ตำนานการพบพระร่วงนั่งกรุคอกควาย ทราบว่า ในหมู่บ้านโสกรวก ต.หนองบัวโคก อ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ มีสองสามีภรรยาคู่หนึ่ง ชื่อนายโก้ มิกขุนทด และ นางแฉล้ม มิกขุนทด มีอาชีพทำนาทำไร่ พวกเขาอาศัยอยู่บ้านโสกรวกนี้มาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ แต่เดิมนั้นพื้นที่ของหมู่บ้านแห่งนี้ยังเป็นป่ารกชัฎ จวบจนมีประชากรเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จึงได้มีการขยายพื้นที่ของหมู่บ้านออกไป มีผู้คนอยู่อาศัยประมาณ 280 กว่าคน นับหลังคาเรือนได้ประมาณ 50 หลังคาเรือน ตามธรรมแล้วเมื่อคนอาศัยรวมกันหลายหลังคาเรือนจนเป็นหมู่บ้านจะต้องมีวัดประจำหมู่บ้าน แต่หมู่บ้านแห่งนี้ยังไม่มีวัดประจำหมู่บ้าน เมื่อพวกเขาจะร่วมกิจกรรมในทางพระพุทธศาสนา จะต้องเดินทางไปทำบุญในวัดของหมู่บ้านใกล้เคียง สองสามีภรรยาจึงได้ปรึกษากันและตกลงปลงใจว่า เราควรมอบที่ดินของตนส่วนหนึ่งเพื่อที่จะให้สร้างวัดจึงได้บริจาคที่ดินจำนวน 8 ไร่ 1 งาน เพื่อสร้างเป็นวัดประจำหมู่บ้าน เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2540 ชาวบ้านโสกรวกหลายสิบคนนำโดยนายหนูชิด แสนชั่ง ผู้ใหญ่บ้าน จึงได้ร่วมใจกันปรับพื้นที่ดังกล่าวนั้น โดยใช้รถแทรคเตอร์ 1 คันมาไถปรับพื้นที่
ขณะที่รถแทรคเตอร์ปรับที่เนินดิน ได้ไถไปถูกก้อนหินใหญ่เข้าโดยบังเอิญ เมื่อชาวบ้านพากันมาตรวจดูจึงได้พบพระพิมพ์ขนาดใหญ่จำนวน 3 องค์ มีความกว้างประมาณ 2 นิ้วครึ่ง สูงประมาณ 3 นิ้วครึ่ง มีลักษณะเป็นพระพิมพ์อู่ทองสุวรรณภูมิ จึงคิดว่าบริเวณนี้ไม่น่าจะมีแค่นี้น่าจะมีอะไรมากกว่านี้ จึงได้ช่วยกันขุดรอบ ๆ เนินดินแห่งนั้นจนได้พบคราบหินปูนสีขาวเรียงรายอยู่เป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งยังพบเศษกระเบื้องโบราณแตกอยู่ทั่วไปในบริเวณนั้น และเมื่อพวกเขาขุดไปตามแนวคราบหินปูนลงไปลึกประมาณ 1 เมตร จึงพบผอบเคลือบสีน้ำตาลอมดำ มีฝาครอบ มีลวดลายสวยงาม (ไม่ทราบว่าเป็นผอบทำด้วยอะไร น่าจะเป็นผอบดิน) ภายในมีพระพิมพ์บรรจุอยู่นับได้จำนวน 27 องค์ เมื่อนับรวมกันกับอีก 3 องค์ที่พบก่อนนั้น รวมเป็นพระ 30 องค์
พระพิมพ์ที่พบสามารถแยกออกเป็นพิมพ์ต่าง ๆ ได้ ดังนี้ คือ
- พระพิมพ์อู่ทองสุวรรณภูมิ พบครั้งแรก 3 องค์
- พระพิมพ์ซุ้มปรางค์ ฐานบัวสองชั้น 2 องค์
- ที่เหลืออีกจำนวน 25 องค์ เป็น พระร่วงนั่งพิมพ์สมาธิ มีขนาดกว้าง 3 ซม. และเมื่อพิจารณาดูกันให้ชัด ๆ พระร่วงที่พบในครั้งนี้คือ พระร่วงนั่งกรุคอกควาย ที่พบในอดีตเมื่อ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2515 (แสดงว่ามีการค้นพบก่อนนั้นแล้ว)
นั่นเอง
พระร่วงนั่ง กรุคอกควาย เรียกตามสถานที่ขุดพบครั้งแรก คือมีชาวบ้านคนหนึ่งได้ขุดหลุมเพื่อปักเสาทำคอกควายจึงได้พบพระเครี่องในตรงนั้น ซึ่งก็อยู่ห่างจากจุดที่ค้นพบใหม่ประมาณ 150 เมตรเท่านั้น
พระร่วงนั่ง กรุคอกควายมีพุทธลักษณะเป็นพระพุทธประทับนั่งปางสมาธิ ทรงเทริด มีกรองพระศอ และกำไลแขน ตัดขอบชิดองค์พระ ศิลปะกรรมแบบสมัยลพบุรียุคต้น (ศิลปะแบบขอม) เนื้อชินสนิมแดงเป็นส่วนใหญ่ มีที่เป็นเนื้อชินเงินบ้างแต่พบน้อย ในการค้นพบพระร่วงนั่ง กรุคอกควายทั้งสองครั้ง ประมาณได้ว่าน่าจะมีพระร่วงนั่ง กรุคอกควาย จำนวนไม่เกิน 70 องค์
ข้อมูลจาก : https://www.web-pra.com/amulet/พระกรุ-เมืองชัยภูมิ/item/show/2829
หมายเหตุ :
- บางแห่งระบุว่าพระร่วงนั่ง กรุคอกควายพบครั้งแรก เมื่อปี 2505 ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2541
- สรุปคือมีการค้นพบพระร่วงนั่ง กรุคอกควาย 2 ครั้งในที่ไม่ไกลกัน ครั้งแรกพบประมาณ 40 องค์ ครั้งที่ 2 พบ 30 องค์
- พระร่วงนั่ง กรุคอกควาย เป็นพระเนื้อชินสนิมแดงเป็นส่วนใหญ่ ที่เป็นเนื้อชินเงินก็มีแต่พบน้อย
- เรียกว่า พระร่วง เพราะพระที่พบมีศิลปะแบบขอม ต่อท้ายด้วยคำว่า คอกควาย เพราะพบในบริเวณสถานที่ซึ่งจะทำเป็นคอกควาย