ในทุกวันนี้การเช่าบูชาพระเครื่องหรือการซื้อขายวัตถุมงคลนั้นไม่ได้จำกัดอยู่ในเฉพาะกลุ่มคนไทยหรือในประเทศไทยเท่านั้น แต่คนต่างชาติต่างประเทศก็ให้ความสนใจโดยเฉพาะคนในประเทศแถบเอเชียเรา เป็นต้นว่า คนฮ่องกง คนจีน คนไต้หวัน คนมาเลเซีย คนสิงคโปร์ ก็ได้ให้ความสนใจในการเช่าบูชาพระเครื่องมากขึ้นเรื่อย ๆ คนเหล่านี้เขาไม่ค่อยมีเวลาศึกษาพระเครื่องอย่างละเอียดถี่ถ้วนมากนัก หรือแม้แต่คนไทยเองที่นิยมพระเครื่องเพื่อใช้สักการะบูชาหรือเพื่อการสะสมก็ตาม พวกเขาเป็นแต่เพียงผู้บริโภค ไม่มีเวลาในการศึกษาข้อมูลว่า พระแท้ต้องมีตำหนิอย่างนี้ ต้องดูอย่างนี้ บัตรรับรองพระแท้จึงเป็นทางออกหรือทางเลือกหนึ่งสำหรับคนกลุ่มนี้ บัตรรับรองพระแท้จึงเริ่มมีบทบทมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้เกิดการซื้อง่ายขายคล่อง ลูกค้าเกิดความสบายใจขึ้น จึงมีสถาบัน บริษัท กลุ่ม สมาคมต่าง ๆ ที่รับออกบัตรรับรองพระแท้เกิดขึ้นมากมายให้เราได้เลือกใช้ ซึ่งค่าบริการออกบัตรนั้นก็มีตั้งแต่ราคาประมาณตั้งแต่ 500-1500 บาท ซึ่งก็สร้างรายได้ให้แก่สถานที่ออกบัตรได้ไม่น้อยเช่นกัน เมื่อมีที่ออกบัตรเกิดขึ้นมากมายเราควรเลือกสถานที่ออกบัตรที่ไหน แบบไหน และพระที่ออกบัตรแล้ว หรือมีบัตรแล้วสามารถป้องกันพระเก๊หรือยืนยันพระแท้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ไหม
ควรเลือกออกบัตรรับรองพระแท้ที่ไหน
ผมจะไม่แนะนำว่าควรออกบัตรรับรองพระเครื่องที่ไหนดี เดี๋ยวจะเป็นการโฆษณา ผมเองก็ไม่ได้ค่าโฆษณาด้วยสิ แต่พูดคุณสมบัติย่อ ที่ควรนำมาพิจารณาตัดสินใจว่าควรเลือกสถานที่ไหนดี
- เลือกออกบัตรกับสถานที่ที่เป็นที่รู้จักของวงการหน่อย หมายถึงว่าถ้าเอ่ยชื่อขึ้น ทุกคนรู้เลยว่าที่ไหน เป็นที่ยอมรับของชาวต่างชาติด้วย
- เมื่อออกบัตรรับรองพระแท้แล้ว สามารถเช็คออนไลน์ได้ยิ่งดี แม้บัตรเราหาย พระแท้ก็ยังอยู่ในระบบ สามารถดูได้ตลอด 24 ชั่วโมง
- ลักษณะรูปแบบบัตร ควรให้ข้อมูลพื้นฐานเพียงพอ เช่น ชื่อพระ วัด ปีที่สร้าง เนื้อ และควรใช้คำให้ถูกต้อง โดยเฉพาะคำง่าย เช่น พระพุทธ บางแห่งเขียนแค่นี้ก็ผิดเป็นพระพุธ
- รูปภาพพระในบัตรต้องชัดจน ดูแล้วรู้ทันทีว่าเป็นพระองค์ไหน
กลโกงของคนขายพระพร้อมบัตร
สิ่งที่ผมจะเขียนต่อไปนี้ ไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่ขายพระพร้อมบัตรไว้ใจไม่ได้นะครับ แค่ยกตัวอย่างว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ หรือคนเหล่าอาจจะมีจริง อาจจะอยู่ใกล้ตัวท่าน ให้พึงระวังรอบคอบไว้ เวลาเช่าพระผมเองก็ชอบให้มีบัตรรับรองพระแท้กำกับด้วย
- บัตรแท้แต่พระปลอม
บัตรแท้ แต่พระเก๊นี้เกิดขึ้นสองกรณี ประการแรก สถานที่ออกบัตรดูพระผิดพลาดซึ่งมันก็เกิดขึ้นได้เสมอ โดยเฉพาะบางอย่างเขากล้าออกบัตรให้เพราะพิสูจน์ไม่ได้ว่าไม่แท้ อย่างสีผึ้งบางอย่างผมว่าพิสูจน์ยากนะว่าไม่แท้ แต่ก็ออกได้เพราะมันพิสูจน์ไม่ได้ไงว่าไม่แท้ สรุปง่าย ๆ ประการแรกนี้ ทางผู้ออกบัตรอาจจะดูพระเครื่องผิดพลาดแล้วออกเป็นพระแท้ แต่ต่อมาถูกพิสูจน์ว่าเป็นพระเก๊ ประการที่สอง เจ้าของพระทำการเปลี่ยนพระองค์ใหม่ คือพระที่นำไปออกบัตรองค์หนึ่ง พอได้บัตรพระแท้มาแล้ว ก็เอาอีกองค์ที่คล้ายกันมากออกมาขาย ซึ่งสังเกตจากรูปบัตรไม่ได้เลย - บัตรปลอม พระก็ปลอม
บัตรปลอม พระก็ปลอมเกิดขึ้นได้อย่างไร คนขายมีพระปลอมอยู่แล้ว แล้วก็ทำการปลอมบัตรขึ้นมาด้วยตนเอง การปลอมบัตรนี้ก็ยังมี 2 กรณี คือ กรณีแรก ปลอมบัตร ปลอมหมายเลขบัตรมั่วไปเลย เช็คที่ไหนก็ไม่เจอ เช็คออนไลน์ไม่เจอว่ามีในระบบของเขา กรณีที่สอง ปลอมบัตรขึ้นมาโดยอ้างอิงจากบัตรจริงที่มีในระบบ ทำเหมือนบัตรที่อยู่ในระบบเป๊ะเลย เช็คออนไลน์ดูก็เจอ แต่ไม่ใช่บัตรจริง แล้วก็ออกขายพร้อมกับพระเก๊ กรณีที่สองนี้จะต้องทำกับพระเครื่องที่มีรูปลักษณ์คล้ายกับรูปพระเครื่องที่อยู่ในระบบนั้น อย่างเช่นเหรียญคณาจารย์ต่าง ๆ ซึ่งเหรียญเหล่านี้ถ้าไม่ได้ส่ององค์จริงจะไม่มีทางรู้เก๊แท้ - บัตรปลอม พระแท้
บัตรปลอม พระแท้ กรณีนี้มีน้อย หรืออาจจะไม่มี แต่ผมเขียนเผื่อไว้ กรณีนี้อาจจะเกิดขึ้นกับคนที่ขายพระให้ชาวต่างชาติ ซึ่งต่างชาติต้องการบัตรรับรองพระเครื่อง เขาอาจจะมีพระเครื่องประเภทเดียวกัน คล้ายกันมาก หลายสิบเหรียญ ส่งออกบัตร 1 เหรียญ เหรียญที่เหลือทำบัตรปลอมหรือ Copy บัตรขึ้นมา ทำเหมือนบัตรรับรองพระที่ได้มา แล้วแนบบัตร Copy นั้นขายพร้อมพระแท้ แต่ผมว่า ถ้าเขาคิดทำอย่างนี้ อย่าหวังเลยว่าพระนั้นจะแท้ เขาน่าจะทำเหมือนข้อข้างบนมากกว่า คือ บัตร Copy พระก็เก๊ วิธีการคือส่งพระแท้ออกบัตร เพื่อให้มีบัตรอ้างอิงในระบบได้ เช็คออนไลน์ก็เจอ จากนั้น นำบัตรแท้นั้นมา Copy เป็นสิบ ๆ บัตร แล้วขายพร้อมพระเก๊ที่มีลักษณะรูปลักษณ์คล้ายกัน ดูจากรูปแยกไม่ออก แล้วก็ส่งขายให้ชาวต่างชาติ ประเทศบัตร 2 -3 บัตรก็น่าจะคุ้มอยู่นะครับ
บทความนี้ผมไม่ได้เขียนเพื่อให้มองวงการนี้ในแง่ร้าย แต่เขียนให้ตรึกนึกในใจว่ามันเกิดขึ้นได้เสมอ และควรระมัดระวังรอบคอบเป็นอย่างมากครับ เรื่องนี้แม้แต่ทาง สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย ก็ได้ออกมาเตือนประมาณว่า ระวังบัตรรับรองพระแท้มีการทำปลอม แต่!สามารถตรวจสอบได้ แต่ถ้ามิจฉาชีพหาองค์พระที่คล้ายในรูปบัตร แล้วทำบัตรปลอม Copy ข้อมูลต่าง ๆ เหมือนในบัตรออนไลน์ ผมว่าตรวจสอบยากนะครับ เพราะตรวจสอบก็ต้องเจอว่ามีในระบบจริง แต่บัตรที่เราถืออยู่อาจจะเป็นบัตร copy ก็ได้ และเราก็ไม่มีใครรู้แล้วว่าพระองค์ในนบัตรและบัตรที่แท้จริงนั้นอยู่กับใคร หรือเขาใช้บัตรแท้แต่พระปลอม (เพราะพระคล้ายกันมากดูจากรูปไม่ออกว่าใช่องค์ในบัตรไหม) แบบนี้เช็คกี่ครั้งก็บัตรแท้ แต่พระนี่สิมีปัญหา