ครั้งหนึ่ง ภิกษุภู่ออกจาริกจอดเรืออยู่ ได้มีชาวบ้านนำสิ่งของมาถวายทาน แต่ว่าเขากล่าวคำถวายไม่เป็น คือไม่รู้จะพูดว่าอย่างไร ภิกษุภู่จึงกล่าวนำชาวบ้าน ให้ว่าคำถวายทานเป็นกลอนตามสิ่งของที่จะถวาย ดังนี้
อิมัสมิง ริมฝั่ง อิมัง ปลาร้า
กุ้งแห้งแตงกวา อีกปลาดุกย่าง
ช่อมะกอกดอกมะปราง เนื้อย่างยำมะดัน
ข้าวสุกสองขัน น้ำมันขวดหนึ่ง
น้ำผึ่งครึ่งโถ ส้มโอแช่อิ่ม
ทับทิมสองผล เป็นกุศล สังฆัสสะ เทมิ
จากคำถวายทานของสุนทรภู่นี้ จะเห็นว่าสุนทรภู่เองรู้เรื่องหลักไวยากรณ์ รู้ความหมายของภาษาบาลี และวิธีใช้ภาษาบาลี
อิมัสมิง (อิมะ ศัพท์) แปลว่า นี้ เป็นสรรพนาม บ่งบอกถึงสถานนี้ ซึ่งสถานที่ในที่นี้ก็คือ ริมฝั่ง หากแปลไทยและบาลีเข้าด้วยกันก็จะได้ความหมายว่า ที่ริมฝั่งนี้
อิมัง ก็จาก อิมะ ศัพท์เช่นกัน เป็นสรรพนาม แปลว่า นี้ ขยายสิ่งของที่จะถวาย หรือสิ่งที่ถูกกระทำ ซึ่งในคำถวายนี้ หากแปลไทยและบาลีเข้าด้วยกัน ก็จะได้ ปลาร้า……ทับทิมสองผล นี้ (หากจะให้ถูกจริง ๆ ต้องใช้คำว่า อิมานิ ซึ่งแปลว่าเหล่านี้ เนื่องจากถวายของหลายอย่าง)
จากนั้น เป็นคำระบุสิ่งของที่จะถวาย มีตั้งแต่ ปลาร้า……จนถึง…..ทับทิมสองผล ตามด้วยคำอธิษฐาน หรือคำสรุป ด้วยคำว่า เป็นกุศล
สังฆัสสะ แปลว่า แก่สงฆ์ หมายถึงผู้รับ
เทมิ แปลว่า ข้าพเจ้าถวาย
รวมความก็จะได้หมายความประมาณนี้ว่า ที่ริมฝั้งแห่งนี้ ข้าพเจ้า ขอถวาย ปลาร้า……ฯลฯ…..ทับทิมสองผล (เหล่า) นี้ อันเป็นกุศล แก่สงฆ์
อ้างอิงคำถวายทานสุนทรภู่จาก สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ,ชีวิตและผลงานของสุนทรภู่,กรุงเทพฯ,กรมศีลปากร,2518.