เป็นที่กล่าวขานกันมานานว่า หากใครมีพระเครื่อง เครื่องรางของหลวงพ่อเนียม วัดน้อย อ.บางปลาม้า สุพรรณบุรี จะไม่ตายโหง (คำพูดโบราณ) เลือดไม่ตกยางไม่ออก แมลงวันไม่ได้กินเลือด เพราะเครื่อง เครื่องรางของหลวงพ่อเนียมนั้นจะโดดเด่นด้านคงกระพันชาตรียิ่งนัก
วันนี้ผมค้นเจอภาพเก่าที่เจ้าของเดิมถ่ายภาพไว้ เป็นภาพพระงบน้ำอ้อย หลวงพ่อเนียม วัดน้อย อ.บางปลาม้า สุพรรณบุรี ส่วนพระองค์นั้นได้ถูกส่งไปที่ฮ่องกงนานแล้ว พระงบน้ำอ้อย เนื้อตะกั่ว เป็นอีกพระเครื่องพิมพ์ที่เป็นที่รู้จักกันว่า หากเป็นพระงบน้ำอ้อย เนื้อตะกั่ว ต้อง พระงบน้ำอ้อย หลวงพ่อเนียม วัดน้อย อ.บางปลาม้า สุพรรณบุรี
ประวัติหลวงพ่อเนียมโดยย่อ
หลวงพ่อเนียม เกิดเมื่อ พ.ศ. 2374 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 ท่านใช้ชีวิตคลุกคลีอยู่กับวัดตั้งแต่เยาว์วัยเพื่อศึกษาเล่าเรียนอักขรสมัยซึ่งมีทั้งอักษรขอมและภาษาบาลี เมื่อท่านอายุครบบวชก็ได้ทำการอุปสมบทในพระพุทธศาสนา แต่นั้นท่านก็มีความตั้งใจในการศึกษาพระธรรมวินัยและคัมภีร์มูลกัจจายน์ในจังหวัดพระนครหรือธนบุรี ในขณะเดียวกันท่านก็ได้มีความสนใจในด้านกรรมฐานและคาถาอาคมต่าง ๆ บางท่านเชื่อว่าท่านอาจจะได้เคยศึกษาหรือเป็นศิษย์ของสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสีอีกด้วย
วิธีการสร้างพระเครื่องของหลวงพ่อเนียม
สำหรับพระงบน้ำอ้อยของหลวงพ่อเนียมนั้นท่านจะสร้างด้วยตะกั่วผสมปรอท ซึ่งเป็นปรอทที่ได้จากธรรมชาติ ซึ่งการได้มาของปรอทนั้นอาจจะไม่ยากเท่ากับการทำให้ปรอทแข็งตัว ซึ่งต้องเป็นผู้ที่มีความชำนาญลองผิดลองถูกและต้องใช้คาถาอาคมส่วนผสมของว่านโลหะที่ลงตัวอีกด้วย ท่านจะทำในฤดูฝน เพราะต้องใช้ใบแตงหนูซึ่งจะขึ้นเฉพาะในหน้าฝนเท่านั้น นอกจากนั้นยังต้องใช้ใบสลอดและข้าวสุกเป็นส่วนผสมที่สำคัญอีกด้วย
หลวงพ่อเนียมท่านจะนำของสามอย่างนั้น ได้แก่ ใบแตงหนู ใบสลอด ข้าวสุกนำมาโขลกปนกันเพื่อเป็นการไล่ขี้ปรอทออกให้หมดเสียก่อน ซึ่งจะทำให้ได้ปรอทที่ขาวที่สุด ท่านจะโขลกและกวนอยู่อย่างนั้นถึง 7 วันจึงจะลงตัว เมื่อครบ 7 วันแล้ว ก็นำส่วนผสมนั้นไปตากแดด แล้วจึงนำมากวนต่อจนเข้ากันดี เสร็จแล้วท่านจะนำมาแยกชั่งเป็นส่วน ส่วนละหนึ่งบาท จากนั้นท่านจะนำไปใส่ครกหิน เติมผงกำมะถัน และจุนสีโขลกให้เข้ากันอีก ซึ่งท่านจะต้องทำในช่วงกลางคืน ทำอยู่อย่างนั้นถึง 3 คืน จากนั้นจึงนำปรอทใส่ลงไปในกระปุกเหล้าเกาเหลียง ผสมเข้ากับตะกั่วเอาเข้าไปสุมอยู่ถึง 7 วัน ซึ่งจะสุมไฟเฉพาะตอนกลางวัน ส่วนในเวลากลางคืนท่านจะทำพิธีปลุกเสกด้วยคาถาอาคม เมื่อทำครบ 7 ไฟ จึงนำมาเทลงแม่พิมพ์จึงได้พระงบน้ำอ้อยหรือพระเครื่องตามที่ท่านต้องการ
ที่กล่าวมาจะเห็นว่าเป็นการสร้างพระที่ละเอียดทุกขั้นตอน ตั้งแต่การผสมปรอท ต้องใช้เวลาหลายวันหลายคืน ซึ่งจะต้องสวดคาถากำกับด้วย แต่นั้นจึงนำมาเทเป็นพระเครื่องและยังต้องทำการปลุกเสกอีกครั้ง
พุทธคุณพระงบน้ำอ้อย หลวงพ่อเนียม
อย่างที่ได้กล่าวมาข้างต้น พุทธคุณของพระงบน้ำอ้อย หลวงพ่อเนียมนั้นจะเด่นทางด้านคงกระพันชาตรี แคล้วคลาดปลอดภัย คุ้มกันภัยได้สารพัด ทั้งกันพิษยาสั่ง กันพิษไข้ป่า และเมตตามหานิยมอีกด้วย ซึ่งพระงบน้ำอ้อยของหลวงพ่อเนียมนั้น เป็นที่แสวงหากันเป็นอย่างมากสำหรับผู้นิยมพระเครื่องในด้านคงกระพันชาตรี