เสาอินทขีล หรือเสาหลักชัย อายุ 2500 กว่าปี ที่พระธาตุพนม
อินทขีล (อ่านว่า อิน-ทะ-ขีน) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ ให้ความหมายไว้ว่า น. เสาหรือหลักหน้าประตูเมือง, หลักเมือง, เสาเขื่อน. (ป.; ส. อินฺทฺร + กีล).
ในรัตนสูตร ก็ได้กล่าวถึงเสาอินทขีล ดังนี้
ยะถินทะขีโล ปะฐะวิง สิโต สิยา
จะตุพภิ วาเตภิ อะสัมปะกัมปิโย
ตะถูปะมัง สัปปุริสัง วะทามิ
โย อะริยะสัจจานิ อะเวจจะ ปัสสะติ
อิทัมปิ สังเฆ ระตะนัง ปะณีตัง
เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุ ฯ
เสาอินทขีลที่ฝังลงดินไม่หวั่นไหวเพราะ ลมทั้งสี่ทิศ ฉันใด ผู้ใดพิจารณาเห็นอริยสัจทั้งหลาย
เราเรียกผู้นั้นว่า เป็นสัตบุรุษ ผู้ไม่หวั่นไหวเพราะโลกธรรมมีอุปมาฉันนั้น สังฆรัตนะนี้
เป็นรัตนะอันประณีต ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์เหล่านี้
สำหรับเสาอินทขีลรอบ ๆ องค์พระธาตุพนมนั้น มีลักษณะรูปทรงแปดเหลี่ยม ยอดมน ปราชญ์โบราณทั้งหลายท่านให้มองเป็นปริศนาธรรมหมายถึงมรรคมีองค์แปดประการ และมีตัวอัสสมุขีหรือรูปสัตว์ในตำนานสลักจากหินทรายวางอยู่ข้างของเสาอินทขีล ที่ลานพระธาตุพนมนั้นจะมีใบเสมาปักอยู่ทั้งสี่มุมรอบกำแพงแก้วชั้นใน และจะมีเสาอินทขีลสี่ต้นปักอยู่รอบกำแพงแก้วชั้นนอก เป็นหลักฐานทางโบราณคดีได้เป็นอย่างดี จึงทำให้เชื่อได้ว่าอาณาจักรศรีโคตรบูรเป็นอาณาจักรของชนพื้นเมืองสองฝั่งแม่น้ำโขง
ตำนานกล่าวว่าองค์พระธาตุพนมได้สร้างขึ้นหลังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้วได้ ๘ ปี โดยมีพระมหากัสสปเถระเป็นประธานพร้อมด้วยพระอรหัต์ 500 รูป อัญเชิญพระอุรังคธาตุมาประดิษฐานไว้ พระเจดีย์ในยุคนั้นเรียกว่า สถูป ซึ่งสถูปองค์นี้สร้างมีลักษณะเป็นรูปทรงโอคว่ำ เหมือนกับสถูปเก่าแก่ที่สร้างในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช
ท้าวพญาทั้ง 5 ได้แก่ พญานันทเสน แห่งเมืองศรีโคตบูร พญาจุลณีพรหมทัต พญาอินทปัตถนคร พญาคำแดง แห่งเมืองหนองหารน้อย และพญาสุวรรณพิงคาระ แห่งเมืองหนองหารหลวง ได้พากันปั้นดินดิบก่อแล้วเผาไฟ ตามคำแนะนำของพระมหากัสสปเถระ
เมื่อสร้างและบรรจุพระอุรังคธาตุเสร็จแล้ง ท้าวพญาทั้ง 5 ได้ทรงให้นำเอาศิลามาทำเป็นเสาอินทขีลจากสถานที่ต่างๆ ดังนี้ คือ
ต้นที่ ๑ นำมาจากเมืองกุสินารา ฝังไว้ที่มุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือและสร้างรูปอัสสมุขี ไว้ที่โคนเสา ๑ ตัว เพื่อเป็นหลักชัยมงคลแก่บ้านเมือง
ต้นที่ ๒ นำมาจากเมืองพาราณสี ฝังไว้มุมทิศตะวันออกเฉียงใต้และสร้างรูปอัสสุมขี ไว้ที่โคนเสา ๑ ตัว เพื่อความเป็นมงคลแก่โลก
ต้นที่ ๓ นำมาจากเมืองลังกา ฝังไว้ที่มุมทิศตะวันตกเฉียงใต้
ต้นที่ ๔ นำมาจากเมืองตักศิลา ฝังไว้ที่มุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
สำหรับอายุของเสาอินทขีลรอบองค์พระธาตุพนมนั้น หากนับอายุตามตำนานไม่น้อยกว่า 2500 ปี แต่ว่ากันตามโบราณคดีจริง ๆ ผมไม่ทราบข้อมูลครับ