารย์คำผอง ไม่สบาย ได้ช่วยกันรักษาจนหาย ต่อมาหลวงปู่มีเหตุจำเป็นต้องกลับมา ที่สกลนคร เพราะพระอุปัชฌาย์มรณภาพ พองานพระราชทานเพลิงศพ เสร็จได้กลับไปวัดถ้ำกลองเพล
พรรษาที่ ๑๔ -๑๕ (พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๑๒)
จำพรรษาที่วัดถ้ำกลองเพลกับหลวงปู่ขาว อนาลโย
พรรษาที่ ๑๖ (พ.ศ. ๒๕๑๓)
จำพรรษาที่วัดป่าหนองแซง อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี กับหลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ , หลวงปู่จันทา ถาวโร ออกพรรษาแล้วออก เดินธุดงค์กับหลวงปู่จันทาไปถ้ำพระปู่ พระบาทบัวบาน ไปถ้ำจำปา ต่อมาชาวบ้านโคกก่องนิมนต์ไปพัก
พรรษาที่ ๑๗ (พ.ศ. ๒๕๑๔)
จำพรรษาที่บ้านโคกก่องกับหลวงปู่จันทา ถาวโร มีพระเณรอยู่ จำพรรษา ๕ องค์ พอออกพรรษา โยมที่อุดรไปรับกลับถ้ำกลองเพล ต่อมาหลวงปู่ได้กลับไปหาหลวงปู่ชอบที่บ้านสานตม
พรรษาที่ ๑๘ (พ.ศ. ๒๕๑๕)
จำพรรษาที่วัดบ้านสานตม ปีนี้หลวงปู่ชอบป่วยเป็นอัมพฤกษ์หมอจากโรงพยาบาลกรุงเทพฯ ได้นิมนต์หลวงปู่ชอบขึ้นเครื่องไปรักษาที่กรุงเทพฯ พรรษานี้หลวงปู่ต้องเป็นหัวหน้าพาหมู่คณะอยู่จำพรรษาพอออกพรรษา ลาญาติโยม มอบวัดให้อาจารย์ทิวา อาภากโร ดูแลแทนหลวงปู่ได้ออกธุดงค์กลับมาที่บ้านเกิดเพื่อดูแลโยมแม่ที่ป่วยอยู่ พอโยมแม่หายป่วยเป็นปกติแล้ว ได้ลาโยมแม่ออกธุดงค์ไปภูทอก เพื่อพบกับ
หลวงปู่ชอบที่มารักษาตัวอยู่กับหลวงปู่จวน ต่อมาหลวงปู่ชอบกลับไปวัดโคกมน หลวงปู่จวนได้ชวนหลวงปู่จำพรรษาที่วัดภูทอก
พรรษาที่ ๑๙ (พ.ศ. ๒๕๑๖)
จำพรรษาที่ภูทอกกับหลวงปู่จวน กุลเชฏฺโฐ ตลอดพรรษาได้ ทำบันไดขึ้นภูทอก ในระหว่างพรรษา มีคืนหนึ่งขณะที่ทำสมาธิภาวนา จิตสงบ เกิดนิมิตก้อนหินตรงกุฏิที่หลวงปู่พักอยู่ลอยไปลอยมา จากนั้น จิตได้ถอนออกจากสมาธิเป็นปกติ พอออกพรรษา บันไดที่ทำขึ้นภูทอก ยังไม่เสร็จ หลวงปู่จวนได้พาญาติโยมเวียนเทียนในวันออกพรรษา พอรับ กฐินเสร็จ ได้กราบลาหลวงปู่จวนไปหาอาจารย์ศรีนวลที่วัดรัตนนิมิต จังหวัดอุดรธานี
พรรษาที่ ๒๐ (พ.ศ. ๒๕๑๗)
จำพรรษาที่วัดศรีรัตนนิมิต บ้านหนองแก จังหวัดอุดรธานีกับพระอาจารย์ศรีนวล ในระหว่างพรรษานี้โยมแม่มาบวชเป็นชีอยู่ด้วยพอออกพรรษาแล้ว พาโยมแม่กลับบ้านนาบ่อ จากนั้นหลวงปู่ได้ปรึกษา พระอาจารย์ศรีนวล ขอกลับไปสร้างวัดที่บ้านเพื่อโปรดโยมแม่ พอดี ผู้ใหญ่เพ็ง บ้านดงเชียงเครือ นิมนต์ให้มาสร้างวัดที่ป่าช้า จากนั้นจึงได้ พาญาติโยมบ้านดงเชียงเครือ บ้านนาบ่อ และบ้านใกล้เคียง สร้างศาลา มุงหญ้าและกุฏิ พอให้หลวงปู่ได้พัก
พรรษาที่ ๒๑-๓๖ (พ.ศ. ๒๕๑๘-๒๕๓๓)
จำพรรษาที่ดงเชียงเครือมาตลอด หลวงปู่ได้ตัดสินใจปักหลักสร้างวัดดงเชียงเครือ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร ระหว่างที่ จำพรรษาได้แนะนำพร่ำสอนอบรมญาติโยมให้รู้จักบำเพ็ญทาน รักษาศีลเจริญเมตตาภาวนา ให้ตั้งอยู่ในไตรสรณคมน์ และได้ก่อสร้างเสนาสนะ และถาวรวัตถุในวัดดงเชียงเครือจนเสร็จสมบูรณ์ และยังได้ดำเนินการ ขอสร้างวัดตามกฏหมายของคณะสงฆ์หรือตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ตามลำดับ จนวัดดงเชียงเครือถูกต้องตามกฏหมายในที่สุด และได้ขอ พระราชทานวิสุงคามสีมาด้วย ]
ในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ หลวงปู่บุญพินได้รับโยมแม่จันทีเข้ามาบวชเป็นชี ถือศีล ๘ ปฏิบัติธรรมจนท่านสิ้นอายุขัยในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ รวมอายุ ๙๖ ปี
ในปี พ.ศ. ๒๕๒๗ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะตำบลวาริชภูมิ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านได้บรรพชาอุปสมบท ให้กุลบุตรผู้มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา อีกทั้งยังได้อบรมแนะนำสั่งสอนพระธรรมวินัย และข้อวัตรปฏิบัติต่าง ๆเพื่อชำระจิตใจให้หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองต่าง ๆ มีความโลภ ความ โกรธ ความหลงให้เบาบางหรือหมดสิ้นไป พระเณรที่หลวงปู่ได้บวช และยังได้ประพฤติพรหมจรรย์จนถึงทุกวันนี้ยังเหลืออยู่หลายองค์
ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๓๓ หลวงปู่กับสามเณรได้ออกวิเวกปักกลดในเทือกเขาภูพาน ในวันหนึ่งพอตกกลางคืนหลวงปู่ได้นิมิตว่าทางทิศตะวันตกได้เกิดแสงสว่างไสวพุ่งขึ้นไปในท้องฟ้า พอจิตถอนออกจากนิมิต ท่านได้พิจารณาในสถานที่เกิดนิมิตนั้นคงจะเป็นสถานที่ที่เป็นมงคล ถ้าได้สร้างเป็นวัด วัดนี้จะมีความเจริญรุ่งเรืองมากในภายภาคหน้า พอรุ่งเช้าหลวงปู่และสามเณรพร้อมญาติโยมออกหาสถานที่ที่เห็นในนิมิตนั้นพอดีมาเจอหน้าผาก็ระลึกได้ว่าสถานที่แห่งนี้ตรงกับนิมิต แล้วหลวงปู่จึงได้พาญาติโยมสร้างเป็นที่พักสงฆ์เล็ก ๆ ขึ้นมา ในระหว่าง ช่วงนั้นใกล้จะเข้าพรรษาพอดี หลวงปู่เป็นห่วงโยมแม่ จึงได้กลับไป จำพรรษาที่วัดดงเชียงเครือ แล้วได้จัดพระ ๓ รูป สามเณร ๑ รูป มาจำพรรษาแทน
พรรษาที่ ๓๗ (พ.ศ. ๒๕๓๔)
หลวงปู่ได้มาจำพรรษาที่ที่พักสงฆ์ผาเทพนิมิตไตรเขตภูพาน บ้านดงสว่าง อำเภอนิคมน้ำอูน จังหวัดสกลนคร ในระหว่างพรรษานี้ ได้พาญาติโยมสร้างศาลาการเปรียญ ๑ หลัง พร้อมกุฏิมุงหญ้าสำหรับพระลูกศิษย์
พรรษาที่ ๓๘-๓๙ (พ.ศ. ๒๕๓๕-๒๕๓๖)
หลวงปู่ได้จำพรรษาที่วัดดงเชียงเครือ
พรรษาที่ ๔๐-๔๔ (พ.ศ. ๒๕๓๗-๒๕๔๑)
จำพรรษาที่วัดผาเทพนิมิต ระหว่างจำพรรษาที่วัดผาเทพนิมิตนี้ ได้มีพระเณรมาปฏิบัติธรรมมากขึ้นเป็นลำดับ และมีญาติโยมทั้งทางใกล้ และทางไกลมาพักรักษาศีลปฏิบัติธรรม แสวงหาความสงบทางจิตใจ มากขึ้น เพราะเป็นสถานที่เหมาะในการบำเพ็ญสมถวิปัสสนากัมมัฏฐานในระหว่างหลวงปู่จำพรรษาที่วัดผาเทพนิมิต หลวงปู่ได้จาริกไปประเทศอินเดีย และศรีลังกาหลายครั้ง ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ หลวงปู่ได้สร้าง
อุโบสถน้ำหลังหนึ่งขึ้นมา โดยได้รับแรงศรัทธาจากญาติโยมทั่วทุกสารทิศ โดยใช้เวลาในการก่อสร้างเพียง ๑ ปี ก็เสร็จสิ้น จึงได้จัดให้มีการฉลองสมโภชอุโบสถน้ำ
และในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ หลวงปู่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท ที่ราชทินนาม “พระครูสุวิมลบุญญากร” ด้วยคุณงามความดีที่ หลวงปู่ได้กระทำไว้ ท่านได้บำเพ็ญประโยชน์ทั้งทางโลกและทางธรรม เช่นการอบรมแนะนำสั่งสอนญาติโยมให้ตั้งอยู่ใน ทาน ศีล ภาวนา และการเจริญปัญญา การสงเคราะห์บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ และในด้านการปกครองคณะสงฆ์
พรรษาที่ ๔๕ (พ.ศ. ๒๕๔๒)
จำพรรษาที่วัดม่วงไข่ อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย พอออกพรรษา หลวงปู่ได้ลาญาติโยมกลับวัดผาเทพนิมิต เพื่อมาดูแลและจัดหาน้ำดื่ม น้ำใช้ เพื่อใช้อุปโภคบริโภคสำหรับญาติโยมกลุ่มเลี้ยงโคและกลุ่มสวน ยางพารา อำเภอนิคมน้ำอูน จังหวัดสกลนคร ท่านได้จัดสร้างฝายน้ำล้น และสร้างน้ำประปาหมู่บ้านให้ราษฎรได้ใช้สอยบริโภค โดยไม่ได้ใช้งบประมาณของทางรัฐบาลแต่อย่างใด
พรรษาที่ ๔๖ (พ.ศ. ๒๕๔๓)
จำพรรษาที่วัดผาเทพนิมิต พอออกพรรษา หลวงปู่ได้ปรึกษาผู้อำนวยการโรงพยาบาลวาริชภูมิและญาติโยม เพื่อจะสร้างตึกสงฆ์อาพาธไว้สำหรับพระภิกษุ-สามเณร
และญาติโยมที่เจ็บป่วยมาพักรักษาซึ่งทุกฝ่ายได้มีความเห็นพร้อมกันหลวงปู่จึงได้จัดให้สร้างตึกสงฆ์อาพาธที่โรงพยาบาลวาริชภูมิ และได้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๔
พรรษาที่ ๔๗-๔๙ (พ.ศ. ๒๕๔๔-๒๕๔๖)
จำพรรษาที่วัดผาเทพนิมิต ในปีพ.ศ. ๒๕๔๖ หลวงปู่ได้ปรารภ สร้างศาลาครบ ๖ รอบ (๗๒ ปี) ทางศิษยานุศิษย์เห็นพร้อมเพรียงกันจัด พิธีวางศิลาฤกษ์ขึ้น ในวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๔๖ ตรงกับวันขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๙ ปีมะแม หลังจากนั้นก็ได้ดำเนินการก่อสร้างเรื่อยมา ต่อมา หลวงปู่ได้ปรารภกับโยมอดิศร เรื่องพระพุทธรูปที่จะมาประดิษฐานใน ศาลาที่ได้สร้างใหม่ โยมอดิศรและโยมแสงจันทร์ ใกล้ฝน จึงรับเป็น เจ้าภาพจัดสร้าง และได้ติดต่อช่างที่จังหวัดเชียงราย เป็นผู้แกะสลักพระ หยกเขียว ทรงเครื่องฤดูร้อน หน้าตักกว้าง ๔๙ นิ้ว และได้กราบอาราธนา หลวงปู่พร้อมคณะศรัทธาเดินทางไปที่เชียงราย เพื่อดูช่างที่กำลังแกะ สลักพระพุทธรูป หลังจากดูพระแล้ว หลวงปู่ก็ได้ไปเยี่ยมชมสถานที่ ต่าง ๆ ทางภาคเหนือพอสมควร จึงได้เดินทางกลับวัดผาเทพนิมิต
สำหรับพระพุทธรูปหยกเขียวองค์นี้ ได้รับการประทานนามจาก สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ว่า “พระพุทธบารมีวิสุทธิศีล” และจะได้นำมาประดิษฐาน ณ ศาลากตปุญโญนุสรณ์ เพื่อเป็นที่สักการะบูชาของพุทธศาสนิกชนตลอดไป