ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภาคที่มีประชากรชาวไทยอยู่มากที่สุด ที่นี่เป็นแหล่งรวมอารยะธรรมของคนไทยหลายเชื้อชาติมาอยู่รวมกัน ซึ่งในปัจจุบันนี้คนหนุ่มสาวภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนใหญ่จะเดินทางมาทำงานยังนอกพื้นที่ ทำให้วันปีใหม่ตามหลักสากลที่มีวันหยุดยาวเป็นวันที่มีความสำคัญต่อคนที่อยู่ในพื้นที่เป็นอย่างมาก ซึ่งในวันปีใหม่นี้จะมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่ช่วงคริสต์มาสจนถึงวันขึ้นปีใหม่เลยทีเดียว
ความสำคัญของวันปีใหม่
วันปีใหม่ที่ตรงกับวันที่ 1 มกราคมของทุกปี ถึงแม้จะเป็นวันปีใหม่ที่ใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2484 หรือ 79 ปีที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 8 ทำให้ขนบธรรมเนียมประเพณีที่จัดขึ้นมีความเป็นสากล ตามความต้องการของจอมพล ป. พิบูลสงครามที่ต้องการให้ไทยขึ้นเป็นสากลตามอารยประเทศฝั่งตะวันตก ถึงแม้ขนบธรรมเนียมประเพณีของวันปีใหม่จะเป็นตามหลักสากล
ทว่าคนไทยก็ยังคงรักษาและผสมผสานความเป็นไทยเข้าไปในธรรมเนียมปฏิบัติได้อย่างลงตัว โดยเฉพาะชาวภาคอีสานที่มีขนบธรรมเนียมประเพณีที่สืบต่อกันมาอย่างยาวนาน นอกจากนั้นวันปีใหม่ยังถือเป็นวันสำคัญมากสำหรับคนภาคตะวันออกเฉียงเหนือในปัจจุบัน เนื่องจากช่วงปีใหม่เป็นช่วงที่มีวันหยุดยาว ทำให้คนที่ต้องเดินทางไปทำงานยังต่างบ้านต่างเมืองได้หยุดงานและเดินทางกลับมาเยือนบ้าน เป็นการสร้างความสุขให้กับผู้เฒ่าผู้แก่ ครอบครัวและญาติพี่น้องที่ต้องอยู่ห่างไกลกันได้กลับมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตา พูดคุยและทำกิจกรรมร่วมกันอย่างมีความสุข
กิจกรรมวันปีใหม่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ภาคเหนือเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชนชาติและการนับถือศาสนา ถึงแม้ว่าคนพื้นที่ส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาพุทธ แต่ก็ยังมีคนที่นับถือศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลามอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียว เมื่อถึงช่วงคริสต์มาสและปีใหม่จึงมีการจัดงานตามหลักศาสนาขึ้น ถือเป็นงานเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ที่น่าสนใจของชาวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากงานเทศกาลแล้ว กิจกรรมที่จัดขึ้นภายในครอบครัวหรือหมู่บ้านก็เป็นเอกลักษณ์ที่น่าสนใจดังนี้
1.การจัดงานและเทศกาลปีใหม่
อย่างที่รู้กันดีว่าวันปีใหม่ที่ตรงกับวันที่ 1 มกราคมของทุกปีเป็นวันปีใหม่ตามหลักสากล และที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้มีประชาชนผู้นับถือศาสนาคริสต์อาศัยอยู่ โดยเฉพาะที่จังหวัดสกลนครจึงมีการจัดงานเฉลิมฉลองตามหลักศาสนาคริสต์หรือวันคริสต์มาสที่เป็นเอกลักษณ์อย่างเทศกาลแห่ดาวคริสต์มาส ที่สร้างสีสันให้กับคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นแต่ละจังหวัดยังมีการจัดงานกาชาติและงานประจำปีที่ภายในงานจะมีการจัดกิจกรรมแสดง แสง สี เสียงและร้านค้าจำหน่ายสินค้าพื้นเมืองให้กับผู้ที่มาร่วมงานได้ร่วมสนุกกันอย่างคับคั่ง
ซึ่งบางพื้นที่ยังมีการจัดแสดงดอกไม้ พันธุ์ไม้ฤดูหนาวที่ออกดอกสะพรั่งต้อนรับลมหนาวที่มาเยือนในช่วงวันปีใหม่ และในช่วงวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ยังมีการจัดกิจกรรมเคาท์ดาวน์และการสวดมนต์ข้ามปีให้ผู้ที่สนใจได้เข้าร่วม ซึ่งการจัดงานแต่ละแห่งจะมีความยิ่งใหญ่อลังการและสวยงาม โดยเฉพาะในจังหวัดใหญ่ ๆ อย่างจังหวัดขอนแก่น จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดเลย จังหวัดสกลนคร เป็นต้น
2.การผูกข้อมือรับขวัญให้พร
สำหรับชาวตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว ครอบครัวเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก ดังนั้นการที่ลูกหลานได้กลับมาอยู่บ้านในช่วงวันหยุดปีใหม่ ถือเป็นช่วงเวลาที่พิเศษสุดสำหรับพ่อแม่ ญาติพี่น้องทุกคน ซึ่งในวันปีใหม่จะมีการจัดกิจกรรมภายในบ้านหรือหมู่บ้านเพื่อเป็นสิริมงคลและเป็นขวัญกำลังใจให้กับลูกหลานที่ต้องพลัดถิ่น เรียกว่า “การผูกข้อไม้ข้อมือเรียกขวัญ” ซึ่งถือเป็นประเพณีปฏิบัติที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน
ซึ่งการเรียกขวัญจะทำอยู่ด้วยกัน 2 ช่วงเวลา คือ เมื่อลูกหลานเดินทางมาถึงบ้านและช่วงวันปีใหม่ที่ลูกหลานเข้ามาขอพรต้อนรับปีใหม่ โดยผู้เฒ่าหรือผู้หลักผู้ใหญ่ที่นับถือจะนำสายสิญจน์มาผูกที่ข้อมือของลูกหลาน พร้อมทั้งให้ศีลให้พร ตามความเชื่อของคนภาคตะวันออกเฉียงเหนือลูกหลานที่เดินทางไปยังต่างถิ่นหรือเดินทางไกลต้องประสบพบเจอกับปัญหาและอุปสรรคมากมาย ทำให้ขวัญที่ติดตัวเกิดเตลิดหรือหายไปได้ ดังนั้นเมื่อกลับมาถึงบ้านจะต้องทำการเรียกขวัญให้มาอยู่กับตัว แล้วคนผู้นั้นก็จะมีความสุขและสติครบถ้วน
3.การทำบุญส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
การทำบุญของชาวภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเป็นลักษณะที่เด่นชัด ไม่ว่าจะมีงานหรือวันสำคัญใด ๆ สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือการทำบุญ สำหรับวันปีใหม่ก็เช่นเดียวกัน โดยการทำบุญในช่วงวันปีใหม่จะทำ 2 วัน คือ วันส่งท้ายปีเก่าซึ่งตรงกับวันที่ 31 ธันวาคมของทุกปีและต้อนรับปีใหม่ซึ่งตรงกับวันที่ 1 มกราคมของทุกปี โดยชาวบ้านจะเตรียมสำรับอาหารคาวหวานไปทำบุญกับพระสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่ที่วัดในหมู่บ้านของตน
หลังจากที่ถวายอาหารเสร็จแล้ว พระสงฆ์จะแสดงธรรมเทศนาเกี่ยวกับความสำคัญและข้อปฏิบัติที่พึงกระทำในวันปีใหม่ เพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่งการไปทำบุญที่วัดยังเป็นการพบปะระหว่างเพื่อน ญาติพี่น้องที่เดินทางกลับมาจากต่างถิ่นอีกด้วย และหลังจากที่ทำบุญถวายภัตหาร ฟังธรรมเทศนาเสร็จแล้ว ชาวบ้านจะนั่งรับประทานอาหารร่วมกันที่วัด เป็นบรรยากาศที่อบอุ่นและสนุกสนานเป็นที่สุด จะเห็นว่าขนบธรรมเนียมประเพณีวันขึ้นปีใหม่สากลของชาวภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงดำรงรักษาความเป็นตัวตนไว้อย่างชัดเจน โดยมีการรับขวัญด้วยการผูกข้อมือเรียกขวัญอยู่ไม่ขาด แต่ก็มีการผสมผสานวัฒนธรรมแบบสากลเข้ามาได้อย่างลงตัว ทำให้วันขึ้นปีใหม่ของชาวภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเสน่ห์ไม่แพ้ภาคอื่น ๆ ของไทย