นางกวักไม้โพธิ์แกะ หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว นครปฐม
นางกวัก หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว จังหวัดนครปฐม ตำรากล่าวว่าแกะจากไม้โพธิ์ อันว่าไม้โพธิ์นั้นเป็นต้นไม้ชนิดเดียวกับต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พระโพธิสัตว์ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในคืนวันเพ็ญเดือนหกเมื่อสองพันหกร้อยกว่าปีมาแล้ว แม้ไม่ได้นำมาจากประเทศโดยตรงแต่เราก็ถือว่าเป็นไม้มงคลตระกูลเดียวกัน ปกติไม้โพธิ์ถือว่าเป็นต้นไม้ใหญ่ มีศักดิ์ใหญ่มักจะมีรุกขเทวดาหรือนางไม้สิงสถิตอยู่ ครูบาอาจารย์สมัยเก่าก่อนจะไม่โค่นหรือตัดง่าย ๆ ยกเว้นแต่กิ่งก้านโพธิ์นั้นเบียดพระวิหารหรือองค์พระเจดีย์ เมื่อตัดแล้วท่านก็มักจะนำมาแกะเป็นพระพุทธรูป หรือวัตถุมงคลอื่น ๆ หากแกะเป็นพระพุทธรูปแกะเป็นพุทธบูชา สืบต่ออายุพระพุทธศาสนา หากแกะเป็นเทวดา นางไม้ แม่นางกวัก ก็ถือว่าเป็นการแสดงความนับถือหรือเป็นเครื่องระลึกถึงเทวดาผู้สิงสถิตย์อยู่ที่ต้นโพธิ์นั้น ๆ
เมื่อถึงเวลาอันสมควรต้นโพธิ์จะทำการยืนต้นตาย หากภาษาชาวบ้านก็จะเรียกอาการอย่างนี้กับต้นไม้ทั่วไปว่าตายพราย แต่หากเป็นต้นโพธิ์ครูอาจารย์จะถวายความเคารพด้วยการใช้คำว่าต้นโพธิ์นิพพาน กล่าวกันว่าเมื่อเทวดาที่สถิตย์อยู่ในต้นโพธิ์ได้จุติไปที่อื่นแล้ว ต้นโพธิ์อันเป็นวิมานคู่บารมีนั้นไม่อาจจะทรงอยู่ได้จึงแห้งยืนต้นตายไปโดยไม่ทราบสาเหตุ พระเกจิอาจารย์สมัยเก่าก่อน นิยมไม้โพธิ์นิพพานนี้ซึ่งถือว่าเป็นไม้มงคลชั้นสูง ได้รับบารมีฉัพพรรณรังสีจากพระพุทธเจ้าในคืนวันตรัสรู้ อีกทั้งยังได้รับพลังทิพย์จากเทพยดาผู้มีศักดิ์ใหญ่ มีอำนาจมากด้วย พระเกจิทั้งหลายจึงนิยมนำไม้โพธิ์นิพพานนั้นมาแกะเป็นพระพุทธรูปบ้าง รูปเหมือนท่านบ้าง รูปเทวดา นางไม้ นางกวักบ้าง (แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่นิยมไม้โพธิ์มาทำและไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่งคือปลัดขิก) จากนั้นท่านก็จะทำการอธิษฐานจิตปลุกเสกฝากไว้ในพระพุทธศาสนา หากเป็นพระพุทธรูปท่านอาจจะบูชาเองบ้าง ไว้ในโบสถ์ วิหาร หรือในถ้ำเพื่อเป็นพุทธบูชา หากเป็นรูปเหมือนของท่าน หรือรูปเทวดานางไม้ นางกวักท่านก็จะมอบให้กับศิษย์เพื่อเป็นระลึกนึกถึงและเพื่อความเป็นสิริมงคลโชคลาภเป็นต้น
นางกวักไม้โพธิ์แกะ หลวงปู่บุญก็เช่นกัน กล่าวกันว่าแกะจากไม้โพธิ์นิพพาน ท่านทำและมอบไว้ให้กับสาธุชนทั้งหลายให้ได้นำไปใช้บูชาหรือพกติดตัว ส่งเสริมการทำมาหากิน
พุทธคุณนางกวัก
อันที่จริงควรใช้คำว่าอิทธิคุณนะครับ แต่คนรู้ความหมายด้วยคำว่า พุทธคุณ ผมจึงใช้ตาม ในที่นี้หมายถึงอานุภาพแห่งการบูชานางกวัก การที่พระเกจิเก่าก่อนทำนางกวักขึ้นมาเพื่อส่งเสริมในการทำมาหากินโดยเฉพาะการค้าขาย เรียกคนเข้าร้าน เรียกลูกค้ามาอุดหนุนไม่ขาดสาย
นางกวัก แต่โบราณมาทำเป็นหญิงสาวสวยรูปร่างหน้าตาดี มีสง่าราศี นั่งกวัก หรือทำกิริยาอาการดุจเรียกคนเข้ามา เป็นรูปเคารพหรือเครื่องรางเชิงสัญลักษณ์อย่างหนึ่ง มือข้างหนึ่งกวักเรียก อีกมือข้างหนึ่งถือถุงเงิน สื่อความหมายให้เห็นว่าสิ่งมีลักษณะเหมือนกันย่อมดึงดูดสิ่งที่เหมือนกันเข้ามา นางมีถุงเงินอยู่แล้วย่อมกวักเรียกหรือดึงดูดเงินเข้ามาเพิ่มแบบไม่ขาดสาย เงินมาจากไหน ก็มาจากการทำงาน มาจากลูกค้า แม้จะเป็นเงินที่ได้จากการทำงาน หรือจากลูกค้า แต่การที่ได้บูชานางกวักทำให้อะไรก็ไหลรื่น เงินก็มาง่าย ไม่ขาดใช้ นางกวักจึงเป็นที่มาของโชคลาภเงินทองฉะนี้แล