ตำนาน นกการเวก
นกการเวก หรือ ปักษาวายุภักษ์ (แปลว่า นกกินลม) เป็นนกในเทพปกรณัมปรากฏในป่าหิมพานต์ ในไตรภูมิพระร่วงว่า นกกรวิค ซึ่งอธิบายว่า บินได้สูงเหนือเมฆ มีเสียงไพเราะเป็นอย่างยิ่ง สัตว์ทั้งหลาย มนุษย์รวมทั้งทวยเทพเมื่อได้ยินเสียงแล้วจะต้องหยุดชะงักไปชั่วครู่ด้วยความจับใจในเสียงร้องนั้น และยังได้กล่าวไว้อีกว่า ขนนกการเวกนั้นเป็นที่ต้องการเป็นอย่างมากเพราะสามารถกลายเป็นทองคำได้
นกการเวกเป็นนกที่มีขนสวยงาม ขนนกการเวกเป็นของวิเศษ ผู้ที่ต้องการขนของนกการเวกจะต้องทำร้านไว้บนยอดไม้ เอาขันสำริดใส่น้ำไปวางไว้ นกการเวกจะมาอาบน้ำในขันนั้นแล้วสลัดขนไว้ให้ ขนนั้นเก็บไว้ก็จะกลายเป็นทองคำ
ในคัมภีร์ปัญจสุทนีกล่าวว่า นกการเวกกินมะม่วงสุกชนิดที่มีรสหวานเป็นอาหาร โดยใช้จะงอยปากเจาะจิบน้ำให้ไหลออกมา เพราะเหตุที่นกชนิดนี้เป็นสิ่งหายาก ไม่ได้เห็นกันง่าย ๆ จึงหลงเข้าใจกันว่าอยู่บนท้องฟ้ากินลมเป็นอาหาร
นกการเวกแบบเอเชียตะวันออก
ประเทศที่ตั้งอยู่ในบริเวณเอเชียตะวันออก เช่น จีน หรือ ญี่ปุ่น ก็มีความเชื่อเรื่องนกลักษณะเช่นนี้เหมือนกัน ซึ่งนกการเวกตามความเชื่อของพวกเขาเป็นสัตว์ที่มีชีวิตอมตะไม่มีวันตาย ปรากฏในตำนานที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา มีศีรษะเหมือนอย่างมนุษย์ แต่มีลำตัว ปีก และขนหางเป็นนก ซึ่งจากที่กล่าวมานั้นคล้ายกับลักษณะของกินนรหรือกินรี
ตำนาน ปักษาวายุภักษ์
ปักษาวายุภักษ์ เป็นนกที่มีชื่อปรากฏในวรรณคดีรามเกียรติ์เป็นอสูรวายุภักษ์ มีลักษณะรูปร่างโงเป็นนกอินทรี ตัวและหน้าเป็นยักษ์ มีปีก มีหาง มีเท้าเหมือนกับครุฑ หางมีแววเหมือนนกยูง ในเรื่องรามเกียรติ์ยังได้กล่าวประวัติไว้ว่า วายุภักษ์นั้นมีพ่อเป็นอสูรที่ครองกรุงวิเชียรตั้งอยู่ที่เชิงเขาจักรวาลเป็นยักษ์ที่มีอิทธิฤทธิ์มาก มีนิสัยเที่ยวข่มเหงรังแกเทวดาและฤาษีชีไพรอยู่เสมอ ครั้นเมื่อพระรามและพระลักษมณ์ออกเดินดงครั้งที่สอง อสูรวายุภักษ์บินผ่านมาพบเข้าจึงได้โฉบลงมาจับเอาพระรามและพระลักษณ์เพื่อจะนำไปกินเป็นอาหาร หนุมานทหารเอก สุครีพ และไพร่พลลิงทั้งหลายจึงรีบตามไปช่วย และได้เข้าต่อสู้กับอสูรวายุภักษ์ในที่สุดก็สามารถช่วยพระรามและพระลักษมณ์ออกมาได้ ส่วนอสูรวายุภักษ์นั้นได้ถูกองคตและนิลพัทฆ่าตาย
ตำนาน คดไข่นกการเวก
คดไข่นกการเวกนั้นเกิดขึ้นจากการที่นกการเวกคาบไข่แล้วเกิดพลัดตกหล่นลงมาจากเขาไกรลาสซึ่งเป็นเมืองกึ่งกลางระหว่างสวรรค์กับมนุษยโลก เมื่อตกลงมายังโลกมนุษย์แล้วไข่นั้นได้กลายเป็นหิน มีลักษณะยาววงรี หากเรามองด้านข้างของคดไข่หินนี้จะมองเห็นเป็นรูปตัวนกนอนขดตัวอยู่ทั้งสองด้าน เชื่อว่าเป็นของดีที่วิเศษยิ่งนัก หายากยิ่งมีได้เฉพาะผู้มีบุญเท่านั้น
อานุภาพของนกการเวกนั้นตามตำนานกล่าวไว้ว่า นกการเวกเป็นนกแห่งสวรรค์ มีเสียงร้องไพเราะจับใจยิ่งนัก เทวดา นางฟ้า เหล่านักสิทธิ์วิทยาธร คนธรรพ์ และบรรดาสัตว์ในป่าหิมพานต์ เมื่อได้ยินเสียงร้องของนกการเวกนั้นก็จะตกอยู่ในภวังค์เคลิบเคลิ้มดั่งต้องมนต์สะกด แม้แต่พระฤาษีชีไพรที่เข้าญาณสมาบัติอยู่ก็ต้องลืมตาขึ้นมามองหาและฟังเสียงของนกการเวกนั้น
คดไข่นกการเวกนั้นจึงเป็นสิ่งที่มีอิทธิคุณเลิศล้ำทางด้านมหาละลวย มหาจังงัง มหาเมตตา มหาเสน่ห์ ดึงดูดโชคลาภ ส่งเสริมความเจริญรุ่งเรือง สามารถป้องกันภัยอันตรายต่าง ๆ ได้เป็นของกายสิทธิ์มีฤทธิ์ในตน แต่เป็นสิ่งที่หาได้ยากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทรเสียอีก
ข้อมูลเฉพาะของนกการเวก
- เรียกอีกอย่างว่า ปักษาวายุภักษ์ แปลว่านกมีลมเป็นอาหาร (นกกินลม) ที่เชื่ออย่างนั้นเพราะเป็นนกที่ใคร ๆ ไม่สามารถเห็นได้ง่าย ๆ จึงคิดว่าบินอยู่เหนือเมฆเท่านั้น เวลาจับก็จับก้อนเมฆ และกินลมเป็นอาหาร
- เป็นนกที่อยู่ในป่าหิมพานต์ (ป่าหิมพานต์อยู่ที่ไหนมนุษย์ยังไม่รู้เลย แล้วจะเห็นนกได้อย่างไร
- เป็นนกที่มีเสียงไพเราะเป็นอย่างมาก ใครได้ยินต้องหยุดในสิ่งที่ตนเองทำเพื่อฟังเสียงนกนั้น
- ในคัมภีร์ปัญจสุทนีอธิบายว่า อาหารของนกนกการเวกนั้นได้แก่น้ำมะม่วงสุก
- ในในไตรภูมิพระร่วงว่ากล่าวว่า ขนนกการเวกนั้นเป็นที่ต้องการเป็นอย่างมากเพราะสามารถกลายเป็นทองคำได้
- ในพระบาลีกล่าวว่า พระสุรเสียงของพระพุทธเจ้านั้นเหมือนเสียงพรหม มีความแจ่มใสชัดเจน อ่อนหวาน สำเนียงเสนาะ ไม่แตก ลึกซึ้ง มีกังวาลไพเราะและเหมือนเสียงนกการเวก
- นกการเวกถ้าอยู่ลำพังตัวเดียวจะไม่ร้อง ต่อเมื่อเห็นพวกพ้องจึงจะส่งเสียงร้องที่ไพเราะ
- นกการเวกเป็นพาหนะของนางมณีเมฆขลา ซึ่งนางฟ้าที่ทำหน้าที่ดูแลรักษาท้องทะเลและมหาสมุทร
- ในวรรณคดีไทยบางเรื่อง อาจจะเรียก นกการเวก ว่า นกการวิก เช่น “การวิกระวังวนกุณาล” ใน สมุทรโฆษคำฉันท์ หรือในไตรภูมิพระร่วงก็เรียกว่า นกกรวิก
- นกการเวก หรือ ปักษาวายุภักษ์ ถูกใช้เป็นตราสัญลักษณ์ของกระทรวงการคลังของไทย โดยใช้มาตั้งแต่รัชสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา
คาถานกการเวก เป็นเลิศทางมหาเสน่ห์ พูดจาคนรักคนหลงงงงวย
รวมคาถา นกสาริกา ใช้ได้กับนกสาริกาทุกสำนัก แม้ไม่มีนกสาริกาก็ใช้ได้