ประวัติความเป็นมาพระกลีบบัว วัดลิงขบ
พระกลีบบัว วัดลิงขบเป็นพระกรุที่ขึ้นชื่อด้านเมตตามหานิยมและแคล้วคลาด ผู้ที่อยู่ในวงการพระเครื่องต่างรู้กันดีว่า พระกลีบบัว วัดลิงขบถือเป็นของดีราคาไม่แพงและหาได้ง่าย เหมาะกับการหามาครอบครองเพื่อคุ้มครอง หลายคนคงสงสัยว่าพระดีขนาดนี้มีประวัติความเป็นอย่างไร ทำไมถึงมีพระพุทธคุณที่เปี่ยมล้นเช่นนี้ ไปติดตามกันได้เลยค่ะ
ประวัติวัดลิงขบ
“วัดลิงขบ”ปัจจุบันมีชื่อเรียกว่า “วัดบวรมงคล” เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดราชวรวิหาร ซึ่งตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทางฝั่งธนบุรี โดยตัววัดนั้นตั้งอยู่ใกล้กับโรงงานสุราบางยี่ขันและตั้งเยื้องกันกับวัดราชาธิวาสฯ มีการสันนิษฐานว่าวัดนี้น่าจะสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา
การที่คนสมัยก่อนเรียกวัดบวรมงคลว่าวัดลิงขบ ได้มีการเล่าขานกันมาว่าวัดนี้สร้างโดยลุงที่มีชื่อว่า “ขบ” ซึ่งเป็นผู้มั่งคั่งในสมัยนั้น ลุงขบเป็นผู้ที่มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างสูง จึงได้ทำการสร้างวัดเพื่อเป็นพุทธบูชา และตัวลุงขบเองก็เป็นที่เคารพรักของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง ทำให้ชาวบ้านเรียกวัดนี้ว่า “วัดลุงขบ” และกลายมาเป็น “วัดลิงขบ” ในที่สุด
ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้มีพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ชาวรามัญที่ทำการอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารได้มีวัดสำหรับทำกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาตามความเชื่อของพวกตน ดังนั้นสมเด็จกรมพระราชวังบรมมหาเสนานุรักษ์ได้ทำการสถาปนาวัดลิงขบเป็นพระอารามหลวงขึ้น
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 วัดลิงขบเกิดการชำรุดเสียหายตามกาลเวลา ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมขุนธิเบศร์บวรทรงปฏิสังขรณ์วัดให้กลับมาอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ และทำการพระราชทานนามใหม่ “วัดบวรมงคล” เพื่อความเหมาะสมกับตำแหน่งพระอารามหลวงอีกด้วย
ทำให้วัดบวรมงคลจัดเป็นวัดรามัญส่วนกลาง ผู้ที่ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสจึงเป็นพระฝ่ายรามัญสืบต่อกันเรื่อยมา ทว่าในปี พ.ศ. 2462 เมื่อวัดได้เสื่อมสภาพและเกิดการทรุดโทรมอย่างมาก โดยที่ไม่มีผู้ใดเข้ามาทำการปฏิสังขรณ์วัด ส่งผลให้พระรามัญที่เข้ามาจำพรรษาในวัดนี้มีจำนวนน้อยลงทุกปี และพระที่จำพรรษาอยู่ที่วัดก็ไม่มีความพร้อมที่จะสามารถขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดได้เลย ดังนั้นทางวัดจึงได้ตัดสินใจทำการเปลี่ยนแปลงจากวัดรามัญมาเป็นวัดทางธรรมยุต และให้พระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตสามารถขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดได้ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน
ประวัติการค้นพบพระกลับบัว วัดลิงขบ
พระกลีบบัว วัดลิงขบเป็นพระกรุแตกที่บรรจุอยู่ใต้เจดีย์ที่อยู่ภายในวัดลิงขบ ซึ่งเจดีย์เป็นเจดีย์ที่มีรูปแบบทรงลังกา ตั้งอยู่ที่บริเวณทิศเหนือของวัด สาเหตุที่ทำให้ต้องมีการเปิดกรุพระก็เนื่องจากบริเวณฐานขององค์เจดีย์เกิดการชำรุดเสียหายเป็นช่องว่างที่ด้านล่าง ซึ่งช่องว่างนี้เด็ก ๆ สามารถแทรกเข้าไปด้านในได้ และเมื่อเข้าไปด้านในก็หยิบพระที่อยู่ภายในออกมา ต่อมาชาวบ้านที่นิยมพระเครื่องมีความต้องการพระมากขึ้น จึงมีขโมยเข้ามาขโมยพระโดยทำการขุดเจาะบริเวณฐานให้เป็นโพรงที่กว้างพอที่ผู้ใหญ่จะลอดเข้าไปได้ ซึ่งโพรงได้มีการขยายขนาดขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อรู้ถึงหูของพระญาณเวทีที่ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาสในขณะนั้นทราบ ท่านเล็งเห็นว่าหากปล่อยทิ้งไว้ต่อไป องค์เจดีย์อาจเกิดการทรุดตัวลงมาและอาจทำให้เกิดอันตรายกับคนที่เข้ามาขุดหาพระได้ จึงได้ติดต่อกรมการศาสนาและกรมศิลป์เพื่อขอทำการเปิดกรุ และทางวัดได้ทำการเปิดกรุอย่างเป็นอย่างการในวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2509
จากการเปิดกรุพระครั้งนี้ทางวัดได้ทำการขุดด้วยกัน 2 ตำแหน่ง คือ ที่บริเวณฐานเจดีย์และที่บริเวณคอระฆังของเจดีย์ ซึ่งจากการขุดทำให้ค้นพบพระบรมธาตุ พระพุทธรูป พระเครื่องพิมพ์ต่าง ๆ ที่ทำจากเนื้อดินและเนื้อชิน นอกจากนั้นภายในกรุยังมีพระเนื้อผงแบบพระสมเด็จฯ ซึ่งในพระที่ทำการค้นพบปรากฏว่ามีพระกลีบบัวที่เป็นเนื้อดินเผามากที่สุด โดยมีจำนวนที่นับคือ 75,000 องค์ และได้มีการสันนิฐานว่าพระกลีบบัวนี้น่าจะสร้าง 84,000 องค์ เท่ากับจำนวนพระธรรมขันธ์ แต่ได้ถูกขโมยไปบางส่วนช่วงก่อนทำการเปิดกรุนั่นเอง
ลักษณะของพระกลีบบัว วัดลิงขบ
พระกลีบบัว วัดลิงขบมีลักษณะคล้ายกลีบัว ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ “พระกลีบบัว” โดยขนาดของของฐานองค์พระกว้าง 1.9 เซนติเมตร สูงจากยอดองค์พระถึงฐาน 2.9 เซนติเมตรและองค์พระมีความหนา 0.5 เซนติเมตร ด้านหน้าเป็นรูปองค์พระปฏิมากรประทับนั่งขัดสมาธิเพชร พระพักตร์รูปไข่ พระโมลีเรียวยาว 2 ชั้น พระกรรณยาวจรดพระอังสา บริเวณรอบองค์พระมีเส้นรัศมีเปล่งโดยรอบมีลักษณ์เป็นเส้นนูนอยู่ที่บริเวณขอบขององค์นั่นเอง
ส่วนด้านหลังขององค์พระมีรอยนิ้วมือที่เกิดจากการกดพิมพ์ของคนสมัยก่อนที่ใช้วิธีการกดพิมพ์พระด้วยมือในการสร้างพระ นอกจากนั้นที่ด้านหลังขององค์พระยังมีตราสัญลักษณ์ช่อชัยพฤกษ์ รูปหมูและอักษร จปร. ปรากฏอยู่ด้วย และที่บริเวณด้านล่างขององค์พระจะมีรูเสียบขนาดเล็กปรากฏอยู่ เชื่อว่าเป็นรูที่เกิดจากการเสียบเพื่อดึงองค์พระออกจากพิมพ์ นับว่าเป็นจุดสังเกตที่เป็นเอกลักษณ์ของพระกลีบบัว ถึงแม้รูปแบบการทำพระกลีบบัวจะมีลักษณะที่เรียบง่าย ด้วยการกดมือและมีความหนาไม่มาก แต่ลวดลายขององค์พระที่ปรากฏขึ้นบนองค์พระกลับมีเส้นที่คมชัดและสวยงามมากทีเดียว
เนื้อหามวลสารมีลักษณะเป็นดินเนื้อละเอียด ไม่มีวัสดุอื่นเจือปน แต่พบว่าพระบางองค์มีทรายเงินทรายทองปนอยู่ในมวลสารขององค์พระด้วย พระกลีบบัวที่พบส่วนใหญ่ที่ผิวจะมีราดำจับอยู่ทั่วไป
พระกลีบบัวที่พบมีอยู่ด้วยหลายสี เช่น เหลืองนวล สีแดงอิฐ สีส้มอ่อน สีเทาดำ เนื่องจากการผลิตองค์พระในสมัยก่อนใช้การเผาด้วยถ่าน ทำให้พระแต่ละองค์โดนความร้อนที่ไม่เท่ากัน จึงทำให้พระมีสีที่ต่างกันออกไป
ประวัติการสร้างพระกลีบบัว วัดลิงขบ
ประวัติการสร้างพระกลีบบัวนั้นไม่มีการบันทึกอย่างชัดเจน แต่ได้มีการสันนิษฐานว่าพระพิมพ์กลีบบัวได้สร้างโดยพระสุเมธาจารย์ ซึ่งพระสุเมธาจารย์เป็นประธานฝ่ายสงฆ์และมีพระเถราจารย์ที่มีชื่อเสียงและมีวิชาสูงส่งในยุคนั้นเข้ามาร่วมทำการปลุกเสกพระในครั้งนั้นด้วย และได้มีการคาดเดาว่าหนึ่งในพระเถราจารย์ที่มาร่วมทำการปลุกเสกพระก็คือ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆังฯ ธนบุรี เพราะเมื่อเทียบเคียงเวลาในการจัดสร้างพระนั้น พบว่าเป็นช่วงที่เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆังฯ ธนบุรียังคงมีชีวิตอยู่ ทำให้มีความน่าจะเป็นไปได้ว่าในการปลุกเสกพระกลีบบัวได้ทำการนิมนต์เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆังฯ ธนบุรีมาร่วมทำการปลุกเสกด้วย
พระพุทธคุณของพระกลีบบัว
พระกลีบบัวเป็นที่รู้กันดีในหมู่ของผู้ที่ชื่นชอบพระเครื่องว่าเป็นพระดีที่โดดเด่นในทางเมตตามหานิยม ป้องกันอันตรายจากสัตว์ร้ายและสามารถป้องกันคุณไสย จึงเหมาะกับผู้ที่ค้าขาย เดินทางไกลหรือเดินทางในป่า เพราะสามารถป้องกันอันตรายจากสัตว์ป่าได้เป็นอย่างดีนั่นเอง จะเห็นว่าพระกลีบบัว วัดลิงขบเป็นพระเครื่องที่มีคุณค่าทั้งทางด้านประวัติศาสตร์และพระพุทธคุณที่ได้จากการปลุกเสกของพระเกจิอาจารย์ที่เต็มได้ด้วยบารมีและคุณงามความดี ดังนั้นการได้บูชาพระกลีบบัวถือว่าเป็นมงคลอย่างยิ่ง ซึ่งในปัจจุบันนี้พระกลีบบัวมีทั้งที่ราคาไม่สูงมากและราคาสูงขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ขององค์ แต่ไม่ว่าจะเป็นองค์พระแบบใด หากผู้ที่สวมใส่อยู่ในคุณธรรมความดีแล้ว พุทธคุณที่มีอยู่ย่อมคุ้มครองให้ท่านแคล้วคลาดปลอดภัยแน่นอน