เหตุที่ผมต้องเขียนเรื่อง “พญากบกินเดือน กินตะวัน” นี้ก็เนื่องด้วยมีคนจีนถามเข้าหา ตามสูตรที่เคยกล่าวมา คนจีนชอบเครื่องรางที่สวยงามและแปลกตา แต่หากด้านพุทธคุณแล้วคนจีนจะชอบแนวความรักและโชคลาภทำมาหากินเป็นหลัก
สำหรับประวัติของครูบาออ สำนักสงฆ์พระธาตุ ดอยจอมแวะ อ.เชียง ดาว จ.เชียงใหม่ ผมจะไม่กล่าวถึงละเอียดมากนัก เดี๋ยวคนขี้เกียจอ่าน คนชอบอ่านอะไรที่ขลัง ศักดิ์สิทธิ์ อ่านแล้วเคลิ้มเลย แต่ก็ขอสรุปสั้น ๆ ตามได้อ่านมา
ประวัติย่อเกี่ยวกับครูบาออ
- ท่านเกิดวันอังคาร เดือนพฤศจิกายน ในปีพุทธศักราช 2461 ที่หมู่บ้านน้ำหน่อ ตำบลปางซาง จังหวัดลายข่า ประเทศพม่า (รัฐฉานไทยใหญ่)
- ในสมัยที่ท่านเป็นทหารอายุ 20 ปี เจ้าฟ้าแสงเชียง แห่งรัฐฉานหรือไทยใหญ่ โปรดท่านมากที่นำทหารช่วยเหลือชาติ จึงได้สักสังวาลเพชรบนศีรษะของท่านเพื่อเป็นรางวัล
- “เจ้าปิ่นยา” พระสังฆราชแห่งไทยใหญ่ เป็นผู้บวชให้ท่าน
- เมื่อบวชแล้ว ท่านได้ศึกษาตำราอักขระเลขยันต์ฉบับหอคำหลวง จนมีความชำนาญ
- ปัจจุบันท่านอยู่วัด สำนักสงฆ์พระธาตุ ดอยจอมแวะ อ.เชียง ดาว จ.เชียงใหม่
- ท่านเป็นที่เคารพศรัทธาจากประชาชนรัฐไทยใหญ่ และผู้ศรัทธาทั้งไทยและต่างชาติ
ตำนานกบกินเดือนของล้านนา
ตำนานกบกินเดือนหรือจันทรุปราคามีอยู่ในทุกชาติทุกชนพื้นเมือง แม้ในประเทศที่เจริญแล้ว ก่อนที่เขาจะมาเป็นประเทศที่เจริญด้านวิทยาการต่าง ๆ เขาก็มีตำนานจันทรุปราคาเช่นกัน แต่ว่ามีตำนานที่แตกต่างกันไปตามแต่จินตนาการของผู้เล่าหรือความเชื่อที่มีมาแต่ทุนเดิมของชนพื้นเมืองนั้น ๆ อย่างตำนานจันทรุปราคาหรือกบกินเดือนที่ผมจะนำมาเล่าต่อไปนี้ เป็นตำนานชาวล้านนา แน่นอนว่าก็ต้องผูกพันกับความเชื่อและวิถีชีวิตประเพณีของพวกเขา คือมีกษัตริย์ มีจารีตประเพณี มีความเชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ ทำอย่างไรก็ได้รับผลอย่างนั้น มีความเชื่อเรื่องการกลับชาติมาเกิด เป็นต้น
มีเรื่องเล่านานเท่าไหร่แล้วไม่มีการบันทึกไว้ กล่าวแต่ว่าเป็นสมัยพระเจ้าเหา มีครอบครัวอยู่ครอบครัวหนึ่ง ซึ่งได้ปลูกบ้านอยู่นอกเมือง ในครอบครัวนี้มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 4 คน ได้แก่ พ่อ แม่ ลูกสาวสองคน ซึ่งผู้เป็นพ่อและแม่ก็ได้ทำการอบรมสั่งสอนลูกสาวทั้งสองของตนเกี่ยวกับขนบทำเนียมประเพณีต่าง เกี่ยวกิริยามารยาท เกี่ยวกับการทำครัวทำอาหาร เป็นต้น เรียกง่าย ๆ ตามภาษาอีสานบ้านผมก็คือ เรือนสามน้ำสี่ฮีตสิบสอง คองสิบสี่ นั่นเอง (แต่เรื่องนี้เกิดขึ้นที่ไหนไม่รู้ครับ แต่พระเจ้าเหานี่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล่าทางล้านนาหรือทางเหนือครับ)
ต่อมาพ่อแม่ต้องการทดสอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่ามีความใส่ใจอย่างไรบ้าง จึงบอกให้ลูกสาวทั้งสองคนนั้นไปทำอาหารมา สาวทั้งสองคนก็เข้าไปในห้องครัวแล้วจึงช่วยกันทำอาหารจนเสร็จ แต่ก่อนที่ทั้งสองคนนั้นจะนำมาอาหารให้ผู้เป็นพ่อและแม่ก็ได้ชิมดูก่อน ปรากฏว่ารสชาติของอาหารไม่ลงคอกัน หมายความว่าคนหนึ่งว่าใช้ได้ส่วนอีกคนว่าใช้ไม่ได้ไม่อร่อย ทั้งสองสาวจึงเกิดการโต้เถียงกันไปมา จนในที่สุดคนพี่จึงใช้ทัพพีฟาดหน้าผู้เป็นน้องสาว ส่วนน้องสาวเมื่อถูกพี่ตีด้วยทัพพีก็คว้าเอาสากฟาดหน้าพี่สาวบ้าง ตบตีกันไปมาจนตายคาครัวทั้งสองคน
เมื่อทั้งสองคนได้ตายไปแล้ว ยมบาลจึงได้พิพากษาและตัดสินว่า “ทั้งสองนี้ทำเรื่องที่น่าอับอายขายหน้าต่อวงศ์ตระกูลและความเป็นลูกผู้หญิง สมควรที่จะได้อยู่นรกทั้ง ๗ ขุม” เมื่อพ้นจากนรกแล้ว ก็ให้คนพี่ไปเกิดเป็นเดือน ส่วนคนน้องให้ไปเกิดเป็นกบ
แม้ทั้งสองคนนี้ได้ไปเกิดเป็นเดือนและกบแล้วก็ตาม ก็ยังอาฆาตพยาบาทกันอยู่อีก หากได้มีโอกาสพบกันเข้าในเวลาใด ความอาฆาตแค้นก็แน่นขึ้นจนเอาไม่อยู่ คนน้องที่เกิดเป็นกบก็อ้าปากคาบคนพี่ที่เกิดเป็นเดือนไว้ จนเป็นตำนานเล่าขานมาจนถึงทุกวันนี้
อันที่จริง เรื่องตำนานกบกินเดือนนี้ ดูเหมือนว่าไม่เกี่ยวข้องกับการสร้างพญากบกินเดือน กินตะวัน ของครูบาออเลยนะครับ
พุทธคุณ พญากบกินเดือน กินตะวัน ครูบาออ
ผมขออนุญาตใช้คำว่า พุทธคุณ กบกินเดือน กินตะวัน เพราะคำนี้คนนิยมค้นหา เอาใจลูกค้าที่ใช้ Google หน่อยครับ เดี๋ยวจะมีคนไปพูดบนเวทีโลกว่าคนไทยไม่ใช้ Google มีคนบอกว่าครูบาออ เสกพญากบกินเดือน กินตะวัน ให้เป็นกบเทวดา ว่าเกินจริงหรือเปล่า แต่ก็เข้าเค้าคนน้องที่เกิดเป็นกบก็คงจะไม่ใช่กบธรรมดาที่งับเดือนได้ แต่ไฉนเทวดาเต็มไปด้วยความโกรธอาฆาตพยาบาท แต่ก็ไม่แปลก เทวดาก็ยังมีโลภ โกรธ หลงอยู่ มาดูที่คุณของพญากบกินเดือน กินตะวัน ดีกว่า ว่ากันว่า
- พลิกดวงชะตา พลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน ขนาดเดือนและตะวันกบยังไม่หวั่นและกินได้ แต่ก็ขอแทรกนิด การมีเดือนตะวันมันดีอยู่แล้ว ขอร้องกบอย่าไปกินเลย ถ้ากินเดือนตะวันแล้ว มนุษยชาติทั้งโลกและจักรวาลก็จะมืดมิด ความหายนะหรือชะตาขาดก็จะตามมา ฉะนั้น ถ้าสิ่งดีอยู่แล้ว ขอกบอย่าได้กินหรือพลิกเลย แต่ถ้าสิ่งไหนไม่ดีค่อยพลิกให้มันดีขึ้น
- โชคลาภ ถ้าไม่มีโชคลาภ คนอาจจะไม่บูชาหรือบูชาน้อยลง ฉะนั้น เรื่องโชคลาภนี้ ต้องมีไว้ก่อน เพราะยังไงคนก็ต้องดิ้นหาโชคหาลาภอยู่วันยันค่ำ
- วาสนา หมายถึงส่งเสริมวาสนาให้ดีขึ้น เลื่อนยศเลื่อนตำแหน่ง เลื่อนขั้นเงินเดือน
- มหาอำนาจ แม้เดือนตะวัน กบก็ไม่หวั่นไหว ใครได้บูชาพญากบกินเดือน กินตะวัน เชื่อว่าส่งเสริมด้านอำนาจบารมี ข่มคน ข่มผู้ใต้บัญชา คุมคน คุมกิจการต่าง ๆ
- แคล้วคลาดและปลอดภัย อาจจะรวมถึงคงกระพันชาตรี มหาอุดด้วย เพราะนั่นก็คือความปลอดภัยเช่นกัน
- ค้าขายดี เรียกลูกค้า อาจจะหมายถึงว่า เวลาพญากบกินเดือน กินตะวันนั้น สั่นหวั่นไหวทั้งบ้านทั้งเมือง ผู้คนโห่ร้องก้องปฐพี ก็คือเรียกคน เรียกลูกค้าให้มาหา ให้มาสนใจ ให้มาซื้อของเราไป
- เมตตามหานิยม เชื่อว่าท่านเสกไว้ในพญากบกินเดือน กินตะวัน แต่โดยตัวของพญากบกินเดือน กินตะวัน นั้นอาจจะไม่มีความเมตตาก็ได้ ถึงได้กินเดือนกินตะวัน หรือท่านถือนิมิตตรงที่ว่า พญากบกินเดือน กินตะวัน กินแล้วก็คายออกนั่นคือความเมตตา นั่นคือการสะเดาะเคราะห์ นั่นคือการพลิกชะตาชีวิตจากร้ายกลายเป็นดี จากที่จะไม่รอดอยู่แล้วก็รอดมา แต่พญากบกินเดือน กินตะวัน ไม่กินเดือนกินตะวันแต่แรกก็เป็นการดี แต่ก็อย่างว่า ถ้าไม่กินก็ไม่มีเรื่องให้ฮือฮา ไม่มีตำนานให้กล่าวขาน