Skip to content
พระคุ้มครอง

วัตถุมงคล พระเครื่อง เครื่องราง คาถา สิ่งศักดิ์สิทธิ์

  • Home
  • ทำบุญ
  • ธรรมะ
  • คาถา
  • นิทาน
  • นำโชค
  • เรื่องผี
  • ตำนาน
  • หนังสือ
  • เรียกจิต
  • ประเพณี
  • ภาษาวัด
  • ทายนิสัย
  • พระเครื่อง
  • เครื่องราง
  • นานาสาระ
  • ยาสมุนไพร
  • พระสายกรรมฐาน
พระคุ้มครอง

วัตถุมงคล พระเครื่อง เครื่องราง คาถา สิ่งศักดิ์สิทธิ์

การให้ทาน เป็นหนึ่งในมงคลอันสูงสุด

พระคุ้มครอง, 1 ตุลาคม 20221 ตุลาคม 2022
เห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ โปรดแชร์....

การให้ทาน
การให้ทาน

การให้ทาน เป็นหนึ่งในมงคลอันสูงสุด

การ​ให้​ทาน​ย่อม​เป็น​มงคล​อัน​ประเสริฐ ถาม​ว่า​เหตุ​ไร​บุคคล​จึง​คิด​ให้​ทาน แก้​ว่า​เพราะ​สาเหตุ ๒ ประการ​คือ

๑. มี​ปัญญา​สัมมา​ทิฏฐิ​ความเห็น​ชอบ

๒. มี​ความ​ไม่​โลภ

คำ​ว่า​มี​ปัญญา​สัมมา​ทิฏฐิ หมาย​ถึง​มี​ปัญญา​พิจารณา​เห็น​บาป​บุญ­คุณ​โทษ ประโยชน์​และ​ไม่​ใช่​ประโยชน์​ใน​เบื้องหน้า เห็น​ว่า​การ​ให้​ทาน​รักษา​ศีล​ภาวนา​ย่อม​ได้​บุญ​กุศล​นำ​มา​ซึ่ง​ความ​สุข เห็น​ว่า​การ​ละเมิด​ศีล​เป็น​บาป​นำ​มา​ซึ่ง​ความ​ทุกข์ ดังนี้​ชื่อ​ว่า​มี​ปัญญา​สัมมา​ทิฏฐิ เมื่อ​บุคคล​อาศัย​ปัญญา​สัมมา​ทิฏฐิ​และ​ความ​ไม่​โลภ​คิด​จะ​บริจาค​ทาน ทาน​นั้น​ย่อม​จะ​มี​ผล​มาก ถ้า​มี​คำ​ถาม​ว่า​ทาน​จะ​มี​ผล​มาก​นั้น​ต้อง​ประกอบ​ด้วย​สิ่ง​ไร​บ้าง ก็​ตอบ​ว่า​สำหรับ​ผู้​บริจาค​ทาน​ต้อง​ประกอบ​ด้วย เจตนา​สัมปทา หมาย​ถึง​ผู้​บริจาค​ทาน​มี​จิต​ศรัทธา เลื่อมใส​ใน​การ​ให้​ทาน​ไม่​เสียดาย​วัตถุ​ข้าวของ​ใน ๓ กาล​คือ

เจตนาในการให้ทาน ทั้ง ๓ กาล

๑. บุ​พพเจตนา คือ​ก่อน​ให้​ทาน​ก็​มี​ความ​ศรัทธา​เลื่อมใส​เตรียม​พร้อม​เตรียม​ตัว​เตรียม​การ​ที่​จะ​ให้​ทาน​ด้วย​ความ​เบิก­บาน​หรรษา

๒. มุ​ญ​จน​เจตนา คือ​ขณะ​ให้​ก็​ร่าเริง​ปิติ​ศรัทธา​ไม่​เสียดาย​สิ่งของ​สยิ้ว​นิ่ว​หน้า

๓. อปรา​ปรเจตนา ครั้น​เมื่อ​ให้​ทาน​ผ่าน​ไป​แล้ว​เมื่อ​ย้อน​นึก​ถึง​การ​ให้​ทาน​ครั้ง​นั้น​เมื่อใด​ก็​เกิด​ปิติ​ชื่นชม​โสมนัส​ไม่​รู้สึก​เสียดาย

เมื่อ​เจตนา​พร้อม​ทั้ง ๓ กาล​คือ​ก่อน​ให้​ขณะ​ให้หลัง​ให้ ท่าน​เรียก​ว่า เจตนา​สัมปทา คือ​ถึง​พร้อม​ด้วย​เจตนา สำหรับ​วัตถุ​ที่​นำ​มา​บริจาค​ต้อง​เป็น​วัตถุ​ที่​ได้​มา​โดย​บริสุทธิ์ ไม่​ผิด​ศีล​ผิด​ธรรม​ได้​มา ชื่อ​ว่า​วัตถุ​สัมปทา ฉะนั้น​ถ้า​ฝ่าย​ทายก​คือ​ผู้​ให้ ถึง​พร้อม​ด้วย​องค์ ๒ ดัง​กล่าว​มา​ข้าง​ต้น​คือ​เจตนา​สัมปทา​และ​วัตถุ​สัมปทา ย่อม​ทำให้​ทาน​มี​ผล​มาก​มี​อานิสงส์​มาก ยิ่ง​ถ้า​ผู้​รับ​เป็น​พระ​อรหันต์​เพิ่ง​ออก​จาก​สมาบัติ​ย่อม​จะ​มี​ผล​ทันตา​เห็น​ภายใน​เจ็ด​วัน​หรือ​ภายใน​ชาติ​นี้ สำหรับ​การ​ให้​ทาน​ถ้า​แบ่ง​ตาม​ผู้​รับ​แบ่ง​ได้​เป็น ๒ คือ

ทาน ๒ ประเภท แบ่งตามผู้รับ

๑. ปา­ฏิ­ปุค­ค­ลิ­ก­ทาน คือ​การ​ให้​ทาน​ที่​เจาะจง​ตัวผู้​รับ​ตาม​ความ​ชอบใจ​ของ​ผู้​ให้​ทาน

๒. สังฆทาน คือ​การ​ถวาย​ทาน​แก่​หมู่​สงฆ์​ไม่​เจาะจง​ผู้​รับ

ใน​ทาน​ทั้ง ๒ นั้น​สังฆทาน​ย่อม​มี​ผล​อานิสงส์​ยิ่งใหญ่​มาก​กว่า​ปา­ฏิ­ปุ­ค­ลิก­ทาน สำหรับ​ปา­ฏิ­ปุ­ค­ลิก­ทาน​นั้น​ถ้า​จะ​มี​ผล​มาก ผู้​ให้​จะ​ต้อง​ถึง​พร้อม​ด้วย​เจตนา​สัมปทา ทั้ง ๓ กาล ส่วน​ผู้​รับ​ก็​ต้อง​ประกอบ​ด้วย​องค์ ๓ คือ

ผู้รับทาน ประกอบด้วยองค์ ๓ มีอานิสงส์มาก

๑. ปราศจาก​ราคะ หรือ​กำลัง​ปฏิบัติ​เพื่อ​ละ​ราคะ

๒. ปราศจาก​โทสะ หรือ​กำลัง​ปฏิบัติ​เพื่อ​ละ​โทสะ

๓. ปราศจาก​โมหะ หรือ​กำลัง​ปฏิบัติ​เพื่อ​ละ​โมหะ

(ถ้าผู้รับทานไม่ได้ประกอบด้วยองค์ ๓ ก็มีอานิสงส์เช่นกัน แต่เป็นทานที่มีอานิสงส์น้อยกว่า)

สำหรับ​การ​ถวาย​สังฆทาน​ให้​มี​ผล​สมบูรณ์​นั้น ให้​บุคคล​ผู้​ให้​ทาน​ตั้ง​จิต​อุทิศ​ทาน​ว่า​เรา​ถวาย​ทาน​บูชา​แด่​พระ​อริ­ย­เจ้า อย่า​คิด​ว่า​เรา​ถวาย​ทาน​แด่​ภิกษุ​ปุถุชน การ​ถวาย​สังฆทาน​ใน​ปัจจุบัน​สมัย​นี้​มี ๒ แบบ​ คือ

๑. ถวาย​แก่​ภิกษุ​สงฆ์ คือ​อาราธนา​นิมนต์​พระ​ภิกษุ​สงฆ์​มา​รับ​ทาน​ตั้งแต่ ๔ รูป​ขึ้น​ไป ตั้งใจ​ถวาย​เป็น​สังฆทาน

๒. ไป​บอก​ขอ​นิมนต์​พระ​ภิกษุ ๑ รูป ๒ รูป​หรือ ๓ รูป​จาก​คณะ​สงฆ์​ใน​อาวาส​ใด​อาวาส​หนึ่ง​โดย​ไม่​จำเพาะ​เจาะจง​ว่า​เป็น​พระ​ภิกษุ​รูป​ใด ทาง​คณะ​สงฆ์​ก็​จะ​จัด​พระ​ภิกษุ​ตาม​คิว​ที่​จัด​กัน​ไว้​ใน​อาวาส​มา​ให้​เรา

อนึ่ง​เมื่อ​เรา​ผู้​ให้​ทาน​นั้น​ไป​ขอ​ภิกษุ​มา​รับ​สังฆทาน​แล้ว ทาง​คณะ​สงฆ์​จะ​จัด​ส่ง​พระ​เถระ​มา​ก็​ดี จัด​ส่ง​พระ​ภิกษุ​หนุ่ม​สามเณร​น้อย​ก็​ดี เรา​จง​อย่า​ดีใจ​เสียใจ​ว่า​ได้​ภิกษุ​ที่​เรา​ชอบ​หรือ​ไม่​ชอบ เพราะ​ว่า​ถ้า​เรา​ดีใจ​หรือ​เสียใจ​จะ​ไม่​เป็น​สังฆทาน ให้​ทำ​จิต​เป็นกลาง​ไม่​ดีใจ​เสียใจ แล้ว​ตั้งใจ​อุทิศ​ถวาย​ทาน​บูชา​แด่​พระ​อริ­ย­เจ้า การ​ให้​ทาน​ของ​เรา​ก็​จะ​เป็น​สังฆทาน​สมใจ ด้วย​ว่า​สังฆทาน​นี้​มี​ผล​มาก​มี​อานิสงส์​มาก​กว่า​ทาน​ที่​เจาะจง​ให้​แก่​คน​ที่​เรา​ชอบใจ พระ​พุทธ­องค์​ทรง​ตรัส​แสดง​อานิสงส์​แห่ง​ทาน​เป็น​ลำดับ​ขั้น​ไป​ดังนี้​คือ

อานิสงส์ของการให้ทานมากน้อยตามผู้รับ

บุคคล​ให้​ทาน​แก่​สัตว์​เดียร​ฉาน​ ๑๐๐ ​หน ไม่​เท่ากับ​ให้​แก่คน​ทุศีล​ ๑ หน
บุคคล​ให้​ทาน​แก่​คน​ทุศีล ๑๐๐ หน​ ไม่​เท่ากับ​ให้​แก่​คน​มี​ศีล ๑ หน
บุคคล​ให้​ทาน​แก่​คน​มี​ศีล ๑๐๐ หน​ ไม่​เท่ากับ​ให้​แก่​พระ​โสดาบัน ๑ หน
บุคคล​ให้​ทาน​แก่​พระ​โสดาบัน ๑๐๐ หน​ ไม่​เท่ากับ​ให้​แก่​พระ​สกิทาคามี ๑ หน
บุคคล​ให้​ทาน​แก่​พระ​สกิทาคามี ๑๐๐ หน​ ไม่​เท่ากับ​ให้​แก่พระ​อนาคามี ๑ หน
บุคคล​ให้​ทาน​แก่​​พระ​อนาคามี ๑๐๐ หน​ ไม่​เท่ากับ​ให้​แก่​พระ​อรหันต์ ๑ หน
บุคคล​ให้​ทาน​แก่​พระ​อรหันต์ ๑๐๐ หน​ ไม่​เท่ากับ​ให้​แก่พระ​ปัจ­เจก­พุทธ­เจ้า ๑ หน
บุคคล​ให้​ทาน​แก่​​พระ​ปัจ­เจก­พุทธ­เจ้า ๑๐๐ หน​ ไม่​เท่ากับ​ให้​แก่พระ​สัมมา­สัม­พุทธ­เจ้า ๑ หน
บุคคล​ให้​ทาน​แก่​​พระ​สัมมา­สัม­พุทธ­เจ้า ๑๐๐ หน​ ไม่​เท่ากับ​ถวาย​สังฆทาน ๑ หน
บุคคล​ถวาย​สังฆทาน ๑๐๐ หน​ ไม่​เท่ากับ​ถวาย​วิหาร​ทาน ๑ หน (วิหาร​ทาน​คือ​การ​ก่อสร้าง​กุฏิ​วิหาร​ศาลา​อุโบสถ​เสนาสนะ​ที่​อยู่​ที่​อาศัย​ถวาย​แก่​วัดวา​อาราม)
บุคคล​ถวาย​วิหาร​ทาน ๑๐๐ หน​ ไม่​เท่ากับ​มี​จิต​ศรัทธา​รับ​พระ​ไตร­สรณาคมน์​คือ​พระ​พุทธ​พระ​ธรรม​พระ​สงฆ์​เป็น​สรณะ​ที่พึ่ง ๑ หน
บุคคล​รับ​พระ​ไตร­สรณาคมน์ ๑๐๐ หน​ ไม่​เท่ากับการ​สมาทาน​ศีล ๕ ประการ ๑ หน
บุคคล​​สมาทาน​ศีล ๕ ประการ ๑๐๐ หน​ ไม่​เท่ากับการ​ตั้ง​จิต​แผ่​เมตตา​ไป​ใน​สรรพ­สัตว์​ทั้ง​หลาย​ทั้ง​ปวง​ชั่ว​เวลา​เพียง​รีด​นม​โค ๑ หน
บุคคล​แผ่​เมตตา​ชั่ว​เวลา​รีด​นม​โค ๑ หน หน​ ไม่​เท่ากับ​การ​เจริญ​อนิจ­จ­สัญญา​คือ​การ​ระลึก​ถึง​ความ​ไม่​เที่ยง​ของ​สังขาร​รูปธรรม​นามธรรม ชั่ว​เวลา​เพียง​ไก่​ปรบ​ปีก

ทีนี้​ถ้า​มี​คำ​ถาม​ว่า​ทำไม​สังฆทาน​จึง​มี​ผล​มาก พระ​พุทธ­องค์​ทรง​ตรัส​ว่า​สังฆทาน​ย่อม​เป็น​สาธารณะ​ทั่วไป​แก่​พระ​สงฆ์​ทั้ง​ปวง​มี​พระพุทธเจ้า​เป็น​ต้น มี​พระ​สงฆ์​ที่​บวช​ใหม่​เป็น​ที่สุด สังฆทาน​ย่อม​เกื้อ​หนุน​ให้​พระ​สงฆ์​ได้​มี​โอกาส​เล่าเรียน​ศึกษา​ทรง​ไว้​ซึ่ง​พระ​พุทธ​ศาสนา อัน​จะ​ทำ​ความ​ยั่งยืน​แก่​พระ​พุทธ​ศาสนา​ไป​จน​ถ้วน ๕,๐๐๐ ปี ฉะนั้น​การ​ถวาย​สังฆทาน​จึง​มี​ผล​มาก เพราะ​เป็น​การ​บำรุง​พระ​พุทธ​ศาสนา​ไป​ใน​ตัว

ทาน​อาจ​แบ่ง​เป็น ๒ อย่าง​คือ อามิส​ทาน​และ​ธรรม­ทาน อามิส​ทานคือ​การ​ให้​วัตถุ​ข้าวของ ส่วนธรรม­ทานคือ​การ​ให้​ธรรมะ

ทาน​อาจ​แบ่ง​เป็น ๓ อย่าง​คือ​ทาส­ทาน สหาย​ทาน และ​สามี​ทาน ทาส­ทานหมาย​ถึง​การ​ให้​ของ​ที่​เลว​กว่า​ของ​ที่​เรา​ใช้สอย สหาย​ทานหมาย​ถึง​การ​ให้​ของ​ที่​เสมอ​กับ​ของ​ที่​เรา​ใช้สอย สามี​ทานหมาย​ถึง​การ​ให้​ของ​ที่​ประณีต​กว่า​ของ​ที่​เรา​ใช้สอย ใน​ทาน​ทั้ง ๓ ประการ​นั้น​สามี​ทาน​มี​อานิสงส์​มาก​ที่สุด ส่วน​ทาส­ทาน​มี​อานิสงส์​น้อย​ที่สุด

การ​ให้​ทาน​นั้น​ถ้า​หาก​ผู้​ให้​เป็น​ผู้​มี​ศีล​ด้วย อานิสงส์​แห่ง​ทาน​ก็​จะ​ยิ่ง​มี​มาก ฉะนั้น​ก่อน​การ​ถวาย​ทาน​จึง​นิยม​อาราธนา​ศีล​ก่อน​ด้วย​เหตุ​ฉะนี้ การ​ให้​ทาน​เป็น​การ​ละ​ความ​โลภ การ​รักษา​ศีล​เป็น​การ​ละ​ความ​โกรธ การ​เจริญ​ภาวนา​เป็น​การ​ละ​ความ​หลง ฉะนั้น​พระพุทธเจ้า​เมื่อ​จะ​แสดง​เส้นทาง​ไป​สู่​ทาง​นิพพาน​ย่อม​จะ​สั่งสอน​ให้​เวไนย​สัตว์​รู้จัก​การ​ให้​ทาน​รักษา​ศีล​เจริญ​ภาวนา ฉะนั้น​บุคคล​ผู้​ให้​ทาน​รักษา​ศีล​เจริญ​ภาวนา จง​ปรารถนา​การ​ดับ​โลภ​โกรธ​หลง​จึง​จะ​ตรง​สู่​ทาง​นิพพาน​อัน​เป็น​แดน​พ้น​ทุกข์ ถ้า​ยัง​มัว​ปรารถนา​มนุษย์­สมบัติ​สวรรค์​สมบัติ​อยู่​แล้ว ก็​จะ​เป็น​การ​เนิ่น​ช้า​พา​ให้​เวียน​ว่าย​เกิด​แก่​เจ็บ​ตาย​อยู่​ใน​วัฏ​ฏ­สงสาร​สิ้น​กาล​นาน​ไม่​มี​กำหนด​ที่​จะ​หมด​ชาติ แต่​ว่า​ผู้​ให้​ทาน​เป็น​นิสัย​ก็​ย่อม​จะ​สามารถ​ได้​ซึ่ง​มนุษย์­สมบัติ​และ​สวรรค์​สมบัติ​ได้​ถ้า​หาก​มี​ความ​ปรารถนา สำหรับ​มนุษย์­สมบัติ​สามารถ​เรียง​ลำดับ​แห่ง​ความ​ไพบูลย์​ของ​ผล​ได้​ดังนี้

๑. จะ​ได้​เป็น​พระเจ้า​จักร​พร​รดิ์​อัน​มี​แก้ว​ทั้ง ๗ ประการ​คือ ช้าง​แก้ว ม้า​แก้ว จักร​แก้ว แก้ว​มณี นาง​แก้ว ขุนพล​แก้ว ขุน​คลัง​แก้ว มี​อาณา­เขต​แผ่​ไป ๔ ทิศ
๒. เป็น​กษัตริย์​มี​สมบัติ​บริบูรณ์ มี​ลาภ​ยศ​ปรากฏ​ไป​ใน​อาณา­เขต
๓. เป็น​เศรษฐี​มี​ทรัพย์​มาก​บริบูรณ์​นับ​ด้วย​โกฏิ
๔. เป็น​กฎุมพี​มี​ทรัพย์​มาก​แต่​ไม่​เท่า​เศรษฐี
๕. เป็น​พลเรือน​มี​ทรัพย์​พอใช้​ไม่​ขาด​มือ

แต่​อย่างไร​ก็​ตาม​ท่าน​กล่าว​ไว้​ว่า ขึ้นชื่อ​ว่า​บุคคล​ผู้​ให้​ทาน​จะ​ไป​สู่​ที่​อดอยาก​ขาดแคลน​นั้น​เป็น​ไม่​มี พระ​ศาสดา​ทรง​ตรัส​ถึง​ผล​แห่ง​ทาน​ไว้​กับ​สิง­ห­เสนาบดี​เป็น​ความ​ว่า

๑. ทายก​ผู้​ให้​ทาน​ย่อม​เป็น​ที่​รัก​แก่​คน​ทั้ง​ปวง
๒. ทายก​ผู้​ให้​ทาน​ย่อม​เป็น​ที่​คบหา​แก่​คน​ทั้ง​หลาย
๓. ทายก​ผู้​ให้​ทาน​ย่อม​เป็น​ที่​สรรเสริญ​แก่​มนุษย์​และ​เทวดา
๔. ทายก​ผู้​ให้​ทาน​ย่อม​มี​ยศ​ใหญ่​มี​บริวาร​มาก
๕. ทายก​ผู้​ให้​ทาน​ย่อม​ไม่​กลัว​ไม่​เก้อเขิน​เป็น​ผู้​แกล้ว​กล้า​ใน​ประชุม​ชน

การ​ให้​ทาน​ย่อม​ยัง​สามารถ​แยก​เป็น ๒ ประการ​ได้​อีก​คือ​การ​ให้​ด้วย​สงเคราะห์​และ​การ​ให้​ด้วย​การ​บูชา การ​ให้​ด้วย​การ​สงเคราะห์​นั้น​คือ​ให้​แก่​คน​ยากจน​อนาถา​หา​ที่พึ่ง​ไม่​ได้ ให้​แก่​สัตว์​เดียรัจฉาน​ก็​ชื่อ​ว่า​ให้​ด้วย​สงเคราะห์ การ​ให้​ด้วย​การ​บูชา​คือ​ให้​แก่​บิดา​มารดา​ปู่​ย่า​ตา​ยาย​และ​ครู​อุปัชฌาย์​อาจารย์​ทั้ง​หลาย​ที่​มี​คุณ​แก่​ตน​มา​แต่​ก่อน​ก็​ดี ให้​แก่​ท่าน​ผู้​มี​ศีล​มี​ธรรม ภิกษุ​สามเณร และ​ท่าน​ที่​ตั้ง​อยู่​ใน​ฌาน​สมาบัติ​มรรคผล เหล่า​นี้​ชื่อ​ว่า​ให้​ด้วย​การ​บูชา ใน​ทาน​ทั้ง ๒ นี้​ การ​ให้​ด้วย​การ​บูชา​ย่อม​มี​อานิสงส์​มาก​กว่า​การ​ให้​ด้วย​การ​สงเคราะห์

การ​ให้​ทาน​นั้น​ควร​ให้​โดย​เคารพ​ใน​ทาน อย่า​ให้​โดย​ไม่​เคารพ​ประดุจ​เอา​ไป​ทิ้ง ควร​ให้​ด้วย​มือ​ตน​เอง​ยกเว้น​แต่​สุด​วิสัย​จึง​ค่อย​ฝาก​ผู้​อื่น​ไป​ให้ เวลา​ให้​ทาน​ถ้า​มี​โอกาส​ให้​ชักชวน​คน​อื่น​ให้​ร่วม​ด้วย​อย่า​ให้​ทาน​คน​เดียว เพราะ​ถ้า​ให้​ทาน​คน​เดียว​จะ​ขาด​พวกพ้อง​บริวาร​กลาย​เป็น​คน​เดียวดาย​ไร้​ญาติ ขาด​มิตร ถ้า​เรา​ชักชวน​ให้​ผู้​อื่น​ร่วม​ทำ​ทาน​กับ​เรา​ด้วย อานิสงส์​ย่อม​เกื้อกูล​ให้​เรา​ได้​มี​พวกพ้อง​บริวาร ย่อม​มี​ญาติ มี​มิตร มี​ผู้​รู้ใจ มี​ผู้​คอย​ช่วยเหลือ​เกื้อกูล เวลา​เห็น​ใคร​ให้​ทาน​จง​อย่า​ไป​ขัด​ขวาง ถ้า​ไม่​ได้​ช่วย​ก็​จง​นิ่งเฉย​เสีย อย่า​ไป​พูด​ให้​เขา​เสีย​กำลังใจ ถ้า​มี​ส่วน​ช่วย​เขา​ได้​ยิ่ง​ดี ถ้า​ไม่​ได้​ช่วย​ให้​กล่าว​สรรเสริญ​ชมเชย​ให้​กำลังใจ​ด้วย​วาจา ถ้า​ไม่​มี​โอกาส​กล่าว​วาจา​ให้​อนุโมทนา​พลอย​ยินดี​ด้วย​ใจ เวลา​ให้​ทาน​จง​อย่า​ให้​เพื่อ​เอา​หน้า​เอา​ชื่อเสียง ให้​ตั้ง​จิต​ศรัทธา​ใฝ่​บุญ​กุศล​แล้ว​จึง​ให้​ทาน จง​อย่า​ให้​เพื่อ​จะ​ทวง​บุญ­คุณ​ภายหลัง ให้​แล้ว​ให้​เลย​อย่า​หวัง​ให้​ผู้​รับ​ทาน​มา​ตอบแทน​บุญ­คุณ​เรา เมื่อ​เรา​ได้​ให้​ทาน​ด้วย​ของ​สิ่ง​ใด​ไป ให้​ตัดใจ​ขาด​จาก​ของ​สิ่ง​นั้น​ไป​ทันที​ทันใด​ที่​เรา​ให้​ไป​แล้ว อย่า​ตาม​ไป​ดู ตาม​ไป​หวง ตาม​ไป​ห่วง​กังวล​ต่อ​ของ​ที่​เรา​ให้​ไป​แล้ว เมื่อ​เราให้​ของ​สิ่ง​นั้น​ไป​แล้ว​ผู้​รับ​ทาน​จะ​นำ​ของ​สิ่ง​นั้น​ไป​ทำ​อะไร จะ​นำ​ไป​ใช้ หรือ​นำ​ไป​ทิ้ง​ก็​อย่า​ไป​สนใจ เพราะ​เรา​ขาด​จาก​ของ​สิ่ง​นั้น​มา​แล้ว เรา​ได้​บุญ​มา​แล้ว ของ​สิ่ง​นั้น​ไม่​ใช่​ของ​ของ​เรา​ที่​เรา​จะ​ต้อง​ไป​สนใจ​อีก​ต่อ​ไป ถ้า​เรา​ให้​แล้ว​ตาม​ไป​ดู ตาม​ไป​ห่วง ตาม​ไป​หวง​ของ​ที่​เรา​ให้​ไป​แล้ว ชื่อ​ว่า​เรา​ยัง​ไม่​ได้​ให้ ฉะนั้น​ตั้งแต่​ขณะ​วินาที​ที่​ให้​ทาน​ต้อง​ตัดใจ​จาก​ของ​นั้น​ให้​เด็ดขาด

ต่อ​ไป​จะ​กล่าว​พรรณนา​ถึง​ธรรม­ทาน​การ​ให้​ซึ่ง​พระ​ธรรม ตาม​ที่​พระพุทธเจ้า​ได้​ตรัส​ไว้​ว่า ธรรม­ทาน​ย่อม​ชนะ​เสีย​ซึ่ง​ทาน​ทั้ง​ปวง รส​แห่ง​ธรรม​ย่อม​ชนะ​รส​ทั้ง​ปวง ความ​ยินดี​ใน​ธรรม​ย่อม​ชนะ​ความ​ยินดี​ทั้ง​ปวง ความ​สิ้น​ไป​แห่ง​ตัณหา​ย่อม​ชนะ​ทุกข์​ทั้ง​ปวง ถาม​ว่า​อย่างไร​จึง​ชื่อ​ว่า​ธรรม­ทาน ก็​บุคคล​ใด​เป็น​ผู้​รู้​ธรรม​คำ​สั่งสอน​ของ​พระพุทธเจ้า แล้ว​นำ​มา​ชี้แจง​ให้​ผู้​อื่น​ได้​รับรู้ เพื่อ​จะ​ได้​ละเว้น​จาก​บาป​บำเพ็ญ​กุศล ได้​ยก​ตน​ให้​พ้น​จาก​ทาง​เสื่อม​ทั้ง​ปวง หรือ​ไป​เชื้อเชิญ​ผู้​รู้​ซึ่ง​ธรรม​มา​แสดง​ชี้แจง​ซึ่ง​ธรรม​ให้​ผู้​อื่น​ฟัง เพื่อ​จะ​ให้​ได้​เกิด​ความ​สลด​สังเวช​ใน​สังขาร เกิด​ความ​เลื่อมใส​ใน​คุณ​ของ​พระ​รัตนตรัย หรือ​ว่า​ได้​จัด​สร้าง​หนังสือ​พระ​สูตร​พระ​วินัย พระ​ธรรม พระ​กรรมฐาน แจกจ่าย​ให้​แก่​สัป­บุรุษ​ทั้ง​หลาย​และ​ภิกษุ​สามเณร​ได้​เล่าเรียน​ศึกษา​ให้​สืบ​พระ​ศาสนา​ให้​เจริญ​ต่อ​ไป​ก็​เรียก​ว่า​ธรรม­ทาน มี​อานิสงส์​ใหญ่​กว่า​อามิส​ทาน​เช่น​การ​ให้​วัตถุ​ต่าง ๆ ธรรม­ทาน​จะ​มี​อานิสงส์​ให้​สติปัญญา​แกล้ว​กล้า​เหมือน​พระ​สา­รี­บุตร ท่าน​กล่าว​ว่า​ใน​อดีต­ชาติ​อดีต­กาล​ครั้ง​ศาสนา​ของ​พระพุทธเจ้า​องค์​ก่อน พระ​สา­รี­บุตร​ได้​เกิด​เป็น​กฎุมพี​มี​ศรัทธา​เลื่อมใส​ได้​สร้าง​พระ​ไตร­ปิฎก​ไว้​ใน​พระ​พุทธ​ศาสนา ครั้น​เมื่อ​แตก​กาย​ทำลาย​ขันธ์​ก็​ได้​ไป​บังเกิด​ใน​เท­ว­โลก​สิ้น​กาล​นาน เมื่อ​มา​เกิด​ใน​ศาสนา​นี้​ได้​ออก​บวช​มี​นาม​ว่า​พระ​สา­รี­บุตร มี​สติปัญญา​เฉลียว​ฉลาด​แกล้ว​กล้า​กว่า​พระ​สาวก​ทั้ง​ปวง ก็​ด้วย​อานิสงส์​แห่ง​การ​สร้าง​คัมภีร์​พระ​ธรรม​ไว้​ให้​เป็น​ทาน​ใน​พระ​พุทธ​ศาสนา เพราะ​ฉะนั้น​อุบาสก​อุบาสิกา​อยาก​จะ​ให้​ตน​เป็น​ผู้​มี​ปัญญา จง​สร้าง​หนังสือ​ธรรมะ​แจกจ่าย​เป็น​ทาน​เถิด จะ​เป็น​กุศล​อัน​ประเสริฐ​ทั้ง​ใน​โลก​นี้​และ​โลก​หน้า อนึ่ง​ธรรม­ทาน​ที่​เป็น​โลกิยะ​คือ​แสดง​ธรรม​ชี้​ทาง​มนุษย์​ทาง​สวรรค์​และ​ทาง​พรหม­โลก​เป็น​ที่สุด​ย่อม​มี​ผล​อานิสงส์​น้อย เพราะ​เป็น​ธรรม​นำ​สัตว์​ให้​เวียน​ว่าย​เกิด​แก่​เจ็บ​ตาย​อยู่​ใน​วัฏ​ฏ­สงสาร​ไม่​ให้​สัตว์​ถึง​ซึ่ง​พระ​นิพพาน​ดับ​กอง​ทุกข์​ได้ ส่วน​การ​ให้​ธรรม­ทาน​ที่​เป็น​ทาง​โล­กุต­ต­ระ คือ​แสดง​พระ​ไตรลักษณ์​ญาณ​ปัญญา​พิจารณา​สังขาร​รูปธรรม​นามธรรม​ให้​เห็น​เป็น​อนิจจัง ทุก​ขัง อนัตตา หรือ​แสดง​อริยสัจ​ทั้ง ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ให้​เห็น​แจ้ง​ประจักษ์​ด้วย​ปัญญา​อัน​จะ​นำ​ไป​สู่​ทาง​นิพพาน ธรรม­ทาน​อย่าง​นี้​จะ​มี​อานิสงส์​มาก ส่วน​บุคคล​ผู้​แสดง​ธรรม​ควร​ประกอบ​ด้วย​องค์ ๕ คือ

๑. ควร​แสดง​ธรรม​ไป​โดย​ลำดับ​ไม่​ตัด​ลัด​ให้​ขาด​ความ
๒. อ้าง​เหตุผล​แนะนำ​ให้​ผู้​ฟัง​เข้าใจ
๓. ตั้ง​จิต​เมตตา​ปรารถนา​ให้​เป็น​ประโยชน์​แก่​ผู้​ฟัง
๔. ไม่​แสดง​ธรรม​เพราะ​เห็นแก่​ลาภ
๕. ไม่​แสดง​ธรรม​กระทบ​ตน​และ​ผู้​อื่น หมาย​ถึง​ไม่​ยก​ตน​เสียดสี​ผู้​อื่น

เมื่อ​แสดง​ธรรม​ดังนี้ ย่อม​เป็น​ธรรม­ทาน​อัน​ประเสริฐ​แท้ ช่วย​ให้​ผู้​ฟัง​ธรรม​ได้​รับ​อานิสงส์ ๕ ประการ​คือ

๑. ผู้​ฟัง​ย่อม​ได้​ฟัง​สิ่ง​ที่​ยัง​ไม่​เคย​ฟัง
๒. สิ่ง​ใด​เคย​ฟัง​แล้ว​แต่​ยัง​ไม่​เข้าใจ​ชัด​ย่อม​เข้าใจ​สิ่ง​นั้น​ชัด
๓. บรรเทา​ความ​สงสัย​เสีย​ได้
๔. ทำ​ความเห็น​ให้​ถูกต้อง​ได้
๕. จิต​ของ​ผู้​ฟัง​ย่อม​ผ่องใส

สำหรับ​บุคคล​ผู้​ให้​ทาน​เป็น​นิจ ควร​จะ​รู้จัก​วิธีการ​เจริญ​จา­คา­นุส­สติ​ด้วย จา­คา­นุส­สติ​เป็น​กรรมฐาน​กอง​หนึ่ง แปล​ว่า​การ​ระลึก​ถึง​การ​ให้​ทาน​เป็น​อารมณ์ บุคคล​ที่​จะ​เจริญ​จา­คา­นุส­สติ​ให้​ระลึก​ถึง​การ​ให้​ทาน​ของ​ตน​เอง จะ​เป็น​การ​ให้​ทาน​ใน​วัน​นี้ ใน​วัน​ก่อน ๆ หรือ​การ​ให้​ทาน​ครั้ง​ที่​เรา​ประทับใจ​มาก ๆ ก็​ได้ แล้ว​ท่อง​ใน​ใจ​หรือ​จะ​ออก​เสียง​ก็​ได้​ว่า​ดังนี้ “ใน​เมื่อ​ประชาชน​ทั้ง​หลาย​ถูก​มลทิน​คือ​ความ​ตระหนี่​ครอบงำ​อยู่ แต่​เรา​เป็น​ผู้​ปราศจาก​มลทิน​คือ​ความ​ตระหนี่ เป็น​ผู้​มี​การ​เสียสละ​อย่าง​เด็ดขาด เตรียม​พร้อม​ที่​จะ​ให้​อยู่​เสมอ ยินดี​ใน​การ​บริจาค เป็น​ผู้​ควร​ใน​การ​ขอ เป็น​ผู้​ยินดี​ใน​ทาน​และ​การ​แบ่งปัน​นั้น นับ​ว่า​เป็น​ลาภ​ของ​เรา​หนอ เรา​ได้​ดี​แล้ว​หนอ” การ​เจริญ​จา­คา­นุส­สติ​นี้​มี​ผล​มาก​มี​อานิสงส์​มาก คือ​จะ​ช่วย​เพิ่มพูน​บุญ​กุศล​จาก​การ​ให้​ทาน​ของ​เรา​ให้​เพิ่ม​ทวีคูณ​เป็น​ร้อย​เท่า​พัน​เท่า ช่วย​ให้​จิตใจ​ผู้​บริจาค​ทาน​ผ่องใส น้อม​ไป​ใน​การ​บำเพ็ญ​ทาน​มาก​ยิ่ง​ขึ้น​ไป​อีก ทำให้​เป็น​คน​มี​อัธยาศัย​ไม่​โลภ มี​จิต​เมตตา​อยู่​สม่ำเสมอ​โดย​ปกติ แกล้ว​กล้า​กล้า​หาญ​ใน​ชุมชน มาก​ด้วย​ปีติ​และ​ปราโมช จิต​เป็น​สมาธิ​ง่าย​ฟุ้งซ่าน​ยาก นอกจาก​นั้น​จา­คา­นุส­สติ​จะ​ช่วย​ให้​ผู้​เจริญ​บรรลุ​มรรคผล​นิพพาน​ได้​ง่าย​มาก เป็น​ปัจจัย​แก่​พระ​นิพพาน ตราบ​ที่​ไม่​ถึง​พระ​นิพพาน​ก็​มี​สุคติ​เป็น​ที่​ไป

อนึ่ง​บุคคล​ผู้​ให้​ทาน จง​อย่า​ให้​ทาน​เจือ​ด้วย​ตัณหา​ความ​อยาก​ใน​ภพ คือ​อย่า​ปรารถนา​การ​เกิด​ใน​มนุษย์ สวรรค์ และ​ชั้น​พรหม ควร​จะ​อธิษฐาน​ตัด​ลัด​ออก​จาก​การ​เวียน​ว่าย​ตาย​เกิด​ไป​สู่​พระ​นิพพาน ฉะนั้น​ทุก​ครั้ง​ที่​ทำ​ทาน​ให้​อธิษฐาน​ว่า “ผล​ทาน​อัน​นี้​ที่​ข้าพเจ้า​ได้​น้อม​ถวาย ขอ​ให้​เป็น​ปัจจัย​แก่​มรรคผล​นิพพาน ใน​อนาคตกาล​อัน​ใกล้​นี้​เทอญ” ดัง​แสดง​มา​ด้วย​กถา​ที่​ว่า การ​ให้​ทาน​เป็น​มงคล​อัน​ประเสริฐ ก็​จบ​ลง​เพียง​นี้


ที่มา : หนังสือ พุทธมงคลอานิสงส์ โดย หลวงพ่อ​ชุม​พล พลปญฺโญ


เห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ โปรดแชร์....

บทความที่เกี่ยวข้อง

คาถาเดินทางปลอดภัยทำไมพระไม่หลีกทาง ถวายทางเดินแก่พระสงฆ์ โดยการหลีกทางให้ ได้อานิสงส์ไม่ติดขัด ถวายสมุนไพร ได้อานิสงส์ ส่งให้ผิวพรรณดี มีสุขภาพแข็งแรงถวายสมุนไพร ได้อานิสงส์ ส่งให้ผิวพรรณดี มีหน้าตาอ่อนกว่าวัย ถวายกุญแจ อานิสงส์ไม่แย่ เสริมเพิ่มความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินถวายกุญแจ อานิสงส์ไม่แย่ เสริมเพิ่มความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน ถวายน้ำยาล้างมือ สบู่เหลวล้างมือ อานิสงส์ส่งผลดีในปัจจุบันถวายน้ำยาล้างมือ สบู่เหลวล้างมือ อานิสงส์ส่งผลดีในปัจจุบัน
ธรรมะคุ้มครอง การให้ทานทานอานิสงส์

แนะแนวเรื่อง

Previous post
Next post

สวัสดียามเช้า พระคุ้มครอง

  • คลิป VIDEO
  • คอมพิวเตอร์
  • คาถา
  • ดาวน์โหลด
  • ตำนาน
  • ธรรมะคุ้มครอง
  • นานาสาระ
  • นิทาน
  • นิสัยใจคอ
  • บ้านและสวน
  • ประเพณี
  • พระสายกรรมฐาน
  • พระเครื่อง
  • ภาษาวัด ภาษาไทย
  • ยาสมุนไพรโบราณ
  • วัดธรรมยุตในต่างประเทศ
  • ส่งคำอวยพร
  • สังฆทาน
  • สิ่งนำโชค
  • สุขภาพ
  • อาชีพและครอบครัว
  • เครื่องราง
  • เรียกจิต
  • เรื่องผี
  • แนะนำหนังสือ
  • แบ่งปัน
  • ไม้ประดับ ไม้มงคล

เว็บไซต์แห่งนี้ นำเสนอบทความเกี่ยวกับ วัตถุมงคล พระเครื่อง เครื่องราง มนต์คาถา พิธีกรรมต่าง ๆ
ซึ่งทั้งหมด เป็นที่พึ่งทางจิตใจ เป็นความรู้ เป็นความเชื่อที่สืบทอดต่อกันมา
ทางเราไม่อาจจะพิสูจน์ได้ว่า ความเชื่อเหล่านั้นเป็นจริงหรือไม่
ผู้เขียนบทความ ไม่อาจจะรับรองความเชื่อนั้นว่าจะได้ผลจริง หากท่านนำไปปฏิบัติตาม
หน้านโยบายความเป็นส่วนตัว

บทความต่าง ๆ บนเว็บไซต์นี้ แม้ทางเรานำเสนอโดยการศึกษาจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ จึงมาเขียน ฉะนั้น ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความโดยพยัญชนะ