
เหรียญอริยสัจสี่ วัดบวรนิเวศ ปี ๒๔๕๐ เนื้อเงิน
เหรียญแห่งความทรงจำ และทรงหลักธรรมในพระพุทธศาสนา เหรียญอริยสัจสี่ วัดบวรนิเวศวิหาร ปี 2450 เหรียญที่ทรงคุณค่า น่าบูชา อาราธนาติดตัว เพื่อประกาศความจริงแห่งชีวิต
เหรียญอริยสัจ 4 จัดสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2450 (ร.ศ.๑๒๕) เพื่อแจกเป็นที่ระลึกเนื่องในโอกาสอันเป็นมงคลงานเลื่อนสมณศักดิ์ของพระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพจากกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เป็นกรมหลวงวชิรญาณวโรรส ซึ่งต่อมาพระองค์ได้รับมหาสมณุตตมาภิเษกเป็นสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระองค์ที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เสด็จสถิต ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร
เหรียญอริยสัจสี่วัดบวรนิเวศวิหาร ปี 2450 มีลักษณะเป็นเหรียญวงกลม หูเชื่อม ขอบกระบอกอันเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของเหรียญปั๊มยุคนั้น ด้านหน้ามีอักขระขอม 4 ตัว คือ ทุ ส นิ ม อันเป็นอักษรย่อของอริยสัจสี่ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อันเป็นที่มาของชื่อเหรียญนี้ เหรียญอริยสัจสี่จะมีด้วยกัน 3 พิมพ์ ได้แก่
1.เหรียญอริยสัจสี่ พิมพ์หน้ายันต์กลีบบัว หลังตัวหนังสือว่า ที่รฦกในการเลื่อนกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เป็นกรมหลวง ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ร.ศ.๑๒๕ พิมพ์นี้ถูกจัดว่าเป็นพิมพ์นิยม ซึ่งผมก็ไม่ทราบว่าใครจัด
2.พิมพ์หน้ายันต์กลีบบัว หลังพระปิดตา อย่างภาพประกอบด้านบน ด้านซ้ายมือเรา คือด้านหลัง เป็นรูปพระปิดตาจำนวนมากล้อมรอบ ด้านขวามือเป็นด้านหน้าเหรียญครับ
3.พิมพ์หน้ายันต์กลีบบัว หลังพระธรรมจักร 12 ซี่ หมายถึงปฏิจจสมุปบาท 12 ประการ ผมชอบพิมพ์นี้มากกว่า ถือว่าเป็นพิมพ์นิยมของผม คนอื่นจะนิยมหรือไม่เรื่องของคนอื่น
ในการอันเป็นมงคลนี้มีพระเถระมาร่วมแสดงความยินดีและเจริญพุทธมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคลมากมายหลายรูป เป็นต้นว่า
– กรมหมื่นวชิรญาณฯ วัดบวรนิเวศ
– หลวงปู่ทอง วัดราชโยธา
– หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง
– หลวงปู่ภู วัดอินทรวิหาร
– หลวงปู่เผือก วัดทองนพคุณ
– หลวงพ่อหรุ่น วัดอัมพวัน
– เจ้าคุณโพธิ์ วัดชัยพฤกษ์มาลา
– พระสังวราชุ่ม วัดพลับ
– พระเทพโมลี (แพ ) วัดสุทัศน์เทพวราราม
– สมเด็จพระพุฒโฆษาจารย์ (เจริญ) วัดระฆังโฆษิตาราม
– หลวงปู่ไข่ วัดเชิงเลน
– หลวงพ่อโม วัดสามจีน
– หลวงพ่อพลอย วัดเงินคลองบางพรม
จึงกล่าวได้ว่า เหรียญอริยสัจสี่ วัดบวรนิเวศวิหาร ปี 2450 เป็นเหรียญที่ทรงคุณค่าทั้งด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ พุทธคุณ และเป็นเหรียญที่ทรงไว้ซึ่งธรรมอันมีเฉพาะในพระพุทธศาสนาคืออริยสัจสี่

คาถาบูชาเหรียญอริยสัจ ๔
ทุ สะ นิ มะ
หรือจะสวดแบบพิสดาร ๑๖ ตัวอักษรก็ได้
ทุ สะ นิ มะ
สะ นิ มะ ทุ
นิ มะ ทุ สะ
มะ ทุ สะ นิ
ทุ ย่อมาจาก ทุกข์ คือความไม่สบายกายความไม่สบายใจ เป็นสิ่งต้องรู้ หมายความว่ามันต้องเกิดขึ้นกับทุกคน หน้าที่คือ กำหนดรู้
สะ ย่อมาจาก สมุทัย คือสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ เป็นสิ่งที่ต้องละ หมายความว่าสิ่งที่เราต้องละอย่างแท้จริงคือตัวนี้ ไม่ใช่ไปละที่ทุกข์
นิ ย่อมาจาก นิโรธ คือ ความดับทุกข์ ได้แก่ ดับสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ เป็นสิ่งที่ควรทำให้เกิดขึ้น ให้มีขึ้น ให้บรรลุผล อันเป็นผลมาจาก มะ หรือ มรรค
มะ ย่อมาจาก มัคคะ หรือ มรรค คือ แนวปฏิบัติที่นำไปสู่นิโรธหรือนำไปถึงความดับทุกข์ เป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติ
พุทธคุณเหรียญอริยสัจสี่ วัดบวรนิเวศวิหาร
ในส่วนของพุทธคุณเหรียญอริยสัจ ๔ วัดบวรนิเวศวิหาร ปี ๒๕๔๐ ผมกล่าวตามความเชื่อ โดยเชื่อว่ามีพุทธคุณส่งเสริมด้านการดำรงชีวิตประจำวัน ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับความทุกข์หรือปัญหาต่าง ๆ เหตุที่ทำให้เกิดปัญหา วิธีการแก้ปัญหา และสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างลุล่วง เหรียญนี้จึงส่งเสริมในการแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตทุกคนให้พบวิธีการแก้ปัญหาอย่างถูกต้อง ขจัดอุปสรรคต่าง ๆ ด้วยสติปัญญา ด้วยหลักธรรมในพระพุทธศาสนา
เหรียญอริยสัจ ๔ นี้ จัดสร้างขึ้นในวาระอันเป็นมงคล คือเลื่อนตำแหน่ง จึงเชื่อว่ามีพุทธคุณส่งเสริมยศตำแหน่ง บริวาร ลาภยศ
นอกจากนั้นเหรียญอริยสัจ ๔ ยังได้ผ่านการอธิษฐานจิตจากพระเถระผู้ทรงทั้งสมณะศักดิ์และทรงคุณทั้งหลาย จึงเชื่อว่ามีพุทธคุณครอบจักรวาล แคล้วคลาดปลอดภัย ตามแต่อธิษฐาน