มนต์ของท้าวเวสสุวรรณ และท้าวโลกบาล (อาฏานาฏิยปริตร)
วิปัสสิสสะ นะมัตถุ จักขุมันตัสสะ สิรีมะโต
สิขิสสะปิ นะมัตถุ สัพพะภูตานุกัมปิโน
เวสสะภุสสะ นะมัตถุ นะหาตะกัสสะตะปัสสิโน
นะมัตถุ กะกุสันธัสสะ มาระเสนัปปะมัททิโน
โกนาคะมะนัสสะ นะมัตถุ พราหมะณัสสะ วุสีมะโต
กัสสะปัสสะ นะมัตถุ วิปปะมุตตัสสะ สัพพะธิ
อังคีระสัสสะ นะมัตถุ สักยะปุตตัสสะ สีรีมะโต
โย อิมัง ธัมมะมะเทเสสิ สัพพะทุกขาปะนูทะนัง
เย จาปินิพพุตา โลเก ยะถาภูตัง วิปัสสิสุง
เต ชะนา อะปิสุณา มะหันตา วีตะสาระทา
หิตัง เทวะมะนุสสานัง ยัง นะมัสสันติ โคตะมัง
วิชชาจะระณะสัมปันนัง มะหันตัง วีตะสาระทัง
(วิชชาจะระณะสัมปันนัง พุทธัง วันทามะ โคตะมันติ ฯ)
เกี่ยวกับมนต์ชื่ออาฏานาฏิยปริตรนี้ ผมเคยนำเสนอคำแปล ที่มาแล้วในบทความว่า รหัสลับของท้าวเวสสุวรรณ ที่เหล่ายักษ์ได้ยินต้องผวา ผู้ประสงค์ทราบคำแปล และประวัติพึงเปิดอ่านได้ในบทความดังกล่าว บทความนี้ขอกล่าวแต่โดยย่อ
ครั้งนั้น ท้าวมหาราชทั้ง 4 องค์ ทรงวิตกว่า อาจจะมีบรรดาบริวารทั้งหลายที่เป็นยักษ์ นาค กุมภัณฑ์ และคนธรรพ์ ที่เกเร ไม่มีความเคารพในพระรัตนตรัย อาจจะทำร้ายพุทธบริษัท ท้าวเธอทั้ง 4 จึงประชุมกันคิดบทสำหรับใช้เป็นมนต์ชื่อว่าอาฏานาฏิยปริตร แล้วประกาศแก่บริวารทั้งหลายให้รับรู้โดยทั่วกันประมาณว่าหากใครทำร้ายบุคคลผู้สาธยามนต์นี้ จะต้องได้รับการลงโทษ จากนั้นมหาราชทั้ง 4 จึงได้นำมนต์ชื่ออาฏานาฏิยปริตรไปถวายแด่พระพุทธเจ้า เพื่อให้พระองค์ทรงอนุญาตให้พุทธบริษัททำการสาธยายมนต์นี้
อาฏานาฏิยปริตร ไม่ใช่บทกล่าวบูชาท้าวเวสสุวรรณและท้าวโลกบาล แต่เป็นบทนอบน้อมบูชาพระพุทธเจ้าทั้ง 7 พระองค์ ได้แก่
พระวิปัสสีพุทธเจ้า ผู้มีจักษุ คือปัญญาอันเลิศ ผู้มีสิริ
พระสิขีพุทธเจ้า ผู้อนุเคราะห์สัตว์ทั้งปวงอยู่เป็นนิตย์
พระเวสสภูพุทธเจ้า ผู้ล้างกิเลสแล้ว ผู้มีตบะ
พระกกุสันธพุทธเจ้า ผู้ย่ำยีมารและเสนามาร
พระโกนาคมนพุทธเจ้า ผู้ลอยบาปแล้ว ผู้อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
พระกัสสปพุทธเจ้า ผู้พ้นวิเศษแล้วจากกิเลสทั้งปวง
พระอังคีรสพุทธเจ้า (พระโคตมพุทธเจ้า พระองค์ปัจจุบัน)
แม้มนต์นี้ไม่ได้กล่าวบูชาท้าวเวสสุวรรณโดยตรง แต่เป็นมนต์ของท้าวเวสสุวรรณและท้าวโลกบาลทั้งหลายคิดค้นขึ้นมา การที่ได้สวดมนต์อาฏานาฏิยะนี้นอกจากเป็นการสวดบูชาพระพุทธเจ้าแล้วยังเป็นการแสดงความนอบน้อมนับถือหรือบูชาท้าวเวสสุวรรณและท้าวโลกบาลทั้งหลายอีกด้วย
มนต์อาฏานาฏิยปริตรนี้มาในอาฏานาฏิยสูตร จากพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๓ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เมื่อพิจารณามูลเหตุแห่งที่มาแล้ว ทำให้ทราบว่า
- เทวดา ยักษ์ นาค กุมภัณฑ์ และคนธรรพ์ มีทั้งดีและไม่ดี
- เทวดา ยักษ์ นาค กุมภัณฑ์ และคนธรรพ์ต้องมีความอ่อนน้อม และเคารพยำเกรงผู้สาธยายมนต์นี้
- มหาราชทั้ง 4 เมื่อจะประพันธ์มนต์หรือคาถาขึ้นยังต้องอ้างอิงถึงพระบารมีของพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตและปัจจุบัน
- มหาราชทั้ง 4 ไม่ได้คิดมนต์หรือคำสวดขึ้นมาเพื่อบูชานอบน้อมสรรเสริญตนเอง แต่ให้นอบน้อมต่อพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
- มหาราชทั้ง 4 ที่ทรงเป็นโลกบาลมิได้ให้พุทธบริษัทกล่าวคำบูชานอบน้อมพระองค์ แต่ให้นอบน้อมพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
- มหาราชทั้ง 4 ไม่ได้ให้สร้างรูปเหมือนท่าน หรือสร้างรูปยักษ์เขี้ยวใหญ่เพื่อป้องกันเทวดายักษ์ นาค กุมภัณฑ์ และคนธรรพ์ที่เป็นอันธพาล แต่พระองค์ให้สาธยายมนต์นี้เป็นเครื่องป้องกัน
การสาธยายมนต์อาฏานาฏิยปริตรนี้ เพื่อป้องกันสิ่งไม่ดี ยักษ์ นาค กุมภัณฑ์ และคนธรรพ์ที่เป็นอันธพาลย่อมได้ผลกว่า ดีกว่าการหารูปหล่อมาเคารพบูชา ด้วยเหตุว่า
- เป็นมนต์ที่ท้าวมหาราชทั้ง 4 ซึ่งเป็นเจ้าแห่ง ยักษ์ นาค กุมภัณฑ์ และคนธรรพ์ ได้คิดค้นขึ้นมา เป็นเหมือนหนึ่งประกาศิตจากผู้เป็นพระราชาว่า หากยักษ์ นาค กุมภัณฑ์ และคนธรรพ์ หรือบริวารตนใด ทำร้าย ทำอันตรายต่อผู้สาธยายมนต์นี้ ยักษ์ นาค กุมภัณฑ์ และคนธรรพ์หรือบริวารตนนั้นต้องได้รับโทษ ซึ่งก็คือกฎหมายที่มหาราชทั้ง 4 ประกาศออกมานั่นเอง
- หลังจากที่มหาราชทั้ง 4 ถวายอาฏานาฏิยปริตรนี้แด่พระพุทธเจ้าแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเรียนมนต์เครื่องรักษาชื่ออาฏานาฏิยะ จงเล่าเรียนมนต์เครื่องรักษาชื่ออาฏานาฏิยะ จงทรงจำมนต์เครื่องรักษาชื่ออาฏานาฏิยะไว้ ภิกษุทั้งหลาย มนต์เครื่องรักษาชื่ออาฏานาฏิยะนี้ ประกอบด้วยประโยชน์ เพื่อคุ้มครอง เพื่อรักษา เพื่อไม่เบียดเบียน เพื่ออยู่สำราญของภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลาย” - มนต์อาฏานาฏิยะนี้ เป็นบทแสดงความนอบน้อม สรรเสริญพระพุทธคุณของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย 7 พระองค์ การได้สาธยายมนต์นี้จึงเป็นการเจริญพุทธานุสสติอันเป็นพระกรรมฐานอย่างหนึ่ง
- มนต์อาฏานาฏิยปริตร มีปรากฏในอาฏานาฏิยสูตร พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๓ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ทุกท่านสามารถนำมาท่องจำ สวดสาธยายได้โดยไม่ต้องเช่าวัตถุมงคลท้าวเวสสุวรรณในราคาแพง ไม่ต้องเสี่ยงต่อสิ่งที่เรียกว่าของเก๊ ไม่ต้องเสี่องต่อการถูกโจรกรรม ไม่สึกหลอ มีแต่เจริญขึ้นโดยลำดับ