ประเทศญี่ปุ่น ประเทศที่หลายคนฝันอยากจะเดินทางไปท่องเที่ยว เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เปี่ยมไปด้วยทัศนียภาพสวยงาม บรรยากาศสะพรั่งและปกคลุมไปด้วยหิมะ ดอกซากุระบาน และใบไม้เปลี่ยนสี ตลอดจนซูชิหรือข้าวปั้นอันแสนอร่อย รวมถึงโมจิหอมหวาน สิ่งที่พูดมาทั้งหมดนั้นล้วนเป็นสีสันของดินแดนอาทิตย์อุทัยแห่งนี้ที่น่าสนใจทั้งสิ้น รวมไปถึงสถาปัตยกรรมแบบโบราณที่สวยงามน่าไปเที่ยวชมต่างๆ นอกจากนี้ วัฒนธรรมและประเพณีของชาวญี่ปุ่นก็สุดแสนจะน่ารักและเย้ายวนให้ไปเที่ยวเป็นที่สุด ดังนั้น ปีใหม่นี้ หากยังไม่มีสถานที่ไปเที่ยว ประเทศญี่ปุ่นก็นับว่าน่าสนใจมากทีเดียว
ประเพณีการฉลองปีใหม่ของประเทศญี่ปุ่น
ประเทศญี่ปุ่นเป็นดินแดนที่ได้ชื่อว่ามีวัฒนธรรมและประเพณีในการฉลองปีใหม่ที่น่าสนใจอย่างมาก ซึ่งมีสิ่งที่น่าสนใจเหล่านั้นก็มีดังต่อไปนี้
การตีระฆังในช่วงวันส่งท้ายปีเก่า
วันที่ 31 ธันวาคม เป็นอีกวันสำคัญของคนญี่ปุ่น ซึ่งมีประเพณีในการส่งท้ายปีเก่าด้วยการตีระฆังที่เรียกว่าระฆัง Joya no Kane จำนวน 108 ครั้ง เพราะถือตามความเชื่อของคนญี่ปุ่น ซึ่งเชื่อว่าเป็นจำนวนครั้งเท่ากับกิเลสของมนุษย์ จึงเป็นประเพณีที่ไม่ว่าใครไปญี่ปุ่นในช่วงปีใหม่ จะต้องแวะไปตีระฆัง 108 ครั้งตามแบบที่คนญี่ปุ่นเขาทำ รวมทั้งในวันส่งท้ายปีเก่านี้ ชาวญี่ปุ่นนิยมกิน Toshikoshi-soba หรือโซบะชามใหญ่ เชื่อว่าจะทำให้เป็นคนที่มีอายุยืนยาว โดยประเพณีการกินโซบะนี้เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยเอโดะ
ทำขนมโมจิด้วยสูตรดั้งเดิมของญี่ปุ่น
ประเพณีการฉลองปีใหม่ของชาวญี่ปุ่นอีกอย่างหนึ่ง คือ การทำโมจิ หรือ โมจิทสึคิ ตามสูตรดั้งเดิมของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งโมจิสูตรดั้งเดิม โดยทำมาจากข้าวเหนียว และเป็นอีกหนึ่งอย่างที่เป็นสัญลักษณ์ ในช่วงปีใหม่ของญี่ปุ่น การทำโมจิสูตรดั้งเดิมนี้ จะมีการใช้แรงงานในการทำสูงมาก เนื่องจากใช้แรงงานคนในการนวดแป้งข้าวเหนียวเป็นหลัก ปัจจุบันโมจิในญี่ปุ่นมีการหันไปใช้เครื่องจักร ในการทำจำนวนมากแล้ว แต่เมื่อถึงช่วงเทศกาลปีใหม่การทำโมจิจะต้องทำด้วยแรงงานคนเท่านั้น จึงจะถือว่าเป็นขนมโมจิ ที่ทำมาเพื่อฉลองปีใหม่อย่างแท้จริง
ชมแสงอรุณแรกแห่งปีใหม่
ความเชื่อของชาวญี่ปุ่น การได้ไปชมแสงพระอาทิตย์ในอรุณแรกของปีใหม่ หรือ ฮัตสึฮิโนเดะ เริ่มเกิดขึ้นมาในสมัยเมจิ โดยถือว่าเป็นการรับพลังงานศักดิ์สิทธิ์ และมีพลังงานธรรมชาติสถิตอยู่ ซึ่งชาวญี่ปุ่นนิยมขึ้นไปบนภูเขา เพื่อไปชมพระอาทิตย์ในเช้าวันที่ 1 มกราคม พร้อมทั้งอธิษฐานให้ตนเองและครอบครัวมีสุขภาพแข็งแรงตลอดปี โดยเฉพาะหากขอพรในบริเวณ ที่สามารถมองเห็นแสงอาทิตย์ได้ชัดเจนและดวงใหญ่ที่สุด จะยิ่งได้รับพลังงานแห่งความโชคดีมากยิ่งขึ้น ทำให้บนยอดเขาสำคัญของญี่ปุ่น จะเต็มไปด้วยชาวญี่ปุ่นและนักท่องเที่ยว ที่ไปรอคอยแสงอรุณแรกแห่งปี
ความเชื่อเรื่องการห้ามใช้เตาไฟทำอาหารในวันปีใหม่
ความเชื่อนี้สืบทอดมาตั้งแต่ยุคเฮอัน ซึ่งสมัยนั้นจะให้ความสำคัญ กับเรื่องโชคลางมากเป็นพิเศษ และมีความเชื่อว่าการใช้เตาไฟเพื่อทำอาหาร ในช่วงสามวันแรกของวันปีใหม่ ไม่เป็นมงคลกับบ้าน ทำให้ต้องมีการเตรียมอาหารที่จะใช้ทานในช่วงปีใหม่ ไว้ล่วงหน้าก่อนที่เทศกาลปีใหม่จะมาถึง อาหารที่ทำนั้นจึงต้องเน้นสามารถเก็บไว้ได้หลายวัน เช่น อาหารประเภทเคี่ยว อาหารที่ประกอบด้วยของตากแห้ง และอาหารหมักดอง เป็นต้น ซึ่งอาหารแต่ละอย่างมีความหมายในตัวของมันเอง ได้แก่ ความหมายเกี่ยวกับอายุยืนยาว สุขภาพที่ดี มีความสมบูรณ์ และความสุขที่เกิดขึ้นในครอบครัว เป็นต้น อีกทั้งยังเชื่ออีกว่าการทานอาหารเหล่านั้น จะมีโชคลาภเกิดขึ้นกับครอบครัว
การไหว้ขอพรปีใหม่ที่ศาลเจ้า
ประเพณีการไหว้ขอพรที่ศาลเจ้าเป็นอีกประเพณีหนึ่งของชาวญี่ปุ่น จึงไม่แปลกใจว่าทำไมเมื่อไปญี่ปุ่น จะสามารถเห็นศาลเจ้าอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งวิธีการไหว้ศาลเจ้าของชาวญี่ปุ่นนั้น จะมีการก้มหัวสองรอบ ปรบมือสองรอบ ส่วนการขอพรที่วัดให้พนมมือไหว้และขอพรได้ตามปกติ โดยตามความเชื่อของชาวญี่ปุ่น การไปไว้ขอพรที่ศาลเจ้าหรือที่วัด จะนำมาซึ่งความโชคดี การงานราบรื่นดี สุขภาพกายและใจแข็งแรง
การประดับตกแต่งหน้าบ้านรับเทพเจ้าชินโต
ในช่วงเทศกาลปีใหม่ คนญี่ปุ่นจะมีการประดับหน้าบ้าน เพื่อต้อนรับการมาของเทพเจ้าชินโต ซึ่งเชื่อว่าจะมาสถิตในต้นไม้หรือพืชพรรณที่มีการทำขึ้นมา เรียกว่า Matsu-Kazari โดยทำมาจากใบสนเป็นองค์ประกอบในการประดับตกแต่ง และนำมาแขวนไว้ที่ประตูหน้าบ้าน เหตุผลที่ใช้ใบสนเพราะถึงแม้จะอากาศหนาว แต่ก็ยังมีสีเขียวอยู่ รวมทั้งมีไม่ไผ่สามปล้องมัดรวมกัน หรือที่เรียกว่า Kadomatsu ใช้เป็นสัญลักษณ์ของการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและความซื่อตรง ส่วน Shimenawa เป็นเชือกมัดที่แขวนไว้ด้วย เพื่อต้อนรับเทพเจ้าชินโตเช่นกัน
ประเพณีการดื่มเหล้าสาเกเพื่อสุขภาพ
ประเพณีการดื่มเหล้าสาเกเพื่อสุขภาพ หรือ โทโสะ เป็นประเพณีที่เกิดขึ้นทางภาคตะวันตกของญี่ปุ่น โดยจะมีการดื่มในเช้าวันขึ้นปีใหม่ พร้อมกับสมาชิกทุกคนในบ้าน ซึ่งมีการใช้จอกตื้นซ้อนกันสามใบ ในเหล้าสาเกมีส่วนผสมของสมุนไพรหลายอย่าง ทำให้เมื่อดื่มเข้าไปเชื่อว่า จะล้างโรคภัยที่ติดมาจากปีเก่าให้หายไป และเป็นการอวยพรให้มีสุขภาพดี อายุยืนยาวของคนในบ้านด้วย
โอมารินำพาความโชคดีมาให้เจ้าของ
โอมาริ เปรียบเสมือนเครื่องรางของขลัง ซึ่งสามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามศาลเจ้า หรือวัดในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งโอมาริแต่ละอย่างมีจุดประสงค์ในการใช้แตกต่างกัน เช่น ใช้เพื่อขับไล่วิญญาณชั่วร้าย ใช้เพื่อให้สมหวังในเรื่องความรักและเนื้อคู่ หรือเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเงินให้ดีขึ้น รวมทั้งขอให้คลอดลูกปลอดภัย เป็นต้น อีกทั้งโอมาริก็มีหลายแบบ เช่น แบบถุงไหมปักเล็ก ซึ่งห้ามเปิดเพราะจะทำเสื่อมสรรพคุณไม่สมหวัง หรือเป็นแบบลูกศรใช้ปราบปีศาจ นอกจากนั้นเมื่อจะเลิกใช้โอมาริแล้ว ห้ามเผาเด็ดขาด เพราะถือว่าเป็นการเผาโชคลาภ ให้นำไปหย่อนไว้ที่วัด เพื่อทำพิธีตามแบบแผนที่กำหนดเท่านั้น ประเทศญี่ปุ่นหรือดินแดนอาทิตย์อุทัยแห่งนี้ ยังมีศิลปะวัฒนธรรมอันดีงามอีกหลายอย่าง เกี่ยวกับการเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ ที่รอให้นักท่องเที่ยวไปสัมผัส และเชื่อว่าจะเป็นประสบการณ์ที่น่าประทับใจไม่รู้ลืมอย่างแน่นอน