คาถา หัวใจยอดพระนิพพาน
อะ ระ หัง
คาถาหัวใจยอดพระนิพพานนี้ หากพิจารณาโดยชื่อแล้วบ่งบอกถึงเป้าหมายสูงสุดของชีวิตในการบำเพ็ญเพียรในทางพระพุทธศาสนาคือการดับกิเลสและทุกข์คือพระนิพพานนั่นเอง
หากพิจารณาตามอักษรย่อหรือคำศัพท์แล้ว อะ ระ หัง เป็นคุณบทหรือพระคุณสมบัติประการหนึ่งของพระพุทธเจ้าผู้ได้บรรลุถึงเป้าหมายสูงสุดองค์แรกในทางพระพุทธศาสนาซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับพระนิพพาน หมายความว่าเพราะพระองค์ได้ความเป็นผู้มีคุณสมบัติเช่นนี้จึงถึงพระนิพพาน ด้วยเหตุนี้กระมัง โบราณาจารย์จึงจัดคำนี้เป็นหัวใจยอดพระนิพพาน
คัมภีร์วิสุทธิมรรคได้อธิบายพระนามของพระพุทธเจ้าข้อว่า อะระหัง นี้ไว้ว่า หมายถึง ผู้ห่างไกลจากกิเลส ผู้ขจัดกิเลส ผู้ควรแก่ปัจจัย เป็นต้น และผู้ไม่มีความลับในการทําบาป ความหมายโดยตรงก็คือ ผู้ไม่กระทําบาป เพราะท่านหมดกิเลสแล้ว (พระพุทธโฆสาจารย์, 2531, น.252-257)
อะ ระ หัง หรือ อรหํ ไม่ใช่ศัพท์ย่อ แต่ทั้งศัพท์ว่า อรหํ เป็นศัพท์ที่แสดงถึงพุทธคุณประการหนึ่งที่ปรากฎอยู่บทแสดงพระพุทธคุณ ๙ ประการ หรือบท อิติปิ โส
พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ใช้บทว่า อะ ระ หัง เป็นบทสำหรับบริกรรมภาวนา โดยเพิ่มคำว่า สัมมา นำหน้า เป็น สัมมา อะระหัง ดังข้อความที่ว่า
ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ปี พ.ศ. 2460 เมื่อพระสดกลับจากบิณฑบาตแล้ว ท่านก็เข้าไปนั่งสมาธิเจริญภาวนาในพระอุโบสถ ขณะนั้นเวลาประมาณ 8 โมงเศษ ๆ ท่านก็เริ่มทำความเพียร โดยตั้งใจว่าหากยังไม่ได้ยินเสียงกลองเพล จะไม่ยอมลุกจากที่ เมื่อตั้งใจดังนั้นแล้ว ก็หลับตาภาวนา “สัมมา อะระหัง” ไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งความปวดเมื่อย และอาการเหน็บชาค่อย ๆ เพิ่มทีละน้อย ๆ และมากขึ้นจนมีความรู้สึกว่า กระดูกทุกชิ้นแทบจะระเบิดหลุดออกมาเป็นชิ้น ๆ จนเกือบจะหมดความอดทน ความกระวนกระวายใจก็ตามมา…. ที่มา พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)
พุทธคุณ หัวใจยอดพระนิพพาน อะ ระ หัง
โบราณาจารย์ได้นําเอาคําว่า อะระหัง ไปใช้ในมิติทางความเชื่ออย่างหลายประการ เช่น ใช้บริกรรมเพื่อป้องกันอันตราย เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวใจให้ไปสู่สุคติในเวลาใกล้ตายให้ภาวนาจนจิตเป็นสมาธิรวมถึงใช้ภาวนาก่อนที่จะบริกรรมคาถาอื่น ๆ จะทําให้เกิดความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งขึ้น
(เทพย์สาริกบุตร, 2538, น. 207)
ขอบคุณ : ธีรโชติ เกิดแก้ว, การศึกษาอักษรย่อในคัมภีร์หัวใจ108 ในฐานะสื่อการสอนพระพุทธศาสนา, 2561 หน้า 62-63
บทความแนะนำ…พระคาถา หัวใจ ๑๐๘ คือเป็นหัวใจธาตุ คาถา สูตรต่าง ๆ ที่ท่านย่อมา