เราควรถวายสะพานในโอกาสใด
เราสามารถที่จะสร้างสะพาน หรือรวบรวมทุนเพื่อสร้างสะพาน ถวายได้ทั้งในวัด และในที่สาธารณชนที่ผู้คนต้องใช้สัญจรไปมา ซึ่งเมื่อก่อนถือว่าการสร้างสะพานให้คนข้ามนั้นมีอานิสงส์มาก (ทุกวันนี้ก็มีอานิสงส์มากเช่นเดิม แต่ทุกวันนี้มีเจ้าหน้าที่รัฐดูแลในการก่อสร้างแล้ว) เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่มหาชนหมู่มาก ให้เขาได้รับความสะดวกสบายไม่มีความติดขัดในการสัญจรไปมา ยิ่งเมื่อก่อนการคมนาคมไม่ค่อยสะดวก หากเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา ไม่มีสะพานข้าม สะพานขาดอาจจะทำให้การส่งผู้ป่วยไปรักษาเกิดความล่าช้าและอาจจะทำให้เสียชีวิตได้
คำถวายสะพาน
มะยัง ภันเต, อิมัง เสตุง, มะหาชะนานัง, สาธาระณัตถาจะ, นิยาเทมะ, สาธุ โน ภันเต, สังโฆ, อิมัสมิง เสตุมหิ, นิยาเทติ, สักขิโก โหตุ, อิทัง เสตุทานัง, อัมหากัง, ทีฆะรัตตัง, หิตายะ, สุขายะ, สังวัตตะตุ.
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ, ข้าพเจ้าทั้งหลาย, ขอน้อมถวาย, ซึ่งสะพานนี้, เพื่อประโยชน์ทั่วไปแก่มหาชนทั้งหลาย, ขอพระสงฆ์จงเป็นพยาน, แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย, ในสะพานที่ข้าพเจ้าทั้งหลาย, ได้มอบแล้วนี้, ขอเหตุแห่งทานนี้, จงเป็นไปเพื่อประโยชน์, และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย, สิ้นกาลนาน เทอญ.
อานิสงส์ของการถวายสะพาน / อานิสงส์ของการสร้างสะพาน
อานิสงส์แห่งการสร้างสะพานนั้นยิ่งใหญ่ แม้ปรารถนาความเป็นพระเจ้าพรรดิ์ก็ย่อมได้ นี่เป็นการยกตัวอย่างเฉย ๆ หมายความว่าสุดแต่จะอธิษฐานไว้ ส่วนอานิสงส์อื่น ๆ มีท่านกล่าวไว้ว่า (ไม่จำเป็นต้องตามนี้เป๊ะ แต่อานิสงส์ส่งผลเป็นที่น่าพอใจ ตามฐานะของผู้ทำว่าเกิดอยู่ในฐานะอะไรที่ไหน)
- เมื่อคราวยากลำบากก็จะมีผู้เข้ามาช่วยเหลือ หรือแบ่งเบาทุเลาลงไป
- เป็นที่รักที่ชอบใจของคนรอบข้างและคนทั่วไป
- การงานมีความมั่นคง
- เมื่อเริ่มกระทำสิ่งใดไม่นาน ก็จะมีผู้ใหญ่เห็นความตั้งใจ พร้อมที่จะหยิบยื่นความช่วยเหลือให้
- มีชื่อเสียงดีงาม
- ได้รับการยกย่องสรรเสริญ
- ฐานะมั่นคง
- ส่งเสริมการงาน เลื่อนยศเลื่อนตำแหน่ง เลื่อนเงินเดือน
- แก้ดวงตก ดวงไม่ดี ต่อชะตาชีวิตให้ดีขึ้น