ราหู หลวงพ่อน้อย วัดศีรษะทอง
หลวงพ่อน้อย คันธโชโต วัดศีรษะทอง ต.ห้วยตะโก อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ผู้สร้างตำนานพระราหูอมจันทร์กะลาตาเดียว เครื่องรางที่ให้คุณในด้านของโชคลาภปรับดวง, การพ้นจากเคราะห์ต่าง ๆ
หลวงพ่อน้อย ท่านเป็นผู้สืบเชื้อสายลาว เป็นพระเกจิอาจารย์รูปหนึ่งซึ่งมีวิทยาคมแก่กล้า มีนามเดิมว่า “น้อย นาวารัตน์” ท่านเกิดเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2435 ซึ่งตรงกับวันแรม 13 ค่ำ ปีมะโรง ณ ตำบลศีรษะทอง บิดาชื่อว่า มา มารดาชื่อว่า มี หลวงพ่อน้อยท่านมีพี่น้องร่วมอุทรทั้งหมด 5 คน ท่านเป็นบุตรคนสุดท้อง
บิดาของหลวงพ่อน้อย มีความสามารถในการรักษาโรคแบบแผนโบราณและเป็นหมอทางด้านไสยศาสตร์ที่เก่งกล้าทางด้านคาถาอาคม ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า “พ่อหมอ” ด้านคาถาอาคมนั้นเก่งมากในด้านอยู่ยงคงกระพัน กล่าวกันว่าเอามีดคมสับเนื้อหนังตัวเองให้ดูได้อย่างสบาย ไม่ระคายเคืองผิวหนังเลยแม้แต่น้อย จึงเป็นที่เลื่อมใสของชนชาวลาวโดยทั่วไป
เมื่อครั้นที่หลวงพ่อน้อยยังอยู่ในเพศฆราวาส ท่านเป็นคนขยันขันแข็งเป็นอันมาก ช่วยมารดาทำการเกษตรทำนาปลูกผักอยู่เป็นประจำ มีความสนใจศึกษาในอักขระเลขยันต์ คาถาอาคมไสยศาสตร์ และตำรับยาจากนายมาผู้เป็นบิดาจนมีความรู้และความชำนาญยิ่งนัก
อายุได้ 21 ปี ท่านได้เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ในบวรพระพุทธศาสนา ภายใต้ฉายาว่า “คนธโชโต” เมื่อวันพฤหัสบดีขึ้น 12 ค่ำ ปีฉลู ตรงกับวันที่ 14 เมษายน 2456 โดยมีพระอธิการยิ้ว เจ้าอาวาสวัดแค เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการเกิด วัดงิ้วราย เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระมุน วัดกลางคูเวียง เป็นพระอนุสาวนาจารย์
เมื่ออุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาอยู่ที่วัดแคในช่วงระยะเวลาหนึ่งจึงได้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดศีรษะทอง ในขณะนั้นมีหลวงพ่อลีเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้ศึกษาวิชาการความรู้ต่าง ๆ ที่ได้สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยที่หลวงพ่อไตรเป็นเจ้าอาวาส เช่น วิชาการสร้างวัวธนู, ราหูอมจันทร์ เป็นต้น
เมื่อวันเวลาผ่านไปหลวงพ่อน้อยได้เป็นพระผู้มีพรรษามากขึ้น ประจวบกับพระอธิการช้อยซึ่งเป็นเจ้าอาวาสได้ลาสิกขาไป กรรมวัดและญาติโยมทั้งหลายจึงพร้อมใจกันนิมนต์หลวงพ่อน้อยขึ้นเป็นเจ้าอาวาสรูปต่อไป
หลวงพ่อน้อยท่านจึงได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสตามเจตนารมณ์ของญาติโยม ทำการพัฒนาวัดศีรษะทองจนมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นลำดับมา ต่อมาท่านได้รับตำแหน่งเจ้าคณะตำบลศีรษทองปกครองคณะสงฆ์ดำรงพระศาสนา
หลวงพ่อน้อยท่านได้สร้างพระเครื่องและเครื่องรางของชลังไว้มากมายหลายชนิด แต่ที่มีชื่อเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างมาก คือ “พระราหูอมจันทร์” และ “พระโคสุลาภ” หรือวัวธนู โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระราหูอมจันทร์ ได้ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในเครื่องรางเบญจภาคีที่ชายไทยควรมีไว้คู่กาย
พระราหูอมจันทร์หลวงพ่อน้อย วัดศีรษะทองมีลักษณะและวิธีการสร้างที่สืบสานมาจากหลวงพ่อไตรเจ้าอาวาสรูปเก่าก่อน แต่ได้มีการสร้างมากและได้รับความนิยมมากที่สุดในสมัยของหลวงพ่อน้อย เป็นการสร้างพระราหูอมจันทร์ตามตำรับใบลานจารอักขระแบบขอมลาว
ตามตำนานทางไสยเวทย์ได้กล่าวไว้ว่า พระราหูเป็นยักษ์ที่มีนิสัยดุร้าย น่ากลัว มีผิวดำเป็นเงาวาวเหมือนดังนิล มีหางเป็นยาวนาคราชและมีพญาครุฑเป็นพาหนะรับใช้ สถิตพำนักอยู่ในอากาศ แวดล้อมด้วยหมอกม่านสีดำ เหตุที่ทำให้พระราหูมีเพียงองค์ครึ่งเดียวนั้น อันเนื่องมาจากพระราหูได้ต้องจักรของพระนารายณ์ตัดขาด เหตุเพราะว่าพระราหูได้แอบดื่มน้ำอมฤต ในขณะที่พระราหูกำลังดื่มน้ำอมฤตอยู่นั้น พระอาทิตย์และพระจันทร์ได้มาเห็นเข้าพอดี จึงได้นำความไปฟ้องต่อพระนารายณ์ พระนารายณ์ทรงกริ้วจึงได้ขว้างจักรไปต้องกายพระราหูขาดครึ่ง แต่พระราหูกลับไม่ตายเพราะได้ดื่มน้ำอมฤตเข้าไปแล้ว เหตุนั้นพระราหูจึงมีความแค้นเคืองต่อพระอาทิตย์และพระจันทร์เป็นอย่างมาก ที่นำเรื่องของตนไปฟ้องต่อพระนารายณ์จึงคอยเฝ้าจับพระอาทิตย์และพระจันทร์กินอยู่เสมอมา
การสร้างพระราหูอมจันทร์ตามตำราของลาวโบราณ ต้องแกะจากกะลาตาเดียว แกะเป็นรูปพระราหูอมจันทร์ จารด้วยอักขระขอมลาว เสกให้ครบถ้วนตามตำราว่าไว้
พระราหูอมจันทร์กะลาตาเดียวแกะ หลวงพ่อน้อย วัดศีรษะทอง เป็นเครื่องรางของขลังที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก นอกจากเป็นเครื่องรางที่ได้รับความนิยมในเมืองไทยแล้ว ยังเป็นเครื่องรางที่ได้รับความนิยมและถูกถามหามากที่สุดในประเทศที่นิยมเครื่องรางไทย เป็นต้นว่า ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย และชาวจีนแผ่นดินใหญ่อีกด้วย
อ่านเพิ่มเติม …. พุทธคุณ และคาถาบูชา พระราหูอมจันทร์ หลวงพ่อน้อย
หมายเหตุ คำว่า วัดศีรษะทอง ต้องเขียนว่า วัดศีรษะทอง สระ อี อยู่ตรง ศ ศาลา ไม่ใช่ วัดศรีษะทอง