ประเพณีปีใหม่ของประเทศลาว จะถูกเรียกว่า “กุดสงกรานต์” หรือ “บุญปีใหม่” จะถูกจัดขึ้นในช่วงของวันที่ 13 ถึงวันที่ 16 เมษายนทุกปี โดยจะถือว่าเป็นวันปีใหม่ที่แท้จริงของลาว ส่วนวันที่ 1 มกราคมจะเป็นงานขึ้นปีใหม่ตามหลักสากลปกติ และจะมีการจัดงานเฉลิมฉลองเหมือนกับทุกประเทศทั่วโลก แต่ความหมายของปีใหม่ในประเทศลาวที่มีสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน คือ ช่วงเดือนเมษายนเท่านั้น
แต่สำหรับประเทศไทยแล้วช่วงเวลานี้จะถือว่าเป็นวันสงกรานต์ ดังนั้นประเพณีนี้จึงถูกเรียกว่ากุดสงกรานต์ ซึ่งจะมีการเฉลิมฉลองเพื่อการส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่อย่างครึกครื้นภายในเมืองหลวงพระบางและตามพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศลาว โดยจะมีการทำบุญตักบาตรเหมือนกับประเทศไทยและมีพิธีทางความเชื่อของลาวอีกหลายรูปแบบที่เกิดขึ้นภายในวันนี้อีกด้วย
ความเชื่อและสิ่งที่ชาวลาวทำในวันขึ้นปีใหม่
วันขึ้นปีใหม่ของประเทศลาวจะมีความเชื่อในเรื่องของการล้างสิ่งอัปมงคลออกจากตัวไปให้หมดดังนั้นจึงจะมีการสาดน้ำและการปะแป้งที่คล้ายกับวันสงกรานต์ของไทยรวมอยู่ในพิธีการของวันปีใหม่อีกด้วย โดยวันแรกของการจัดงานจะถูกเรียกว่าวันสังขารร่วงที่ชาวลาวจะมีการปัดกวาดเช็ดถูบ้านเรือนและทำความสะอาดทุกส่วนในบ้าน เพื่อเป็นการปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกไป และมีประเพณีที่ทำสืบทอดกันมาอีกหลายรูปแบบ ดังนี้
1.ประเพณีแห่บูชาเทวดา
สำหรับประเพณีการแห่เพื่อบูชาเทวดาจะเกิดขึ้นในวันที่ 2 ของการจัดเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ โดยจะเป็นการแห่รูปหุ่นของปู่เยอ ย่าเยอ และรูปหุ่นของสิงห์แก้วกับสิงห์คำที่ถูกเชิดชูให้เป็นเทวดาแห่งหลวงพระบางที่มีผู้คนนับถือกันเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงมีขบวนแห่ที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่และมีบรรดาหัวหน้าหมู่บ้าน, คณะสงฆ์ และนางสังขารออกมาร่วมเดินขบวน มีการขี่สัตว์พาหนะต่าง ๆ พร้อมการฟ้อนรำเพื่ออวยพรผู้คน ซึ่งเป็นหนึ่งในประเพณีที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์และให้ความสวยงามอย่างมาก
2.ประเพณีการตักบาตรพูสี
ประเพณีการตักบาตรพูสีเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์สำคัญของวันขึ้นปีใหม่ในประเทศลาว เพราะจะมีการหุงข้าวเหนียวและทำขนมลูกกวาดขึ้นในทุกครอบครัว จากนั้นชาวลาวจะพากันไปสู่ภูเขาสูงแห่งเมืองหลวงพระบาง แล้วนำข้าวเหนียวกับขนมหวานหรือลูกกวาดวางไว้บนหัวเสาบันไดขององค์พระธาตุและจะมีการโยนลงป่าข้างทาง เพราะมีความเชื่อว่าจะเป็นการให้ทานและในช่วงยามบ่ายจะมีขบวนแห่ที่ยิ่งใหญ่อีกครั้ง จากนั้นจะมีการอัญเชิญท้าวกบิลพรหมของวัดเชียงทอง เพื่อการสรงน้ำที่วัดวิชุนต่อไป
3.ประเพณีสรงน้ำพระ
การสรงน้ำพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของหลวงพระบาง จะเกิดขึ้นในวันที่ 4 ของงานเฉลิมฉลองบุญปีใหม่ โดยตามปกติแล้ว พระพุทธรูปจะประดิษฐานอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์ของพระราชวัง แต่ภายใน 1 ปี เมื่อมีเทศกาลปีใหม่ของชาวลาวจะมีการอัญเชิญเพื่อนำออกมาแห่และให้ชาวเมืองได้สรงน้ำ ขอพร โดยจะทำการแห่ถึง 3 วัน 3 คืนแล้วจะมีการอัญเชิญกลับสู่พิพิธภัณฑ์ของพระราชวังเช่นเดิม
4.ประเพณีรดน้ำดำหัว
วันบุญปีใหม่ของประเทศลาวจะมีพิธีสำคัญภายในครอบครัว คือ การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ภายในบ้าน รวมไปถึงการสรงน้ำพระพุทธรูปและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ภายในบ้านและสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง เพื่อเป็นการเตรียมรับความเป็นสิริมงคลและความโชคดีเข้าสู่ครอบครัว โดยน้ำที่ใช้ในการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่กับการสรงน้ำพระจะเลือกเป็นน้ำผสมน้ำอบหรือน้ำหอม ดอกไม้ จากนั้นจะมีการใช้ดอกไม้สดหลากสีสันมาลอยบนน้ำ เพื่อทำให้เกิดความเป็นมงคลและสร้างความสดชื่นมากขึ้น
5.ประเพณีขนทรายเข้าวัด
สำหรับประเพณีการขนทรายเข้าวัด เป็นอีกหนึ่งประเพณีสำคัญที่ชาวลาวจะต้องทำในวันขึ้นปีใหม่ทุกครั้ง โดยจะมีการก่อเจดีย์ทรายภายในวัดที่ได้การนับถือว่าจะเป็นวัดเก่าแก่ พร้อมการตกแต่งด้วยดอกไม้และธง เพื่อให้เกิดความสวยงาม ซึ่งเป็นการสืบทอดประเพณีสำคัญมาจากความเชื่อที่ว่าเจดีย์ทรายจะเปรียบเสมือนเขาไกรลาส สถานที่ประดิษฐานศีรษะของท้าวกบิลพรหม ดังนั้นถ้าใครที่ได้ทำเจดีย์ทรายถวายวัดจะก่อให้เกิดความเป็นมงคลแก่ชีวิต ครอบครัวมีความสุขและมีความรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก
6.ประเพณีประกวดนางสังขาร
ประเพณีการประกวดนางสังขารหรือนางสงกรานต์ของชาวลาว จะถูกจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ในวันปีใหม่และจะมีทั้งขบวนแห่กับการจัดพิธีกรรมต่าง ๆ รวมไปถึงงานประกวดสำคัญที่คนภายในประเทศจะร่วมแรงร่วมใจกันจัดงานอย่างเต็มที่ ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งจุดสนใจของนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นอย่างมาก เพราะจะเปรียบเสมือนการประชันความงามของผู้หญิงชาวลาวเป็นจำนวนมากที่มาเข้าประกวด ที่สำคัญคือผู้ที่ได้เป็นนางสังขารจะได้รับเกียรติจากคนลาวด้วยกันเป็นอย่างมาก เพราะนางสังขารจะเปรียบเสมือนธิดาทั้ง 7 ของท้าวกบิลพรหมเลยทีเดียว
ข้อห้ามและสิ่งที่ไม่ควรทำในวันส่งท้ายปีเก่าชาวลาว
วันขึ้นปีใหม่ของประเทศลาวถือว่าเป็นวันที่มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของคนภายในประเทศเป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงต้องมีการปฏิบัติตนที่ดีและทำตามประเพณีอย่างเคร่งครัด เพราะเป็นความเชื่อที่ทำต่อเนื่องกันมาเป็นระยะเวลายาวนาน นอกจากนี้ยังมีข้อห้ามต่าง ๆ ในวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของชาวลาว เพื่อให้ชีวิตมีแต่ความเป็นสิริมงคลและไม่พบเจออุปสรรคใด ๆ ดังต่อไปนี้
1.ห้ามมีเพศสัมพันธ์
หนึ่งในข้อห้ามสำคัญของวันบุญปีใหม่ประเทศลาว คือ การห้ามมีเพศสัมพันธ์กันในวันสำคัญนี้เด็ดขาด โดยเฉพาะช่วงเวลาของการจัดงานเฉลิมฉลองตลอด 4-5 วันนั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายจะต้องมีความสะอาดทั้งจิตใจและร่างกาย ซึ่งถ้าเกิดมีเพศสัมพันธ์กันในวันนี้จะถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ไม่ดีและอาจจะพาให้ชีวิตต้องเจออุปสรรคไปตลอดทั้งปีอีกด้วย
2.ห้ามทำเรื่องเสียหายหรือถูกตำรวจจับ
วันบุญปีใหม่ วันพระ และวันสำคัญต่าง ๆ ของประเทศลาว ห้ามทำเรื่องเสียหายใด ๆ ที่เป็นการลักขโมย การโจรกรรม หรือการฆ่าคน รวมไปถึงเรื่องราวต่าง ๆ ที่ทำให้ถูกตำรวจดับเด็ดขาด เพราะจะถือว่าปีนั้นซวยไปทั้งปีแน่นอนและอาจจะพาให้ญาติพี่น้องหรือคนในครอบครัวใช้ชีวิตอย่างมีอุปสรรคมากขึ้น
3.ห้ามสกปรก
วันแรกของการทำบุญปีใหม่ ชาวลาวจะมีการทำความสะอาดบ้านเรือนและสถานที่ต่าง ๆ ให้สะอาดหมดจด เมื่อถึงเวลาช่วงของการเฉลิมฉลองปีใหม่จะห้ามทำสกปรกภายในบ้านเรือนและวัดวาอารามเด็ดขาด ไม่ควรทิ้งขยะเกลื่อนกลาดและก่อนเข้าบ้านทุกครั้งจะต้องมีการล้างเท้า เช็ดทำความสะอาดเสมอ เพื่อเป็นการเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาในชีวิต ซึ่งถ้ามีสิ่งสกปรกใดเกิดขึ้นจะถือว่าเป็นอุปสรรคที่อาจจะทำให้ชีวิตในปีต่อไปเกิดปัญหาและความโชคดีจะเข้ามาน้อยอีกด้วย
4.ห้ามพกพาอาวุธในงานบุญ
การพกพาอาวุธนั้นถูกห้าม เพราะต้องการให้เกิดความสงบและความปลอดภัย ซึ่งในขณะเดียวกันประเพณีปีใหม่ของชาวลาวจะห้ามการพกพาอาวุธและการทำร้ายร่างกายกันในงานบุญเด็ดขาด เพราะถือว่าเป็นการทำบาปและอาวุธทุกชนิดถือว่าเป็นความสกปรกที่จะเข้ามาขัดขวางความสำเร็จในชีวิตได้
วันปีใหม่หรือบุญปีใหม่ของประเทศลาวจะมีการสืบทอดประเพณีที่ดีงาม เน้นเป็นการทำให้ทั้งจิตใจและร่างกายมีความสะอาด รวมไปถึงบ้านเรือนและสถานที่ต่าง ๆ จะถูกซ่อมแซมและเก็บกวาดจนเรียบร้อย เพื่อเป็นการต้อนรับสิ่งดี ๆ เข้ามาในวันปีใหม่ ทั้งยังเป็นการช่วยเพิ่มความสามัคคีและทำให้เกิดความสนุกจากพิธีสาดน้ำ การประกวดนางสังขาร และการเฉลิมฉลองไปทั่วทุกพื้นที่ จึงทำให้เกิดความผ่อนคลายในชีวิตมากขึ้น