พุทธมนต์ (มนต์คาถาที่เกี่ยวเนื่องด้วยพุทธคุณ) ที่มีบทพุทธคุณเหมาะสำหรับคนที่ถูกคนแกล้ง ถูกคนใส่ร้าย ถูกกลั่นแกล้งเอารัดเอาเปรียบ ถูกฟ้องร้องจนเป็นคดีความในเรื่องที่ไม่เป็นจริง ผมแนะนำบทพุทธคุณที่ปรากฏอยู่ในบทสวดพาหุงบทที่ห้า อันพระเถราจารย์ประพันธ์เป็นคาถาสำหรับสวดไว้ดังนี้
กัตตะวานะ กัฏฐะมุทะรัง อิวะ คัพภินียา
จิญจายะ ทุฏฐะวะจะนัง ชะยะกายะมัชเฌ
สันเตนะ โสมะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เม ชะยะมังคะลานิ.
แปลว่า…
นางจิญจมาณวิกาใช้ไม้มีสัณฐานกลมใส่ที่ท้อง ทำอาการประหนึ่งว่ามีครรภ์ เพื่อกล่าวร้ายพระพุทธเจ้า พระจอมมุนีก็เอาชนะได้ด้วยวิธีสงบระงับพระทัยในท่ามกลางหมู่คน ด้วยเดชะอันนี้ ขอชัยมงคลจงมีแก่เรา
วิธีสวด
- การสวดคาถาใด ๆ ต้องตั้งนะโม 3 จบเสียก่อน ยกเว้นสวดต่อเนื่องจากคาถาอื่นซึ่งได้ตั้งนะโมมาก่อนนั้นแล้ว
- ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
- สวดกี่จบก็ได้จนเกิดความมั่นใจว่าเราสวดถูกต้องตามฐานกรณ์ ออกเสียงได้อย่างถูกต้องแล้ว
- ตรงคำว่า เม ทำจิตมุ่งเน้นชัยชนะมาที่เรา
- สวดเสร็จแล้ว อธิษฐานถึงคุณครูอาจจารย์ คุณบิดามารดา เทวดาประจำกายหรือเทวดาผู้เคยเป็นญาติมิตรสหายของเรามาก่อน คุณงามความดี บุญกุศลที่เราได้เคยทำมา แล้วอธิษฐานขอความเป็นมงคล ขอชัยชนะจึงเกิดขึ้นแก่เรา ดังที่พระศาสดาทรงชนะนางจิญจมาณวิกา ด้วยความจริง ด้วยความสงบเยือกเย็นด้วยวิธีสมาธิอันงาม
- สวดโดยไม่ต้องสวดคำแปล
- หมั่นปฏิบัติตามคำสอนเป็นพุทธบูชา คือ ทาน ศีล ภาวนา
เรื่องนางจิญจมาณวิกา โดยย่อ ที่มาของบทในคาถาพาหุง
จิญจมาณวิกา หรือโดยย่อว่า จิญจา เป็นสตรีที่เชื่อว่ามีชีวิตอยู่ในพุทธกาล โดยในพระไตรปิฎกกล่าวว่านางได้ให้ร้ายพระโคตมพุทธเจ้า ต่อหน้าคนจำนวนมากว่า ทำให้นางตั้งครรภ์ ด้วยความที่นางมีความฉลาดในมารยาของหญิง นับถือศรัทธาลัทธิเดียรถีย์ มีเจตนาเพื่อทำลายพระพุทธเจ้าจึงเดินเข้าออกวัดเชตวันอยู่เสมอ ทำทีเหมือนอยู่ในพระเชตวัน แต่แท้จริงแล้วนางอยู่ในวัดเดียรถีย์ใกล้เคียง โดยกาลล่วงไป 8–9 เดือน ผูกไม้กลมไว้ที่ท้องห่มผ้าทับข้างบน ให้ทุบหลังมือและเท้าด้วยไม้คางโค แสดงอาการบวมขึ้น มีอินทรีย์บอบช้ายอมตนกล่าวตู่พระพุทธเจ้าในท่ามกลางหมู่ชน ภายหลังนางจึงถูกแผ่นดินสูบ
- ท่านสามารถอ่าน เรื่องนางจิญจมาณวิกา โดยละเอียดได้ในเรื่อง จิญจมาณวิกา
- ดูบทสวดพาหุงทั้ง ๙ บทได้ที่ บทสวดพาหุง