คาถาฤาษีแปลงสาร
ภะคะวา สุคะโต อะระหัง
พระคาถานี้ถ้าจะเดินทางบก เพื่อมิให้คนทั้งหลายเห็นเราท่านให้เอาใบไม้รู้นอน ๔ สิ่งเสกแล้วให้เหน็บสีข้างทั้งสอง เหน็บข้างหน้า เหน็บข้างหลัง ภาวนาไปเถิดมิเห็นตัวเราเลย คุ้มได้ทั้งคนที่ตามเรามาด้วย แม้จะไม่ได้ใบไม้รู้นอน จะเป็นใบไม้อย่างอื่นก็เสกได้หรือจะนั่งภาวนาอิงต้นไม้ไว้ก็ได้ ให้นั่งเอาตีนจุกทวารไว้ (เข้าใจว่านั่งคุกเข่า) ภาวนาอย่าขาดปากคนมิเห็นตัวเราเลย หรือถ้าเราถูกเขาไล่มาหลาย ๆ คนด้วยกัน ให้นั่งซ้อน ๆ กันขึ้นไป ตัวเรานั่งขี่บนหลังคุ้มได้หมดเลย ถ้าจะทางเรือให้เสกใบไม้รู้นอน ๓ กิ่ง ปักหัวเรือกลางเรือ ท้ายเรือ ภาวนาไปเถิดเขามเห็นเราเลย ถึงผ่านขนอน(ด่าน) เขาก็มิทักแล เวลาจะเสกให้หลับตาเสก (เมื่อเถรขวาดพาเณรจิ๋วหลบหนีจากกรุงศรีอยุธยาไปเชียงใหม่ ในเรื่องขุนช้างขุนแผนก็ใช้พระคาถาบทนี้เสกใบหึงหายผีพลางตาคนไป จนถึงเชียงใหม่แล)
ผมอาจจะตั้งหัวข้อเวอร์เกินไปนะครับ ตั้งตามสรรพคุณที่ท่านกล่าวไว้ หรือเชื่อว่าอย่างนั้น
คาถาต่าง ๆ ก็กล่าวสรรพคุณหรืออานุภาพไว้ทั้งนั้น ไม่งั้นจะเรียกว่าคาถาหรือ
แต่จะได้ผลทุกคาถาหรือไม่อีกประเด็นหนึ่ง
ฉะนั้น หากท่านผู้อ่านนำไปใช้แล้วไม่ได้ผลตามที่กล่าวมา อย่าฟ้องร้องกันเด้อ
คาถานี้ เมื่อพิจารณาดูแล้วก็เป็นบทพุทธคุณทั้งนั้น ความหมายโดยย่อ ดังนี้
ภะคะวา : พระพุทธเจ้า เป็นผู้มีความเจริญ เป็นผู้จำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์ (นอกจากนั้นยังแปลว่า เป็นผู้มีโชคดีอีกด้วย) บางทีก็แปลทัพศัพท์ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า
สุคะโต : พระพุทธเจ้าเป็นผู้เสด็จไปแล้วด้วยดี
อะระหัง : พระพุทธเจ้าเป็นผู้ไกลจากกิเลส (พระอรหันต์)
ภะคะวา สุคะโต อะระหัง : พระผูัมีพระภาคเจ้าเป็นพระอรหันต์ผู้เสด็จไปแล้วด้วยดี