สรุปวันมาฆบูชา
บทความนี้รวบรวมทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับวันมาฆบูชาตามแต่ผู้เขียนนึกขึ้นได้ ณ ขณะที่เขียน
สถานที่
– วันมาฆบูชาเกิดขึ้น ณ วัดเวฬุวันมหาวิหาร (สวนไผ่) ตั้งอยู่ใกล้เชิงเขาเวภารบรรพต บนริมฝั่งแม่น้ำสรัสวดีซึ่งมีตโปธาราม (บ่อน้ำร้อนโบราณ) คั่นอยู่ระหว่างกลาง นอกเขตกำแพงเมืองเก่าราชคฤห์ ปัจจุบันอยู่ในเขตรัฐพิหาร ประเทศอินเดีย
– เวฬุวัน แปลว่าสวนไผ่ เดิมสถานที่แห่งนี้เป็นพระราชอุทยานของพระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์แคว้นมคธ เป็นวัดแรกในพระพุทธศาสนา ถวายโดยพระเจ้าแผ่นดินทรงพระนามว่าพิมพิสาร
เหตุการณ์
– วันมาฆบูชาเกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์ตรัสรู้ได้ 9 เดือน หรือ 45 ปี ก่อนพุทธศักราช
– วันมาฆบูชา แปลว่าการบูชาในวันเพ็ญเดือน 3 เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วันจาตุรงคสันนิบาต”
– เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า “จาตุรงคสันนิบาต” (มาจากศัพท์บาลี จาตุร+องฺค+สนฺนิปาต แปลว่า การประชุมอันประกอบด้วยองค์ประกอบทั้งสี่ประการ) ได้แก่
1.วันนั้นตรงกับวันเพ็ญเดือน 3
2.พระภิกษุ 1,250 รูป ได้มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย
3.พระภิกษุเหล่านั้นเป็นพระอรหันต์ทรงอภิญญา 6
4.พระภิกษุเหล่านั้นล้วนแต่พระพุทธเจ้าประทานอุปสมบทให้ด้วยพระองค์เอง เรียกว่า “เอหิภิกขุอุปสัมปทา”
– เป็นวันที่พระสารีบุตรบรรลุพระอรหันต์ ในคัมภีร์สุมังคลวิลาสินี อรรถกถามหาปทานสูตร ระบุว่าหลังจากพระพุทธเจ้าเทศนา “เวทนาปริคคหสูตร” (หรือทีฆนขสูตร) ณ ถ้ำสูกรขาตา เขาคิชฌกูฎ จบแล้ว ทำให้พระสารีบุตรได้บรรลุอรหัตตผล จากนั้นพระองค์ได้เสด็จทางอากาศไปปรากฏ ณ วัดเวฬุวันมหาวิหาร ใกล้กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ แล้วทรงประกาศโอวาทปาติโมกข์แก่พระภิกษุจำนวน 1,250 รูป
– พระอรหันต์ 1,250 รูปนั้น ได้แก่ พระภิกษุในกลุ่มของชฏิลสามพี่น้อง 1,000 รูป และในกลุ่มของพระอัครสาวก 250 รูป
– มีผู้เข้าใจผิดว่าเหตุที่พระสาวกทั้ง 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมายนั้น เพราะวันเพ็ญเดือน 3 ตามคติพราหมณ์เป็นวันพิธีมหาศิวาราตรีเพื่อบูชาพระศิวะ พระสาวกเหล่านั้นซึ่งเคยนับถือศาสนาพราหมณ์มาก่อนจึงได้เปลี่ยนจากการรวมตัวกันทำพิธีชำระบาปตามพิธีพราหมณ์ มารวมกันเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแทน แต่ความคิดนี้ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เพราะพระศิวะเป็นเทพที่ชาวฮินดูเริ่มบูชากันในยุคหลังพุทธกาล คือตั้งแต่ พ.ศ. 800 เป็นต้นมา
– เป็นวันที่พระพุทธองค์ทรงทำการปลงพระชนมายุสังขาร ณ ปาวาลเจดีย์

หลักธรรม
ในวันมาฆบูชาพระพุทธเจ้าทรงประทานโอวาทปาติโมกข์ ได้แก่
ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา ขันติคือความอดทน เป็น บรมตบะ
นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา พระพุทธะคือพระผู้รู้ทั้งหลายกล่าวว่า นิพพานเป็นอย่างยิ่ง
น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต บรรพชิตคือนักบวช ผู้ยังทำร้ายผู้อื่นอยู่ เบียดเบียนผู้อื่นอยู่ ไม่ชื่อว่าสมณะ
สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำบาปทั้งปวง
กุสลสฺสูปสมฺปทา การทำกุศลให้ถึงพร้อม
สจิตฺตปริโยทปนํ การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว
อนูปวาโท การไม่ว่าร้าย
อนูปฆาโต การไม่ทำร้าย
ปาติโมกฺเข จ สํวโร ความสำรวมในปาติโมกข์
มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ความรู้ประมาณในภัต
ปนฺตญฺจ สยนาสํ ที่นอนที่นั่งอันสงัด
อธิจิตฺเต จ อาโยโค ความประกอบในอธิจิตคือจิตยิ่ง
เอตํ พุทธาน สาสนํ นี้คือคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.
กิจกรรมที่พึงปฏิบัติในวันมาฆบูชา
- ทำบุญตักบาตรในตอนเช้า
- ไปวัดรับศีล ฟังธรรมเทศนา
- งดเว้นจากการทำบาปทั้งปวง อบายมุขทั้งปวง
- ถวายสังฆทาน
- ให้อภัยทาน ให้อิสระทาน มีการปล่อยนกปล่อยปลา เป็นต้น
- ฟังพระธรรมเทศนา เวียนเทียนรอบโบสถ์
ที่มา : วันมาฆบูชา