มีผู้สอบถามมาว่า วัตถุมงคล พระเครื่อง เครื่องรางที่มีบัตรรับประกันกับวัตถุมงคลที่ไม่มีบัตรรับประกัน ต่างกันอย่างไร ก่อนอื่นผมขอนำข้อความบางส่วนที่ผมเคยเขียนไว้ในบทความทำไมคนเช่าพระเครื่อง จึงชอบให้มีบัตรรับประกันพระแท้ มาให้อ่าน ดังนี้
- ผู้ซื้อที่อยากให้มีบัตรรับรอง กลุ่มนี้โดยมากเป็นผู้เช่าพระไป เพื่อนำไปบูชาจริง ๆ นำบูชาติดตัวด้วยความศรัทธา เขาไม่มีอาชีพขายพระเหมือนคุณ ๆ ไม่ได้คลุกคลีกับพระเครื่อง เขาไม่มีเวลามาศึกษาว่าพระแท้ต้องแบบนี้ พระเก๊ต้องแบบนั้น วัน ๆ เขาไม่ได้คิดว่าจะปล่อยให้ใคร ยังไง เท่าไหร่ แต่เขาอยากได้พระแท้ ๆ ไปบูชา บัตรรับประกันพระเครื่อง หรือการรับประกันพระเครื่องจึงจำเป็นสำหรับเขาเป็นอย่างยิ่ง
- ผู้เช่าบางรายเริ่มศึกษาใหม่ หรืออยู่ต่างประเทศ อาจจะสนใจศึกษา แต่ไม่มีแหล่งศึกษาที่มากพอ เบื้องต้นก็ต้องมองหาพระเครื่องที่วงการยอมรับว่าเป็นพระแท้เพื่อใช้เป็นตัวอย่างเป็นองค์ครูในการศึกษาหาความรู้
- พระมีบัตรรับประกัน ง่ายต่อการอ้างอิง แท้ไม่แท้ไม่รู้ เกิดไม่ทัน ขลังหรือไม่ไม่รับประกัน แต่ฉันมีบัตรรับรองที่วงการรับรองว่าแท้ สิ่งไหนเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าใช้ได้แล้ว เป็นอันใช้ได้อ้างอิงได้ (บางอย่างเราก็สงสัยอยู่ว่าได้ไง อย่างสีผึ้งบางชนิด แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ค้านไม่ได้ว่าไม่แท้ เพราะก็ไม่รู้เช่นกันว่าไม่แท้อย่างไร สำนักออกบัตรบางแห่งก็ออกที่นั่นที่นี่บ้าง ไม่รู้ที่บ้าง และได้ค่าบัตรไป)
ทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นเรื่องภายนอกทั้งนั้น หมายถึงกล่าวถึงแต่รูปลักษณ์ภายนอกของวัตถุมงคลว่าถูกต้องตามหลักที่พากันกำหนดกฎเกณฑ์ขึ้นหรือไม่ ไม่ได้กล่าวถึงพุทธคุณของวัตถุมงคลแต่อย่างใด
พระมีบัตรรับประกันกับพระไม่มีบัตรรับประกัน ต่างกันอย่างไร
- บัตรรับรองพระแท้ รับรองได้แต่ว่าพระนั้น ๆ ตรงตามรุ่น พระเกจิ หรือวัดนั้น ๆ หรือไม่ ไม่สามารถการันตีพุทธคุณของพระได้ ฉะนั้น วัตถุมงคลจะมีบัตรหรือไม่มีบัตร ไม่ได้ทำให้พุทธคุณของวัตถุมงคลนั้น ๆ ลดน้อยถอยลงแม้แต่น้อย ต่างแต่ราคาเท่านั้น ที่ผู้ขายอาจจะขายพระที่มีบัตรในราคาแพงกว่าพระที่ไม่มีบัตร
- พุทธคุณของวัตถุมงคลอยู่ที่วัตถุมงคลและคนที่นำไปบูชา ไม่ได้อยู่ที่บัตร การมีบัตรหรือไม่มีบัตรไม่เกี่ยวกับพุทธคุณ
- เซียนทั้งหลาย (คนขายพระจัดหาพระออกขาย) ให้คำนิยามพระแท้ว่า “พระแท้ต้องขายได้” นั่นหมายความว่า เขามุ่งประโยชน์แก่การซื้อขายของเขา เพื่อธุรกิจของเขา เพื่อที่จะให้เขาซื้อขายพระได้ พระแท้ขายได้ พระแท้ขายได้ พระแท้ขายได้ ไม่ได้คิดถึงพุทธคุณเลย การรับประกันพระแท้ การออกบัตรพระแท้ จึงไม่เกี่ยวกับพุทธคุณของพระ แต่เกี่ยวกับการขายได้
- พระไม่มีบัตร ไม่ได้หมายถึงพระไม่แท้ และพระมีบัตรเองก็ไม่ได้หมายความว่าพระนั้นจะแท้ร้อยเปอร์เซ็นต์เช่นกัน บางสำนักออกบัตรว่าพระแท้ แต่โดยความเป็นจริงพิสูจน์ยาก หรือพิสูจน์ไม่ได้ว่าไม่แท้ แต่ออกบัตรว่าแท้เพื่อรับค่าออกบัตร อย่างที่โพสต์กันมาใน facebook สำนักออกบัตรพระชื่อดังการรันตีว่าเป็นตะกรุดแท้ แต่พอผ่าดู เจอข้อความว่า “รักนะ จุ๊บๆ”
- เท่าที่ทราบมา ไม่มีสำนักออกบัตรสำนักใดการันตีได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถใช้บัตรนั้นเป็นเครื่องฟ้องร้องได้หากพระนั้นไม่แท้ขึ้นมา (ส่วนมากสำนักต่าง ๆ จะเขียนว่า ขอสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงข้อมูล หากพบข้อมูลที่ถูกต้องกว่า นั่นหมายความว่า พระที่ออกบัตรว่าแท้อยู่ดี ๆ วันหนึ่งอาจจะกลายเป็นพระไม่แท้ก็ได้)
การที่เราเชื่อมั่นในวัตถุมงคลนั้น ถือว่าเรามีต้นทุนที่ดีในระดับหนึ่งแล้ว เราไม่ต้องไปวิ่งหาให้ใครมาการันตีความศรัทธาความเชื่อมั่นของเรา ฉะนั้น หากคุณมีวัตถุมงคลอันใด ที่คุณมีความเชื่อมั่น มีความศรัทธา มีความสำคัญต่อคุณ เป็นของตกทอดมาจากรุ่นปู่สู่พ่อและสู่เรา จงเก็บไว้ให้ดี บูชาต่อไป อย่าให้ใครมากำหนดราคาศรัทธาของเรา อย่าให้ใครมาตีค่าสิ่งที่บุคคลอันเป็นที่รักหรือผู้มีพระคุณได้มอบไว้ให้แก่เรา