วันพระ หรือ วันธรรมสวนะ หมายถึง วันประชุมถือศีลฟังธรรมในพุทธศาสนา (ธรรมสวนะ แปลว่า การฟังธรรม) โดยกำหนดเดือนทางจันทรคติละ 4 วัน ได้แก่
- วันขึ้น 8 ค่ำ
- วันขึ้น 15 ค่ำ (วันเพ็ญ)
- วันแรม 8 ค่ำ
- วันแรม 15 ค่ำ (หากเดือนใดเป็นเดือนขาด กำหนดเอาในวันแรม 14 ค่ำ)
ในวันพระนี้ พุทธศาสนิกชนถือเป็นวันสำคัญ จึงไปวัดเพื่อทำบุญ ถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ และฟังธรรม สมาทานอุโบสถศีล คือรักษาศีลแปดตลอดวันหนึ่งและคืนหนึ่ง จึงเรียกอีกอย่างว่าวันอุโบสถ นอกจากนั้นแล้ว ชาวพุทธยังถือว่าวันพระเป็นวันที่ไม่ควรทำบาปใด ๆ การทำบาปหรือล่วงละเมิดศีลห้าในวันพระถือว่าเป็นบาปยิ่งกว่าวันอื่น ๆ (วันพระเป็นวันสำหรับฟังธรรม วันสำหรับรักษาศีลอุโบสถ วันของผู้สงบ การทำบาปในวันนั้นดังกล่าว โทษของการทำอาจจะไม่ต่าง แต่หากทำในวันที่พระสงฆ์แสดงธรรม หรือวันที่พุทธศาสนิกชนรักษาศีล เหมือนเป็นการไม่เคารพในพระพุทธเจ้า ไม่เคารพในพระธรรม ไม่เคารพในพระสงฆ์เพิ่มขึ้นมาอีกกว่าเดิม)
ที่มาของวันพระ หรือ วันธรรมสวนะ
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่า คำว่า วันพระบ้าง วันศีลบ้าง น่าจะเรียกเฉพาะพุทธศาสนิกชนในประเทศไทย ส่วนพุทธศาสนิกชนประเทศอื่นน่าจะใช้คำว่า วันธรรมสวนะ หรือ คำอื่นที่สื่อความหมายถึงวันดังกล่าวนี้
ในสมัยพุทธกาล พระเจ้าพิมพิสาร ได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และกราบทูลว่านักบวชในศาสนาอื่น มีวันสำหรับประชุมสนทนาเกี่ยวกับหลักธรรมคำสั่งสอนในศาสนาของตน แต่ว่าศาสนาพุทธยังไม่มี พระบรมศาสดาจึงทรงอนุญาตให้ภิกษุสงฆ์ประชุมสนทนาธรรมและแสดงธรรมเทศนาแก่ประชาชน ในวันขึ้น 8 ค่ำ วันขึ้น 15 ค่ำ วันแรม 8 คำ และ วันแรม 15 ค่ำ (หากเดือนใดเป็นเดือนขาด กำหนดเอาในวันแรม 14 ค่ำ) รวม 4 วัน ต่อเดือน สำหรับวัน 15 ค่ำ (หรือ 14 ค่ำในเดือนขาด) มีพระบรมพุทธานุญาตให้มีตัวแทนสงฆ์รูปหนึ่งสวดทบทวนสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้เป็นระเบียบปฏิบัติในท่ามกลางสงฆ์หรือเรียกว่าสวดพระปาติโมกข์ หรือทำสังฆอุโบสถ
กิจกรรมที่พึงปฏิบัติในวันพระ
- ทำบุญตักบาตร ถือศีล ปฏิบัติธรรม ฟังพระธรรมเทศนา
- ปัดกวาดบ้านเรือนให้สะอาด งดการเที่ยวเตร่ ละเว้นอบายมุข ละเว้นการฆ่าสัตว์และบริโภคเนื้อสัตว์ในวันสำคัญทางพุทธศาสนา
- ศึกษาข้อธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
- ประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนา
ศีลที่สมาทานรักษาในวันพระ เรียกว่าศีลอุโบสถ หรือ ศีล 8 (ส่วนศีล 5 ต้องรักษาทุกวันอยู่แล้ว)
การรักษาศีลอุโบสถ มี 2 ลักษณะ ได้แก่
1. ปกติอุโบสถ คือ อุโบสถที่รับรักษากันตามปกติเฉพาะวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง
2. ปฏิชาครอุโบสถ คือ อุโบสถที่รับรักษาเป็นพิเศษกว่าปกติธรรมดา คือ รักษาคราวละ 3 วัน จัดเป็นวันรับวันหนึ่ง วันรักษาวันหนึ่ง และวันส่งอีกวันหนึ่ง
การสมาทานศีลอุโบสถทั้ง 2 ประเภทนี้ จะสมาทานรักษาในวัด หรือนอกวัดก็ได้ พึงดูพระมหาชนกเป็นตัวอย่าง แม้ลอยคออยู่ในน้ำก็สามารถสมาทานศีลอุโบสถได้ ไม่จำเป็นต้องรักษาอยู่ในวัด (จากเรื่องพระมหาชนกซึ่งเป็นอดีตชาติของพระพุทธเจ้า จะเห็นได้ว่า วันพระหรือวันรักษาศีลอุโบสถเป็นของเก่า ศีล 8 หรือศีลอุโบสถก็เป็นของเก่าที่มีอยู่ในพระศาสนาของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์)
ศีลอุโบสถมีอะไรบ้าง
ศีลอุโบสถ หรือ ศีล 8 ที่รักษาในวันพระมีอะไรบ้าง
1. เว้นจากการฆ่าสัตว์
2. เว้นจากการขโมยสิ่งของของคนอื่น
3. เว้นจากการประพฤติผิดพรหมจรรย์
4. เว้นจากการพูดโกหก ไม่พูดหยาบคาย ส่อเสียด เพ้อเจ้อ
5. เว้นจากการดื่มสุราและเมรัย
6. เว้นจากการกินอาหารในยามวิกาล (หลังเที่ยงวันถึงรุ่งเช้าของวันใหม่) ยกเว้นน้ำเปล่าและน้ำปานะ หรือเภสัช
7. เว้นจากการฟ้อนรำขับร้อง ประโคมดนตรี และประดับร่างกายด้วยดอกไม้ของหอม เครื่องประดับ เครื่องทา เครื่องย้อม
8. เว้นจากการนั่งนอนเหนือเตียงตั่ง ที่เท้าสูงเกิน ภายในมีนุ่นหรือสำลี
ทำไมวันพระ ต้องเป็นวัน 8 และ 15 ค่ำ
1. เรื่องการกำหนดวันพระหรือวันธรรมสวนะในวัน 8 และ 15 ค่ำ ผมเชื่อว่าเป็นของเก่า เป็นธรรมเนียมเก่า ที่นักบวชในสมัยนั้นใช้เป็นวันกำหนดนับนัดหมายกันเพื่อทำกิจกรรมในทางศาสนา
2. การกำหนดนับในช่วงกลางเดือน และปลายเดือน เป็นการกำหนดนับที่ง่ายที่สุด โดยสังเกตดวงจันทร์บนท้องฟ้าได้ง่ายที่สุด แม้ไม่มีความรู้เรื่องดาราศาสตร์ก็ตาม อีกอย่างเป็นเรื่องง่ายสำหรับการจดจำ
3. ศาสนาพุทธทำไมจึงถือวันพระ ในวัน 8 ค่ำ 15 ค่ำ จะเอาวันอื่นไม่ได้หรือ ? ผมขอนำคำตอบจากประวัติหลวงพ่อโง่น โสรโย วัดพระพุทธบาทเขารวก อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร โดย ทองทิว สุวรรณทัต จาก หนังสือโลกลี้ลับ ฉบับที่ ๔๘ ปีที่ ๕ ประจำเดือนธันวาคม ๒๕๓๑ ซึ่งโพสต์บนเว็บไซต์ www.dharma-gateway.com ซึ่งผมถือว่าเป็นคำตอบที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก
เรื่องมีอยู่ว่า สมัยที่หลวงปู่โง่ยังเป็นหนุ่มอยู่ ท่านนับถือศาสนาคริสต์มาก่อน วันหนึ่งท่านได้ถามปัญหาที่คาใจกับหลวงพ่อวัง จิตฺตวโร หลายข้อ หนึ่งในนั้นก็คือ ศาสนาพุทธทำไมจึงถือวันพระ ในวัน 8 ค่ำ 15 ค่ำ จะเอาวันอื่นไม่ได้หรือ ?
หลวงพ่อวัง จิตฺตวโร ได้ให้คำตอบดังนี้
“ศาสนาพุทธมิใช่ศาสนาอย่างแท้จริงตามหลักวิชาการแผนใหม่ ศาสนาที่แท้จริงจะต้องมีพระผู้เป็นเจ้า
และศาสนาพุทธก็มิใช่ปรัชญา ปรัชญาต้องมีเจ้าของ อย่างปรัชญาของท่านเพลโต้ ของท่านฟูโซ่ ของท่านกงจื๊อ อันนี้เป็นปรัชญา
พระพุทธศาสนาไม่มีเจ้าของ พระพุทธเจ้าไม่ได้เป็นเจ้าของพระพุทธ ศาสนา โลกทั้งโลกเป็นเจ้าของ พระพุทธศาสนาเป็นของเราทุกคน พระพุทธเจ้าท่านค้นพบของจริงที่มีอยู่ในคน ที่มีอยู่ในโลก แล้วนำมาสอนคนอีกต่อหนึ่ง ดังนั้นศาสนาพุทธจึงอยู่ในระหว่างกลาง ทั้งปรัชญาและศาสนา
พระพุทธเจ้าค้นพบทุกข์ ท่านค้นพบสมุทัย ท่านค้นพบนิโรธ ท่านค้นพบมรรค ซึ่งทุก ๆ คนมีด้วยกันหมด มันมีมาก่อนแล้ว ท่านค้นพบจึงมาสอนคนอื่น
ฉะนั้น ศาสนาพุทธจึงมิใช่ศาสนา และมิใช่ปรัชญา อยู่ในระหว่างกลาง ลูกเอ๋ย… จำไว้”
ส่วนที่ถามว่า ขึ้น 8 ค่ำ แรม 8 ค่ำ ขึ้น 15 ค่ำ แรม 15 ค่ำ ทำไมจึงถือเป็นวันธรรมสวนะ ท่านอธิบายว่า
“พระพุทธเจ้าของฉันท่านเป็นโลกวิทู เป็นผู้แจ้งโลก
วัน 8 ค่ำ ทั้งข้างขึ้น ข้างแรม พระอาทิตย์กับดวงจันทร์กำลังทำมุม สแควร์กัน ผัวเมียจะทะเลาะกันก็อยู่ ใน 7 ค่ำ 8 ค่ำนี้ อย่าไปทวงหนี้ทวงสินกัน ผัวเมียให้ยิ้มแย้มแจ่มใสต่อกัน
ถ้าวันแรม 15 ค่ำ จะมีโจรผู้ร้ายชุกชุม การปล้นฆ่าทารุณจะเกิดขึ้น ไปดูสถิติของกรมตำรวจเขาก็ได้ เพราะเดือนมันมืด ใจคนมันมืดมน
ขึ้น 15 ค่ำ ดวงจันทร์มันแจ่มกระจ่าง อาชญากรมันจะก่อคดีในทางที่เกี่ยวกับความรักความใคร่มากกว่าปกติ การข่มขืน การปลุกปล้ำกระทำการชั่วมากกว่า เป็นกามกิเลส มันดลดวงจิตของคนอย่างนี้
ดวงจิตของคนจะมีการกวัดแกว่ง มีการทะเลาะเบาะแว้งกัน แทนที่จะทำเช่นนี้ จึงสมควรเข้าวัดให้พระท่านอบรมสั่งสอน พระพุทธเจ้าท่านรู้จักกฎของโลก ท่านจึงได้กำหนดไว้
แทนที่จะทะเลาะกัน ก็ให้เข้าวัดเถิดลูก !
แทนที่จะขโมยของของเขา ก็ให้เข้าวัดเถิดลูก !
แทนที่จะรักกันด้วยความใคร่ ก็ให้เข้าวัด รักกันด้วยเมตตา”
โยมเอ๋ย ! คำพูดของท่านเหมือน กับท่านเข้ามานั่งในหัวใจของอาตมา ด้วยเวลานั้นกำลังเรียนดาราศาสตร์อยู่ด้วย แหม ! ท่านเก่ง !
แล้วท่านยังบอกอีกว่า กลับไป ให้ไปอ่านคัมภีร์ศาสนาคริสต์ เล่มที่ 5 เมื่อเปิดอ่านแล้วจะโยนหนังสือทิ้ง !”
อาตมา (หลวงปู่โง่น) ก็นึกสงสัยว่า “เอ๊ะ ! นี่ ยังไงกัน หนังสืออยู่ในกระเป๋าของเรา ท่านก็รู้ กลับไปพออ่านเล่มที่ 5 พระเจ้าสร้างโน่น พระเจ้าสร้างนี่ พระเจ้าสร้างโลก เป็นคัมภีร์เรื่องสร้างโลกของเรา ถ้าไม่มีพระอาทิตย์ จะมีกลางวันอย่างไร ถ้าไม่มีพระจันทร์ จะมีกลางคืนอย่างไร เอ๊ะ ! มีพระเจ้าบ้า ! เราก็โยนทิ้ง ”