ในหนังสือมิลินทปัญหา ซึ่งเป็นปกรณ์พิเศษในพระพุทธศาสนา พระนาคเสนได้ตอบปัญหาแก่พระเจ้ามิลินทร์ โดยได้เปรียบผู้ประกอบด้วยองค์สมบัติ 5 ประการ ซึ่งเปรียบเทียบกับองค์คุณแห่งเต่า 5 ประการ ไว้ดังนี้
องค์แห่งเต่า 5
- เต่านั้นเที่ยวไปในในน้ำ และอาศัยอยู่ในน้ำ
- เต่าจมอยู่ในน้ำ จะโผล่หัวขึ้นมา เห็นอะไรเข้าก็กลับจมลงไปเพื่อไม่ให้ใครเห็น
- ครั้นขึ้นมาจากน้ำแล้วไม่เห็นอะไรก็ตากกายอยู่ที่ฝั่งหรือชายหาด
- เต่าย่อมขุดแผ่นดินแล้วลงมุดซ่อนอยู่ในที่อันสงัดเย็นกายเย็นใจ
- เมื่อคลานไป เมื่อเห็นมนุษย์และสัตว์อื่น ๆ หรือแม้ได้ยินเสียงอย่างใด ๆ เข้า ก็จะหดอวัยวะทั้ง 5 คือ เท้า 4 ศีรษะ 1 แล้วเข้าไปในกระดองของตน คอยระวังภัยนิ่งอยู่
เรื่องคุณสมบัติหรือนิสัยเต่านี้ ผมเห็นด้วยตามที่กล่าวข้างบน เช่น ถ้าเราจะปล่อยก็นึกถึงสระน้ำที่อยู่ในวัด เพราะธรรมชาติเต่าอยู่ในน้ำ แต่ก็มีเต่าบางประเภทที่อยุ่บนบก ผมเคยเดินผ่านสระที่อยู่ในวัด ถ้าเต่าตัวใหญ่จะโผล่ขึ้นมาเฉพาะหัว ถ้าเราส่งเสียงดังหรือชี้มือไปที่ตัวเต่ามันก็จะมุดหัวลงไปอีก ไม่ให้เห็นตัว แต่ถ้าไม่มีคนอยู่เต่าก็จะมาที่ริมฝั่งน้ำ เพื่อผิงแดด บางตัวก็อาศัยหินบ้าง อาศัยขอนไม้บ้าง เพื่องอยตัวตากแดดตากลม บางตัวก็ขุดหลุมอยู่เพื่อที่จะหลีกเร้นจากเต่าตัวอื่น ๆ หรือเพื่อหลบภัย เวลาเราเห็นเต่าคลานตามท้องถนน สนามญ้า ถ้าเราเข้าใกล้หรือใช้ไม้เขี่ยเต่าก็จะหดตัวเข้ากระดองไป
เปรียบบุคคลผู้ประกอบด้วยองค์สมบัติ 5 ประการ
- แผ่เมตตาจิตอันเยือกเย็น ตั้งใจให้เป็นประโยชน์แก่สัตว์ทั่วโลกทุกถ้วนหน้า มิได้พยาบาทอาฆาตจองเวร ดำรงมั่นอยู่ในพรหมวิหาร
- เมื่อเกิดกิเลสเกิดขึ้น ก็พึงข่มให้จมลงในอารมณ์ดังกระแสน้ำ ยึดอารมณ์ไว้ให้มั่น ไม่ให้สรรพกิเลสถลำเข้ามาท่วมทับได้
- นำจิตออกจากอิริยาบถนั่งนอนเดิน แล้วจึงกราดไว้ในสัมมัปปธาน
- สลัดลาภสักการะและคำสรรเสริญ แล้วพึงเข้าอยู่ในที่อันสงัด
- เมื่อทวาร 5 ตกไปในกามรมณ์ อันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดยินดี ก็ปิดบานประตู คืออินทรีย์สังร แล้วสกดใจให้มีสังวรเป็นผู้มีทั้งสติทั้งสัมชัญญะ นั่งรักษาสมณธรรม
คนโบราณท่านมีปัญญามาก เห็นอะไรก็นำมาพิจารณา นำมาเปรียบเทียบกับตนเอง เพื่อสอนตนเอง หรือไว้สอนลูกหลาน ถือว่าเป็นการเปรียบเทียบเพื่อให้คนอื่นเข้าใจได้ง่ายขึ้น