ในการบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาต้องทรงบริขาร ๘ ซึ่งแรกตามศัพท์ทางศาสนาว่า อัฐบริขาร ได้แก่ ๑. ผ้าจีวร, ๒. ผ้าสังฆาฎิ, ๓. ผ้าสบง, ๔. ประคดเอว, ๕. มีดโกน, ๖. บาตร, ๗. เข็มเย็บผ้า, ๘. ธมกรก (เครื่องกรองน้ำ) ซึ่งเป็นบริขารที่ขาดไม่ได้ เพราะพระภิกษุต้องใช้บาตรในการภิกขาจารเพื่อภัตตาหารนำมาเลี้ยงชีพ บาตรใบเดียวเลี้ยงชีวิตได้ตลอดชีพ เลี้ยงชีวิตได้เป็นร้อยเป็นพันคนหรือเป็นหมื่นในชั่วชีวิตท่าน เมื่อบาตรมีความสำคัญในการดำรงชีพของพระภิกษุอย่างนี้ พุทธศาสนิกชนจำนวนไม่น้อยจึงนิยมถวายบาตรในโอกาสที่เหมาะสม
บาตรที่เหมาะกับพระภิกษุ
พระบรมศาสดาทรงอนุญาตบาตรที่ทำด้วยวัสดุ ๒ ประเภท ได้แก่
๑. บาตรดินเผา ทุกวันนี้ไม่มีให้เห็นแล้ว เนื่องจากมีน้ำหนักมาก รักษายาก แตกง่าย ไม่สะดวกแก่การนำไปใช้
๒. บาตรเหล็ก บาตรที่ทำด้วยเหล็ก แม้บาตรแสตนเลสก็อนุโลมว่าเป็นเหล็กชนิดหนึ่ง
ส่วนขนาดของบาตรนั้นมีทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ แต่ที่นิยมใช้ขนาด ๘ – ๙ นิ้ว
การถวายบาตรนั้น ควรที่จะถวายให้ครบชุด ได้แก่ บาตร ถลกบาตร ขาบาตรหรือเชิงบาตร ถ้าจะให้ดีถวายผ้าเช็ดบาตรด้วยก็จะดี
เราควรถวายบาตรพระในโอกาสใด
- ในเวลาที่ทางวัดมีกิจกรรมบวชพระหรือบวชเป็นสามเณร
- ในเวลาที่ญาติมิตรหรือคนที่เคารพนับถือบวชเป็นพระหรือสามเณร แล้วเราอาสาเป็นเจ้าภาพในการถวายบาตร
- ถวายเป็นบริวารกฐิน หรือผ้าป่า
- ถวายเมื่อมีเจอพระที่ใช่บาตรทะลุ หรือท่านมีบาตรทะลุแล้วทำการบอกกล่าวให้เราทราบ
ท้าวจตุโลกบาลถวายบาตรแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
หลังจากพระพุทธเจ้า ตรัสรู้แล้ว ๔๙ วัน พ่อค้าสองพี่น้องชื่อ ตปุสสะและภัลลิกะ ได้รับคำแนะนำจากเทวดาซึ่งเคยเป็นญาติกับพ่อค้าทั้งสองในอดีตชาติ ให้นำภัตตาหารน้อมถวายแด่พระพุทธองค์ เพื่อประโยชน์สุขแก่ทั้งสองสิ้นกาลนาน เมื่อตปุสสะและภัลลิกะเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ร่มไม้เกด ต่างมีจิตเลื่อมใสศรัทธา จึงเข้าไปทำการอภิวาทและถวายข้าวสัตตุก้อนสัตตุผง พระพุทธองค์มีพระประสงค์จะรับ แต่บาตรที่ฆฏิการพรหมถวายในวันเสด็จออกบรรพชาได้อันตรธานไป ท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ จึงได้เหาะนำบาตรศิลามาถวายองค์ละใบ พระองค์จึงทรงประสานบาตรทั้ง ๔ ใบนั้นเป็นใบเดียวกัน แล้วใช้รับข้าวสัตตุก้อนสัตตุผง
คำถวายบาตร
เอเต มะยัง ภันเต ปัตเต สะปะริวาเร ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต ภิกขุสังโฆ เอเต ปัตเต สะปะริวาเร ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ ฯ
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายบาตร พร้อมกับของบริวารทั้งหลายเหล่านี้ แก่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์ จงรับบาตร พร้อมกับของบริวารทั้งหลายเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ตลอดกาลนานเทอญ
บิณฑบาต เลี้ยงชีพ ได้ประโยชน์ ๖ อย่าง
๑. ได้เจริญรอยตามยุคลบาท
๒. ได้โอกาสออกกำลังกายตอนเช้า
๓. ได้เข้าถึงความสำนึกในพระคุณแม่
๔. ได้เห็นทุกข์ในการแสวงหาอาหาร
๕. ได้เห็นความต้องการของประชาชน
๖. ได้ทำตนให้เป็นเนื้อนาบุญยิ่งขึ้น
อานิสงส์ของการถวายบาตร
- ย่อมมีโอกาสได้บริโภคโภชนาหารในภาชนะทองคำ ภาชนะแก้วมณี ภาชนะเงิน และภาชนะที่ทำด้วยทับทิมในกาลทั้งปวง
- เป็นผู้ไร้ซึ่งอันตรายจากสัตว์ มนุษย์ เป็นต้น
- เป็นผู้ไม่มีเสนียดจัญไร
- เป็นที่ยำเกรงของชนทั้งหลาย
- เป็นผู้ไม่ขาดแคลนข้าว น้ำ ผ้า และที่นอน
- มีโภคสมบัติสมบูรณ์ไม่พินาศด้วยภัยธรรมชาติหรือจากโจรภัย
- เป็นผู้มีจิตที่มั่นคง
- เป็นผู้ใคร่ธรรมในกาลทุกเมื่อ
- เป็นผู้ไม่มีกิเลสเครื่องเศร้าหมองใจ
- เป็นผูเไม่มีอาสวะ (หมายถึงไม่มีกิเลสสิ่งที่ทำให้จิตขุ่นมัวหรือรับคุณธรรมได้ยาก)
อานิสงส์เหล่านี้ อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นในทันทีทันใด แต่เป็นที่หวังไดัในภพใดภพหนึ่ง